เงินรูเบิลของรัสเซียในวันอังคาร (24 พ.ค.) แข็งค่าสู่ระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ได้แรงหนุนจากการที่บรรดาบริษัทมุ่งเน้นการส่งออกเทขายสกุลเงินต่างประเทศเพื่อจ่ายภาษี ขณะที่ความเคลื่อนไหวผ่อนปรนมาตรการควบคุมเงินทุนไม่ส่งผลกระทบใดๆ
รูเบิลแข็งค่าขึ้นมาแล้วราวๆ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ แม้รัสเซียต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้รูเบิลกลายเป็นสกุลเงินที่มีผลงานดีที่สุดในโลก
ทั้งนี้ รูเบิลได้แรงหนุนจากมาตรการควบคุมเงินทุนที่กำหนดบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อปกป้องภาคการเงินของรัสเซีย หลังจากการตัดสินใจส่งทหารหลายหมื่นนายบุกโจมตียูเครนของมอสโก กระตุ้นให้ตะวันตกตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ณ เวลา 11.10 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 18.10 น.) รูเบิลแข็งค่าขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อยู่ที่ 56.3 รูเบิลต่อดอลลาร์ แกว่งตัวอยู่ในระดับนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และหากเทียบกับยูโร รูเบิลแข็งค่าขึ้น 3% อยู่ที่ 58.24 รูเบิลต่อยูโร แข็งค่าสุดในรอบ 7 ปี
สเบอร์แบงก์ ซีไอบี ระบุว่า "รูเบิลแข็งค่าขึ้นอย่างแรงอีกครั้ง เนื่องจากเค้ารางเส้นตายในวันพรุ่งนี้สำหรับการชำระภาษีสกัดแร่และการเปลี่ยนเงินชำระค่าแก๊สส่งออกเป็นสกุลเงินรูเบิล 600,000 ล้านรูเบิล" สถาบันการเงินแห่งนี้กล่าว "เราคิดว่าสกุลเงินท้องถิ่นอาจมีปัญหาจากการแข็งค่าขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่ความเคลื่อนไหวเทขายในบรรดาผู้ส่งออกอาจทำให้มันเริ่มอ่อนค่าลง"
การแข็งค่าของรูเบิล ก่อความกังวลว่ามันอาจส่งกระทบในทางลบกับงบประมาณรายได้จากการส่งออกของรัสเซีย และในวันจันทร์ (23 พ.ค.) รัสเซียปรับลดสัดส่วนกรณีบังคับให้บริษัทส่งออกทั้งหลายแหล่ต้องเทขายรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แล้วให้ซื้อรูเบิลแทน จากระดับ 80% เหลือ 50%
ดมิทรี โปลีวอย หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของล็อคโคอินเวสต์ ให้ความเห็นว่า แม้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมเงินทุนเล็กน้อย อาจทำให้รูเบิลแข็งค่าขึ้นอีกแตะระดับ 55 รูเบิลต่อดอลลาร์ในระยะสั้น ขณะที่สถาบันการเงิน ซินารา อินเวสต์เมนท์ แบงก์ คาดการณ์ว่ารูเบิลอาจอ่อนค่ากลับสู่ระดับ 60-65 ต่อดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน
(ที่มา : รอยเตอร์)