รอยเตอร์ - ฟินแลนด์และสวีเดนสมัครเข้านาโตอย่างเป็นทางการแล้วในวันพุธ (18 พ.ค.) ซึ่งได้แรงกระตุ้นจากการที่รัสเซียบุกยูเครน เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อโครงสร้างความมั่นคงของยุโรปในรอบทศวรรษ
ที่ผ่านมา ฟินแลนด์และสวีเดนคือประเทศเป็นกลางมาตลอดช่วงสงครามเย็น การตัดสินใจเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) สะท้อนว่า ความคิดเห็นของประชาชนในประเทศแถบนอร์ดิกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นับจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์
นอกจากนั้น ยังเป็นการขยายขอบข่ายของพันธมิตรตะวันตกที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียอ้างว่า เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญในการเริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน
เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ กล่าวระหว่างพิธียื่นเอกสารสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดนว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่นาโต้ต้องรีบคว้าไว้ ด้านเหล่านักการทูตเผยว่า รัฐสภาของ 30 ประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันรับรองเพื่อรับสองประเทศนี้เข้าร่วม ซึ่งอาจใช้เวลา 1 ปี
ก่อนหน้านี้ ตุรกีทำให้พันธมิตรประหลาดใจด้วยการประกาศสงวนท่าทีเกี่ยวกับว่าที่สมาชิกใหม่ อย่างไรก็ตาม สโตลเทนเบิร์กเชื่อว่า ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข โดยทางอังการานั้นระบุว่า ต้องการให้ประเทศในแถบนอร์ดิกระงับการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในดินแดนของประเทศเหล่านั้น รวมทั้งยกเลิกการแบนการขายอาวุธบางอย่างให้ตุรกี
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา จะเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำสวีเดนและฟินแลนด์ในวันพฤหัสบดี (19 พ.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกนาโต้
ทางด้านปูตินที่ขู่ตอบโต้แผนการนี้ของนาโต้เมื่อหลายสัปดาห์ที่แล้ว กลับเปลี่ยนท่าทีกะทันหัน โดยแถลงเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) ว่า รัสเซีย “ไม่มีปัญหา” กับฟินแลนด์หรือสวีเดน รวมทั้งการเข้าร่วมนาโต้จะไม่เป็นปัญหาตราบที่พันธมิตรตะวันตกไม่ส่งอาวุธหรือทหารไปเพิ่มใน 2 ประเทศนี้
การสมัครเข้านาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดนเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) นักรบยูเครนกว่า 250 นาย ในโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลในเมืองมาริอูโปลยอมจำนน หลังจากปักหลักต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียมานานหลายสัปดาห์ ซึ่งเป็นการยุติการสู้รบที่นองเลือดที่สุดในสงครามยูเครน อีกทั้งยังทำให้ปูตินสามารถอวดอ้างชัยชนะที่เกิดขึ้นน้อยมากในปฏิบัติการนี้ที่นักวิเคราะห์ทางการทหารหลายคนระบุว่า ไม่มีความคืบหน้า
แม้ทั้งสองฝ่ายพูดถึงข้อตกลงที่ทหารยูเครนทั้งหมดจะยอมถอนออกจากอาซอฟสตัล แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ที่รวมถึงจำนวนนักรบที่ยังอยู่ในโรงงานดังกล่าว และมีการตกลงเรื่องแลกเปลี่ยนนักโทษกันแล้วหรือไม่
เครมลินเผยว่า ปูตินรับประกันว่า นักโทษยูเครนจะได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีไอรีนา เวเรชชุกของยูเครนระบุว่า เคียฟต้องการจัดการแลกเปลี่ยนนักโทษกับรัสเซียหลังจากนักรบของตนที่ได้รับบาดเจ็บมีอาการทรงตัวแล้ว
ดมิทรี โปลยันสกี รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยว่า ยังไม่มีการตกลงใดๆ และย้ำว่า นักรบในอาซอฟสตัลยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข
สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า คณะกรรมาธิการของรัสเซียมีแผนสอบปากคำทหารยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกองพันอาซอฟ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนกรณี “อาชญากรรมสงครามของยูเครน”
แม้นักรบในอาซอฟสตัลได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษในยูเครน แต่เครมลินกลับมองว่า คนกลุ่มนี้เป็นนีโอนาซีที่จงเกลียดจงชังรัสเซีย สมาชิกรัฐสภารัสเซียบางคนถึงขั้นเรียกร้องให้ประหารนักรบเหล่านี้
ทั้งนี้ กองทหารอาซอฟที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ในรูปกลุ่มอาสาสมัครขวาจัดติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ปฏิเสธว่า ไม่ได้ฝักใฝ่ฟาสซิสต์หรือนีโอนาซี ขณะที่ยูเครนระบุว่า ได้ปฏิรูปกองทหารนี้และรวมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังพิทักษ์ชาติ
การสู้รบในมาริอูโปลถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของรัสเซียนับจากเปิดฉากบุกยูเครน อย่างไรก็ตาม การบุกในฝั่งตะวันออกมีความคืบหน้าน้อยมาก แม้มีรายงานว่า รัสเซียยังคงยิงถล่มที่มั่นของยูเครนตลอดแนวรบในวันพุธก็ตาม
ก่อนบุกยูเครน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียครองพื้นที่ 1 ใน 3 ในเขตดอนบาสในภาคตะวันออกของยูเครน และตอนนี้รัสเซียควบคุมพื้นที่ราว 90% ของลูฮันสก์ที่ตั้งอยู่ในเขตนี้ แต่ยังไม่สามารถรุกเข้าเมืองสำคัญอย่างสโลเวียนสก์และครามาทอร์สก์ในโดเนสก์ที่ตั้งอยู่ในดอนบาสเช่นเดียวกัน
ในทางกลับกัน กองทัพยูเครนรุกคืบรวดเร็วที่สุดในรอบกว่าเดือน สามารถขับไล่กองกำลังรัสเซียออกจากพื้นที่รอบคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ และยกพลเข้าใกล้ชายแดนรัสเซียในระยะเพียง 40 กิโลเมตรทางเหนือของคาร์คีฟ อีกทั้งผลักดันรัสเซียล่าถอยจนถึงแม่น้ำไซเวอร์สกีโดเนตส์ 40 กิโลเมตรทางตะวันออก ทำให้สามารถคุกคามเส้นทางเสบียงของรัสเซีย