ระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นตะวันตกจึงต้องการ "นาโต้โลก" เพื่อเสาะหาภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ จากคำแถลงด้านนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญของ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรเมื่อวันพุธ (27 เม.ย.) พร้อมเร่งเร้าพันธมิตรกลุ่มนี้ที่นำโดยสหรัฐฯ ส่งมอบอาวุธหนัก รถถัง และเครื่องบินรบให้ยูเครนเพิ่มเติม และเตือนว่าอาจต้องปฏิบัติกับจีนแบบเดียวกับรัสเซีย หากว่าปักกิ่งไม่ยอมเล่นตามกฎ
"วิสัยทัศน์ของฉันคือโลกใบหนึ่งๆ ที่ประเทศเสรีทั้งหลายมีความแน่วแน่และมีอำนาจ โลกที่เสรีภาพและประชาธิปไตยถูกเสริมความเข้มแข็งผ่านเครือข่ายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความมั่นคง" ทรัสส์กล่าวในลอนดอน
ทรัสส์ ให้คำจำกัดความความตกลงนี้ว่า "เครือข่ายแห่งเสรีภาพ" พร้อมอ้างว่ามันมีความจำเป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งหลายที่จัดตั้งขึ้นหลังปี 1945 เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ "จนถึงตอนนี้คดงอบิดเบี้ยวไปแล้ว พวกเขาสามารถทำอะไรได้มากกว่าควบคุมความก้าวร้าว ภูมิรัฐศาสตร์กลับมาแล้ว" เธอกล่าว
เธอกล่าวต่อว่า ตะวันตกและพันธมิตรจำเป็นต้องร่วมกัน "จัดหาอาวุธหนัก รถถังและเครื่องบิน มอบแก่ยูเครน ขุดคุ้ยคลังสำรองของเรา ยกระดับกำลังผลิต" ทรัสส์ระบุ "เพราะว่าเป้าหมายคือผลักดันรัสเซียออกจากทุกตารางนิ้วของยูเครน และสร้างประเทศแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ตามกรอบของแผนมาร์แชล (แผนงานฟื้นฟูยุโรป) ใหม่หนึ่งๆ"
นอกเหนือจากนั้น ทรัสส์กล่าวต่อว่า นาโต้ ต้องหาทางรับประกันว่าบรรดาชาติบอลข่านและประเทศต่างๆ อย่างมอลโดวา และจอร์เจีย จะมีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพธำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพ และยึดมั่นนโบายเปิดกว้าง
ขณะเดียวกัน ทรัสส์ ยังแสดงออกถึงความทะเยอทะยานไกลออกนอกยุโรป โดยเธอระบุว่ามันเป็นความผิดพลาด หากเลือกระหว่างความมั่นคงยูโร-แอตเลติกกับอินโด-แปซิฟิก "ในโลกสมัยใหม่ เราต้องการทั้ง 2 เราต้องการนาโต้โลก" เธอกล่าว "และเราจำเป็นต้องรับประกันว่าบรรดาประชาธิปไตยทั้งหลาย อย่างเช่นไต้หวัน จะสามารถป้องกันตนเองได้"
รัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้ยังได้ระบุถึงความพยายามคว่ำบาตรรัสเซียหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของสหราชอาณาจักร โดยบอกว่า "มันคือการตัดขาดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงทางเศรษฐกิจอีกต่อไป มันจำเป็นต้องมีสิ่งตอบแทน และประเทศต่างๆ ที่ปรารถนาได้รับสิ่งตอบแทน พวกเขาจำเป็นต้องเล่นตามกฎ และในนั้นรวมถึงจีน"
สหราชอาณาจักรจัดส่งระบบอาวุธต่างๆ จำนวนมหาศาลมอบแก่ยูเครนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงจรวดต้านรถถัง NLAW และยานหุ้มเกราะ Stormer ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันพุธ (27 เม.ย.) ระบุว่ามันชอบธรรมอย่างที่สุด หากยูเครนใช้อาวุธที่ทางสหราชอาณาจักรจัดหาให้โจมตีเข้าใส่ดินแดนของรัสเซีย คำพูดที่ทางกองทัพรัสเซียเตือนว่าการโจมตีใดๆ จะเจอการตอบโต้อย่างสาสม
ปักกิ่งในวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) ประณามถ้อยแถลงจากทั้งลอนดอนและวอชิงตัน เกี่ยวกับการส่งมอบอาวุธแก่ไต้หวัน โดยชี้ว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการกระตุ้นพวกแบ่งแยกดินแดนบนเกาะพิพาทแห่งนี้ และสวนทางกับจุดยืนของพวกเขาเองที่ให้การรับรองจีน หลังจาก ทรัสส์ และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ต่างออกมาสนับสนุนให้ส่งมอบอาวุธแก่ไต้หวัน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า "เราเสียใจและปฏิเสธถ้อยแถลงของ บลิงเคน ที่ให้ปากคำต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 26 เมษายน ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีความตั้งใจสร้างความมั่นใจว่าไต้หวันจะมีทุกวิถีทางที่จำเป็นในการปกป้องตนเองจากการรุกรานใดๆ"
คำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยแถลงของโฆษกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อวันพุธ (27 เม.ย.) ซึ่งระบุว่า "ถ้อยแถลงของสหรัฐฯ สวนทางกับการที่พวกเขาให้การรับรองปักกิ่งและนโยายจีนเดียว และยุยงส่งเสริมพวกแบ่งแยกดินแดนไต้หวันด้วยการขายอาวุธให้เกาะแห่งนี้"
"สหรัฐฯ ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่เอาแต่พูดว่าเป็นไปได้ที่แผ่นดินใหญ่จะรุกรานไต้หวัน มันไม่ขัดแย้งกันเองหรือ เพราะจะเป็นไปได้ยังไงที่ประเทศหนึ่งๆ จะรุกรานส่วนหนึ่งของดินแดนของตนเอง" โฆษกกล่าว
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/โกลบอลไทม์ส)