xs
xsm
sm
md
lg

เรือรบรัสเซีย 2 ลำ ‘มอสควา’ และ ‘มาคารอฟ’ ถูกยิงจมอย่างเป็นปริศนา เครื่องบินนาวีสหรัฐฯ มีเอี่ยว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน และ โชชานา ไบรเอน ***


เรือลาดตระเวน “มอสควา” ของรัสเซีย ในภาพซึ่งเผยแพร่กันทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่าถ่ายเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2022 ภายหลังจากเรือถูกยิงด้วยขีปนาวุธของฝ่ายยูเครน และก่อนที่มันจะจมลงในทะเลดำ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The mystery of the Moskva and Makarov
By STEPHEN BRYEN AND SHOSHANA BRYEN
07/05/2022

ทั้งเรือลาดตระเวน “มอสควา” และเรือฟริเกต “มาคารอฟ” ของกองเรือภาคทะเลดำแห่งกองทัพเรือรัสเซีย ต่างประกอบติดตั้งระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยและควรที่จะไว้วางใจได้ นอกจากนั้น ยังมีระบบป้องกันตัวอย่างอื่นๆ อีกหลายชั้น การที่เรือรบทั้งสองถูกฝ่ายยูเครนยิงจมด้วยอาวุธซึ่งดูไม่ใช่มีเทคโนโลยีเหนือล้ำอะไร และในลักษณะที่เหมือนกับว่าต่างอยู่ในอาการไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่ทั้งคู่ถูกเล่นงานสำเร็จก็เพราะระบบเรดาร์ของพวกมันถูกรบกวนหรือกระทั่งถูกลวง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราคงจะไม่มีทางพิสูจน์ให้รู้กันอย่างแน่ชัด

เรือรบ “มอสควา” (Moskva) ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวน (cruiser) ของรัสเซีย ถูกโจมตีในทะเลดำ เมื่อวันที่ 13 เมษายน นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันระบุว่า เรือรบ “แอดมิรัล มาคารอฟ” (Admiral Makarov) เรือฟริเกต (frigate) ของรัสเซีย ก็ถูกโจมตีในวันที่ 6 พฤษภาคม ขณะที่รายละเอียดต่างๆ กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ มีคำถามอยู่ 4 ประการที่พึงได้รับความสนใจ

ประการแรก เรือรบเหล่านี้ซึ่งประกอบติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สันนิษฐานกันว่าเป็นระบบที่ยอดเยี่ยมนั้น กลับมาถูกโจมตีแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวใช่หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ทั้งนี้ไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจากแหล่งใดๆ ก็ตามที ว่าทางกำลังพลของรัสเซียได้พยายามที่จะยิงสกัดทำลายขีปนาวุธยูเครนซึ่งยิงเข้ามา หรือกระทั่งว่าพวกเขาทราบแล้วว่ามีขีปนาวุธยิงเข้ามาก่อนที่อาวุธสังหารเหล่านี้จะพุ่งถูกเป้าหมาย

ประการที่สอง มีอะไรพิเศษเฉพาะหรือไม่เกี่ยวกับขีปนาวุธของยูเครนเหล่านี้ ที่ทำให้มันไม่ถูกตรวจจับค้นพบ?

ประการที่สาม ทำไมเรือรบเหล่านี้ลำใดลำหนึ่งหรือกระทั่งทั้งสองลำ จึงไม่ได้มีการตอบโต้รับมือกับการถูกโจมตี?

ประการที่สี่ สหรัฐฯ มีบทบาทอยู่ด้วยหรือไม่ และถ้ามี สหรัฐฯ แสดงบทบาทอะไรในการโจมตีเรือรบทั้ง 2 ลำนี้?

พวกเรือรบรัสเซียนั้นประกอบติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัย โดยผสมผสานเรดาร์ชั้นยอดเยี่ยม กับขีปนาวุธตัวสกัดกั้น (interceptor missiles) ประเภทต่างๆ ที่ทรงประสิทธิภาพ เรือมอสควา มีด้วยกัน 2 ระบบ โดยระบบหนึ่งซึ่งเป็นระบบที่เก่ากว่า รู้จักกันในชื่อว่า Osa-MA (SS-N-4) เป็นระบบพิสัยทำการระยะสั้นที่อนุมานกันว่าจะตอบโต้สกัดกั้นพวกขีปนาวุธต่อสู้เรือที่ยิงเข้ามา ส่วนอีกระบบหนึ่งซึ่งใหม่กว่า คือ S-300F เป็นระบบป้องกันขีปนาวุธและป้องกันภัยทางอากาศที่มีพิสัยทำการไกลกว่าและมีศักยภาพสูงกว่า

ส่วนเรือมาคารอฟ ติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ 3S90M BUK ที่มีขีปนาวุธตัวสกัดกั้นแบบ 9m317m อาวุธเหล่านี้มีพิสัยทำการที่ค่อนข้างไกลทีเดียว นั่นคืออาจยิงออกไปได้ไกล 130 กิโลเมตร ระบบ BUK ได้รับการยอมรับว่าเป็นคลัสเตอร์เพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ทั้งเรดาร์ ยานบรรทุกหรือท่อยิง ขีปนาวุธตัวสกัดกั้น) ที่มีพิษสงร้ายแรง มันใช้เวลาในการตอบโต้นับตั้งแต่ตรวจจับเป้าหมายได้ระหว่าง 10 ถึง 15 วินาที

สำหรับขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ “เนปจูน” (Neptune) ของฝ่ายยูเครน ที่ใช้ยิงใส่เรือมอสควานั้น เป็นขีปนาวุธร่อน (cruise missile) แบบบินในระยะต่ำเลียบทะเล (sea-skimming) ที่มีอัตราความเร็วต่ำกว่าความเร็วเสียง (subsonic) โดยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อยิงออกจากชายฝั่งในระยะห่างจากทะเลราว 60 ไมล์ (96.6 กิโลเมตร) ขีปนาวุธเนปจูนต้องการเวลามากกว่า 6 นาทีนิดหน่อยในการเข้าโจมตีเป้าหมาย ถ้าอยู่ในระยะห่างจากทะเล 20 ไมล์ (32.2 กิโลเมตร) ก็ต้องการเวลามากกว่า 2 นาทีเล็กน้อย ขณะที่การบินเลียบทะเลในระยะต่ำเป็นเทคนิคที่อาจทำให้ติดตามตรวจจับได้ลำบากก็จริง แต่จริงๆ แล้ว เนปจูน ไม่ได้มีอะไรที่ถือเป็นเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์เลย ขีปนาวุธแบบนี้สร้างขึ้นโดยอิงอยู่กับขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ KH-35 ของรัสเซียนั่นเอง

สำหรับเรือมาคารอฟ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่อยู่ และความอ่อนเปราะต่อการถูกโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นมาของมันแล้ว มันสมเหตุสมผลทีเดียวที่จะสันนิษฐานว่า ถ้าหากมันถูกโจมตีจริง ก็มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่มันจะถูกเล่นงานด้วยขีปนาวุธเนปจูน หรือไม่ก็โดรนประเภทบินช้า อย่างเช่น บายรัคตาร์ (Bayraktar) ที่ผลิตโดยตุรกี

ทั้งเรือมาคารอฟ และเรือมอสควา ต่างมีระบบป้องกันหลายๆ ชั้นซ้อนกันอยู่ โดยประกอบด้วยระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ พวกปืนที่สามารถระดมปล่อยกระสุนได้อย่างรวดเร็วมาก และขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นสู่อากาศแบบประทับบ่ายิง (MANPAD) ซึ่งก็รวมทั้งขีปนาวุธ MANPAD แบบล่าสุดของรัสเซียที่เรียกชื่อกันว่า เวอร์บา (Verba หรือ 9K333)

มันออกจะเป็นการทึกทักมากไปสักหน่อยที่จะคิดว่าชั้นป้องกันต่างๆ เหล่านี้มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน (ของฝ่ายสหรัฐฯ นั้น จวบจนกระทั่งถึงเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังคงไม่มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน ถึงแม้สมควรที่จะกระทำก็ตามที) แต่กระนั้น ถ้าหากมีการตรวจจับค้นพบภัยคุกคามแล้ว เราย่อมสมควรคาดหมายได้ว่าทุกๆ หน่วย ทุกๆ ส่วนในเรือรบจะต้องอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมสูงสุดอยู่แล้ว

แต่จากข้อมูลข่าวสารปัจจุบันเท่าที่อาจค้นหากันได้ ในทั้งสองกรณีนี้ ไม่มีเรือรัสเซียลำไหนเลยแสดงอาการว่าได้ดำเนินการต่อสู้ตอบโต้ ถ้าหากว่าได้รับการติดตั้งด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศชั้นดี (เรือมาคารอฟถือเป็นเรือใหม่ ถูกปล่อยลงน้ำเมื่อปี 2015 นี้เอง) ซึ่งครอบคลุมทั้งเรดาร์ชั้นดี และอาวุธตอบโต้ทางอิเล็กทรอนิกส์อันทันสมัยด้วย ทำไมเรือทั้งสองไม่ได้ต่อสู้ตอบโต้เลย?

มีความเป็นไปได้อยู่หรอกที่ว่าพวกเรดาร์รัสเซียและตัวเซ็นเซอร์อื่นๆ ของรัสเซีย ใช้งานไม่ได้ดีในการตรวจจับขีปนาวุธประเภทบินเลียบทะเลในระยะต่ำ อย่างที่มอสโกต้องการให้ฝ่ายตะวันตกเชื่อว่าทำได้ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมีอไรบางอย่างเกิดขึ้นมา

เครื่องบิน P-8A โพไซดอน (P-8A Poseidon) เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลและทำสงครามเรือดำน้ำ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2019 ขณะบินช่วงสุดท้ายเพื่อไปยังฐานทัพอากาศคาเดนา บนเกาะโอกินาวา ของญี่ปุ่น (ภาพจากวิกิพีเดีย)
บทบาทของเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-8A ของสหรัฐฯ

พวกเจ้าหน้าที่ยูเครนบอกว่า เรือมอสควาตกเป็นเป้าหมายถูกพวกตนโจมตีสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ขณะที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ – เช่นเดียวกับที่ปฏิเสธรายงานข่าวซึ่งระบุว่า ระบบเฝ้าติดตามโดยองค์รวมของสหรัฐฯ มีการเล็งเป้ามุ่งตรวจจับความเคลื่อนไหวของพวกนายพลชาวรัสเซียในสงครามยูเครน

สิ่งที่เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจในกรณีของเรือมอสควาก็คือว่า มีเครื่องบินแบบ P-8A ลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลและใช้ในทำสงครามต่อสู้เรือดำน้ำ ปรากฏตัวอยู่ในทะเลดำบริเวณใกล้ๆ เรือลาดตระเวนของรัสเซียลำนี้ในตอนนั้น คำถามจึงมีอยู่ว่า การเล็งเป้าหมายสำหรับเข้าโจมตีเรือมอสควา คือสิ่งที่ P-8A ลำดังกล่าวกำลังทำอยู่ในตอนนั้นใช่หรือไม่?

P-8A เป็นเครื่องบินทหารที่ดัดแปลงจาก โบอิ้ง 737 เพื่อใช้แทนที่เครื่องบินตรวจการณ์และต่อต้านเรือดำน้ำรุ่น P-3 ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือมายาวนาน ทั้งนี้ P-8A ซึ่งถูกนำเข้าประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2013 สามารถที่จะลากอุปกรณ์โซนาร์เพื่อกวาดหาตรวจจับเรือดำน้ำ รวมทั้งยังสามารถยิงตอร์ปิโดและขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ “ฮาร์พูน” (Harpoon)

ในกรณีของเรือมอสควา ไม่มีหลักฐานว่า P-8A ลำดังกล่าวมีการยิงอาวุธใดๆ ทั้งนี้ หากมันเกิดกระทำเช่นนั้นขึ้นมา ก็จะเป็นการล่วงล้ำก้าวข้ามเส้นที่อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง และนำพาสหรัฐฯ ให้เข้าสู่สงครามยูเครนโดยตรงโดยที่ไม่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาหรือจากประธานาธิบดีอย่างเปิดเผย แน่ล่ะ อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น และแน่นอนทีเดียวว่า ถ้าหาก P-8A ออกไปอยู่ตรงนั้น พร้อมกับเฝ้าติดตามพวกเรือรบและเรือดำน้ำของรัสเซีย มันก็อาจจะกำลังทดสอบระบบต่างๆ อันหลายหลากที่ติดตั้งอยู่บนเครื่อง ในลักษณะมุ่งต่อสู้กับพวกนักรบนาวีรัสเซียรุ่นใหญ่

P-8A ยังมีชุดอุปกรณ์ต่อสู้ตอบโต้ทางอิเล็กทรอนิกส์ AN/ALR-55 ซึ่งสร้างโดยบริษัทบีเออีซิสเตมส์ (BAE systems) ระบบเหล่านี้เป็นระบบใหม่สดเอามากๆ และถ้าหากมันปรากฏอยู่ในเครื่องบินรุ่น P-8 ทั้งหลายซึ่งกำลังปฏิบัติการในเวทีทะเลดำแล้ว ก็น่าจะมีการประกอบติดตั้งกันในช่วงปีที่ผ่านมานี้เอง หรือกระทั่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

ระบบ ALR-55 ทำอะไรได้บ้างนั้น คุณสมบัติจำนวนมากทีเดียวของมันยังถูกถือว่าเป็นความลับ แต่มันมีศักยภาพในการรบกวนเรดาร์ข้าศึก หรือกระทั่งเป็นไปได้ว่า มันสามารถปลอมแปลงเพื่อหลอกลวงเรดาร์ได้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีว่า ถ้า P-8A ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำดังกล่าวมีการต่อเชื่อมแบบเรียลไทม์หรือใกล้ๆ เรียลไทม์กับพวกมือปฏิบัติการยิงขีปนาวุธเนปจูนของยูเครนแล้ว มันก็อาจจะสามารถทำให้พวกเรดาร์บนเรือรบรัสเซียจับสัญญาณอะไรไม่ได้ หรือถูกหลอกลวงให้ทำงานผิดพลาด

แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่า P-8A ลำดังกล่าวกำลังร่วมมือประสานงานกับฝ่ายยูเครน บางทีอาจจะมีการติดต่อกันโดยตรงหรือว่ามีการเชื่อมโยงผ่านดาวเทียม หรือเป็นไปได้ว่ามีการส่งข้อมูลข่าวสารไปให้แก่กองกำลังของสหรัฐฯ และนาโต้ก่อน แล้วจากนั้นจึงถูกส่งต่อไปถึงฝ่ายยูเครนอีกทอดหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่มันกำลังทำอยู่เพื่ออำพรางให้เรือรบรัสเซียซึ่งอยู่ในน่านน้ำระหว่างประเทศ มองอะไรได้ไม่ชัดเจนนั้น ใช่หรือไม่ว่ากำลังเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียขึ้นมา?

ความเป็นไปได้ที่กองทัพเรือสหรัฐฯ อาจจะมีการก่อกวนสัญญาเรดาร์เพื่อเล่นงานเป้าหมายฝ่ายรัสเซีย เมื่อมาถึงเวลานี้ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้เสียแล้ว ทั้งนี้ต้องยอมรับด้วยว่ายังมีความเป็นไปได้อย่างอื่นๆ อีกหลายประการที่อาจทำให้เรือรบรัสเซียถูกเล่นงาน เป็นต้นว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขาเองบกพร่องย่ำแย่ ผู้ปฏิบัติการเรื่องเรดาร์ของพวกเขาทำงานได้อย่างย่ำแย่ หรือมีการก่อกวนสัญญาณและการลวงสัญญาณเรดาร์ของเรือรัสเซียจริงๆ ทว่าเป็นฝีมือของฝ่ายอื่นๆ

จากการที่เวลานี้มีเรือ 2 ลำแล้วที่ถูกเล่นงาน การถูกรบกวนสัญญาณและการถูกลวงสัญญาณเรดาร์ ต้องถือว่ามีความเป็นไปได้จริงๆ ทว่าเรานั้นไม่น่าที่จะสามารถพิสูจน์ทราบได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นยังไงกันแน่

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988), ในรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีนานาชาติขนาดใหญ่ ปัจจุบันเขาเขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์, American Thinker, Jewish Policy Center, ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่นๆ จำนวนมาก เขาเขียนหนังสือในหัวข้อความมั่นคงที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วรวม 4 เล่ม

โชชานา ไบรเอน เป็นผู้ชำนาญการพิเศษระดับแนวหน้าในเรื่องนโยบายกลาโหมของสหรัฐฯ และกิจการตะวันออกกลาง เธอเคยเป็นผู้อำนวยการบริหารและผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบายความมั่นคงอยู่ที่ สถาบันชาวยิวเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา (Jewish Institute for National Security of America หรือ JINSA) เธอเป็นผู้เขียน JINSA Reports ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง เธอยังทำงานกับสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษา (Strategic Studies Institute) ของวิทยาลัยการสงครามกองทัพบกสหรัฐฯ (U.S.Army War College) และสถาบันเพื่อความมั่นคงแห่งชาติศึกษา (Institute for National Security Studies) ในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล รวมทั้งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ (National Defense University) ในกรุงวอชิงตัน

กำลังโหลดความคิดเห็น