xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติรัสเซียหั่นดอกเบี้ยเหลือ 11% หลังความเสี่ยงเงินเฟ้อลด รูเบิลคลายความร้อนแรงอ่อนค่าลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกุลเงินรูเบิลอ่อนค่าลงราวๆ 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนในวันพฤหัสบดี (26 พ.ค.) หลังจากธนาคารกลาางรัสเซียเคลื่อนไหวปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 11% และบ่งชี้ว่าอาจปรับลดอีก เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อลดน้อยลงแล้ว

ธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 20% ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ รับมือค่าเงิลรูเบิลทรุดตัวจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ ที่กำหนดออกมาตามหลังรัสเซียส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครน

เอลวีรา นาบิลลีนา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย กล่าวระหว่างแถลงข่าวในกรุงมอสโก ว่าธนาคารกลางแห่งนี้สามารถป้องกันเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และจะปรับลดประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อของปี 2022 ลงจากระดับ 18-23% พร้อมส่งสัญญาณซ้ำอีกรอบว่าธนาคารกลางรัสเซียอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ณ ที่ประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20 มิถุนายน

ตอนเวลา 14.20 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 21.20 น.) สกุลเงินรูเบิลอ่อนค่าลง 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อยู่ที่ 65.70 รูเบิลต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม อ่อนตัวลงจากระดับ 55.80 รูเบิลต่อดอลลาร์เมื่อวันพุธ (25 พ.ค.) ที่ถือเป็นการแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2018

รูเบิลอ่อนค่าลง 14% เมื่อเทียบกับยูโร อยู่ที่ 65.90 รูเบิลต่อยูโร ถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์เช่นกัน หลังจากทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปี หนึ่งวันก่อนหน้านี้ที่ระดับ 57.10 รูเบิลต่อยูโร

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รูเบิลได้แรงหนุนจากมาตรการควบคุมเงินทุน แข็งค่าแบบเทียมๆ ก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินที่มีผลงานดีที่สุดของโลกในปีนี้ นอกจากนี้ รูเบิลยังได้ปัจจัยหนุนจากเงื่อนไขการชำระค่าแก๊สที่บังคับเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศเป็นรูเบิล และตัวเลขการนำเข้าที่ลดลง

ขณะเดียวกัน รูเบิลยังได้แรงหนุนจากช่วงเวลาของการเสียภาษีในช่วงสิ้นเดือน ที่พบเห็นบรรดาบริษัทที่มุ่งเน้นการส่งออกแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศเป็นรูเบิล

"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ ประกอบกับคาดหมายว่าจะมีการผ่อนปรนนโยบายอีกรอบในวันที่ 10 มิถุนายน จะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนของรูเบิล" นักวิเคราะห์จากเวเลส แคปิตอล กล่าว

การแข็งค่าของรูเบิล ก่อความกังวลว่ามันจะส่งผลกระทบทางลบแก่รายได้งบประมาณจากการส่งออกของรัสเซีย และในวันจันทร์ (23 พ.ค.) รัสเซียปรับลดสัดส่วนกรณีบังคับให้บริษัทส่งออกทั้งหลายแหล่ต้องเทขายรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แล้วให้ซื้อรูเบิลแทน จากระดับ 80% เหลือ 50%

มักซิม เรียชเชสนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทาสส์ นิวส์ ว่า รัสเซียกำลังยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการแข็งค่าของรูเบิลไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการแข่งขันในต่างแดนของรัสเซีย

เขาคาดหมายว่าจะพบเห็นการปรับลดสัดส่วนเพิ่มเติม กรณีบังคับให้บริษัทส่งออกทั้งหลายต้องเทขายรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ของรัสเซียอาจเผชิญกับแรงกดดันทางลบเช่นกัน ในขณะที่ความเป็นไปได้ของการผิดนัดชำระหนี้ใกล้เข้ามาแล้ว แม้เจ้าหน้าที่รัสเซียเน้นย้ำว่าประเทศของพวกเขามีเงินมากพอที่จะใช้หนี้ตามสัญญา

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันพุธ (25 พ.ค.) สั่งเพิ่มเบี้ยบำนาญและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10% เพื่อช่วยประชาชนชาวรัสเซียรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ แต่ยืนกรานว่าปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดนั้นไม่เกี่ยวข้องกับวิกฤตในยูเครน

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น