อดัม คินซินเกอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (1 พ.ค.) ว่า จะหาทางยื่นญัตติเรื่องการให้อำนาจการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวแก่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการอนุมัติใช้กำลังทหารหากรัสเซียใช้อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการสืบสวนใดๆ จากนานาชาติ
คินซินเกอร์ พยายามมาตลอดสำหรับผลักดันให้สหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น และก่อนหน้านี้เขาสนับสนุนมาตรการต่างๆ ที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่ามันอาจนำมาซึ่ง "สงครามโลกครั้งที่ 3"
ข้อเสนอของ คินซินเกอร์ จะให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สำหรับใช้กองทัพอเมริกาเข้าช่วยเหลือปกป้องและกอบกู้บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ตอบโต้กรณีที่รัสเซียใช้อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์บนแผ่นดินของยูเครน
ญัตตินี้จะให้อำนาจเด็ดขาดกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการลงความเห็นว่าการรุกรานลักษณะดังกล่าวของรัสเซียเกิดขึ้นจริงแล้วหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสืบสวนใดๆ จากนานาชาติ แต่สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ของรัสเซีย ระบุว่า มันอาจก่อแรงจูงใจให้กองกำลังยูเครนจัดฉากการโจมตีด้วยอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพ ในความหวังว่าจะลากสหรัฐฯ เข้าสู่ความขัดแย้ง
รายงานข่าวระบุว่า ญัตตินี้จะทำงานเหมือนกับกฎหมาย "การอนุญาตให้ใช้กำลังทหาร หรือ AUMF" ยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ต่ออายุการใช้ทุกปีมาตั้งแต่ปี 2001 โดยการอนุญาตนี้เคยมอบไฟเขียวทางกฎหมายให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อนุมัติโจมตีมาแล้วหลายสิบประเทศ โดยไม่ต้องประกาศสงครามอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ในนั้นรวมถึงอัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย โซมาเลีย และเยเมน
"อย่างที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ เคยพูดว่า ปูตินต้องหยุด" ถ้อยแถลงจากสำนักงานของคินซินเกอร์ระบุ "ดังนั้น ผู้บัญชาการโดยตำแหน่งของกองทัพที่ยิ่งใหญ่ของโลกควรมีอำนาจและหนทางที่จะดำเนินการต่างๆ ที่จำเป็นตามนั้น"
คินซินเกอร์ สมาชิกรีพับลิกันที่มีความเห็นสอดคล้องกับเดโมแครตในประเด็นต่างๆ เกือบทั้งหมด เคยเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้สหรัฐฯ เข้าร่วมกับความขัดแย้งนี้ โดยไม่กี่วันหลังจากกองกำลังรัสเซียบุกเข้าไปในยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เขาเรียกร้องให้นาโต้บังคับใช้เขตห้ามบินเหนือประเทศแห่งนี้ ความเคลื่อนไหวที่จะเห็นพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ทำหน้าที่สอยเครื่องบินรบรัสเซียและโจมตีระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย
แม้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องบังคับใช้เขตห้ามบินเช่นกัน แต่ทาง ไบเดน ปฏิเสธ โดยบอกว่ามันจะจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 กับรัสเซีย นอกจากนี้ คินซินเกอร์ ยังกดดันรัฐบาลไบเดน ให้เป็นผู้ส่งมอบเครื่องบินรบที่บริจาคโดยโปแลนด์แก่ยูเครน ซึ่งทางรัฐบาลก็ปฏิเสธเช่นกัน โดยอ้างถึงความเสี่ยงเผชิญหน้ากับรัสเซีย
ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าญัตติของ คินซินเกอร์ จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาอภิปรายหรือไม่และเมื่อไหร่ ในขณะที่ตัวของไบเดนเองเคยบอกว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้หากว่ากองกำลังรัสเซียใช้อาวุธทำลายล้างในยูเครน แต่เขาพยายามหลีกเลี่ยงไม่ขีดเส้นตายใดๆ และหันมาเดินหน้าส่งมอบอาวุธแก่ยูเครนแทน และเวลานี้กำลังช่วยฝึกฝนทหารของยูเครนใช้ระบบอาวุธเหล่านั้นบางส่วนในเยอรมนี
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)