โลกหลายขั้วที่กำลังปรากฏขึ้น เวลานี้ได้รวมถึงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย ในขณะที่จีนและรัสเซีย 2 ชาติผู้ท้าทายรายสำคัญความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ยกระดับการค้าขายโดยตรงระหว่างสกุลเงินของพวกเขามากยิ่งขึ้น
มูลค่ารายเดือนของการแลกเปลี่ยนกันระหว่างรูเบิลกับหยวน เพิ่มขึ้นถึง 1,067% สู่เกือบๆ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นขึ้น ในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศลดพึ่งพิงดอลลาร์ และเพิ่มการค้าทวิภาคี เพื่อเอาชนะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในปัจจุบันและในอนาคต การแลกเปลี่ยนรูเบิล-หยวนพุ่งสูงขึ้นนี้ ประจวบเหมาะกับความเคลื่อนไหวของรูเบิลที่แข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบกับเงินหยวน
ข้อมูลดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังหันหน้าสู่สินค้าของจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตะวันตกที่หยุดชะงักและแบรนด์ดังข้ามชาติที่หายไปจากชั้นวางสินค้า ในส่วนของจีน มันเป็นตัวเสริมล่าสุดสำหรับบทบาทความเป็นสากลของสกุลเงินหยวน ในการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
"พวกผู้เล่นหลักในตลาดหยวน-รูเบิล คือนิติบุคคลและธนาคารต่างๆ แต่พบเห็นความสนใจเพิ่มมากขึ้นในนักลงทุนรายย่อยเช่นกัน" ยูริ โปปอฟ นักยุทธศาสตร์ด้านเงินตราและอัตราดอกเบี้ยของสเบอร์แบงก์กล่าว "มูลค่าของตลาดซื้อขายทันที (Spot market) ของตลาดหลักทรัพย์มอสโกดีดตัวสูงขึ้น นี่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตร เช่นเดียวกับความตั้งใจของรัสเซียและจีนในการสนับสนุนใช้สกุลเงินของประเทศในการค้าทวิภาคี"
Stephen Chiu นักกลยุทธ์จากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ในฮ่องกง กล่าวว่า “การแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนและรูเบิลจะเพิ่มขึ้นอีกจากการผลักดันหยวนสู่การเป็นสกุลเงินโลก และสงครามก็ช่วยเร่งสิ่งนี้เช่นกัน" พร้อมกล่าวอีกว่า ยังมีแนวโน้มที่รัสเซียจะซื้อขายด้วยสกุลเงินหยวนและถือครองสกุลเงินหยวนเป็นเงินสำรองต่างประเทศมากขึ้นด้วย
"ด้วยที่จีนเตรียมเปิดเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์บางส่วนเพิ่มเติม อุปสงค์อาจเพิ่มขึ้นตามลำดับ และเมื่อนั้นรัสเซียก็สามารถมองหาอุปสงค์จากจีน ชดเชยความเป็นไปได้ที่จะถูกยุโรปแบน และมันอาจผลักดันให้ใช้หยวน-รูเบิลมากขึ้น"
ในขณะเดียวกัน รายงานของบลูมเบิร์กระบุว่ามูลค่าการแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์กับรูเบิลแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ทศวรรษ บนพื้นฐานของค่าเฉลี่ย 20 วัน ทั้งนี้ รูเบิลแข็งค่าถึง 118% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ระหว่างช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางมาตรการควบคุมเงินทุนและบังคับขายดอลลาร์
ความพยายามของรัสเซียและจีนในการหาทางธุรกรรมโดยไม่ใช้ดอลลาร์ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงอย่างกว้างขวาง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในบรรดาตลาดเกิดใหม่
ซาดีอาระเบียมีแผนกำหนดราคาน้ำมันในสัญญาบางส่วนเป็นสกุลเงินหยวน ส่วนอินเดียกำลังสำรวจโครงสร้างการชำระเงินแบบรูปี-รูเบิล ส่วนธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็กำลังกระจายทุนสำรองให้มีความหลากหลาย ฉุดให้สัดส่วนการถือครองดอลลาร์ลดลงเหลือ 59% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี ตามข้อมูลของการทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
มาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกและพันธมิตรกำหนดเล่นงานรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน เน้นย้ำให้จีนเห็นถึงจุดอ่อนของตนเองต่อความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ใดๆ ระหว่างทั้ง 2 ชาติ อาจทำให้เศรษฐกิจจีนถูกโดดเดี่ยวจากระบบการเงินโลกที่ดอลลาร์ครองอิทธิพล ขณะเดียวกัน มันก็อาจผลักประเทศอื่นๆ และนักลงทุนต่างชาติลดทอนการถือครองเงินหยวน
สำหรับรัสเซีย จุดประสงค์คือความอยู่รอด ณ ปัจจุบัน ประเทศแห่งนี้ต้องพึ่งพิงจีนเป็นอย่างมากเพื่อรักษาการไหลเวียนทางการค้า โดย รัสเซียนำเข้าสินค้าจากจีน ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ส่วนสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 11%
"รัสเซียมีอุตสากรรมการผลิตภายในประเทศที่อ่อนแออย่างมาก ดังนั้นจากมาตรการคว่ำบาตร นั่นหมายความว่าพวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพิงจีนมากกว่าเดิม สำหรับเครื่องจักรและสินค้าอุปโภคบริโภค" อัลวิน ตัน หัวหน้านักยุทธศาสตร์สกุลเงินเอเชียของสถาบันอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ต ในสิงคโปร์ กล่าว "ในขณะเดียวกัน พวกผู้ซื้อจีนก็กำลังถูกล่อใจจากการลดราคาของรัสเซีย ในด้านการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์"
แม้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ดอลลาร์ยังคงเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก และเป็นคู่แลกเปลี่ยนหลักสำหรับสกุลเงินส่วนใหญ่ ในนั้นรวมถึงรูเบิล
อย่างไรก็ตาม ในรายงานเสียรภาพทางการเงินรายครึ่งปี ทางธนาคารกลางรัสเซียระบุว่าสัดส่วนของหยวนในตลาดเงินตราของรัสเซีย กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ "แนวโน้มหลักของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของรัสเซียในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นบทบาทที่ลดลงของดอลลาร์สหรัฐและยุโรป ในทุกแง่มุมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสกุลเงินบรรดาประเทศที่เป็นมิตรและรูเบิล"
(ที่มา : บลูมเบิร์ก)