xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเซ็นต่อ MOU มหิดล ร่วมก่อสร้าง“สถานีร่วมศิริราช“เดินหน้าต้นแบบสถานีรถไฟฟ้าเพื่อสุขภาพ คาดเปิดปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รฟท.-รฟม.และมหิดล” ลงนามต่ออายุบันทึกความร่วมมือ (MOU) ก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช ออกไปจนกว่ารถไฟฟ้าสีแดงและสีส้มจะก่อสร้างเสร็จคาดได้ใช้ปี 70-71 ชูโมเดลต้นแบบสถานีรถไฟฟ้าเพื่อสุขภาพ

วันที่ 27 เม.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นการขยายบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเดิมที่มีระยะเวลา 3 ปี (2 พ.ค. 2562 -พ.ค.2565 ) ออกไปจนกว่า โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และอาคารรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราช จะแล้วเสร็จทั้ง 3 โครงการ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่น เร่งรัด ผลักดัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช มีเป้าหมายให้เป็น สถานีระบบขนส่งเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

โดยในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะมีการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่สำคัญ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป ผู้เข้ารับบริการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชอย่างยั่งยืน

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่าง รฟท.รฟม.และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการการใช้พื้นที่บริเวณสถานีร่วมศิริราช ของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ และผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราชมากยิ่งขึ้น โดยมีความตกลงในเรื่องรูปแบบ ขอบเขตความรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายและแผนการดำเนินงาน ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ และคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน รวมถึงกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง เพื่อร่วมผลักดันให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ต่อไป

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เงินลงทุนประมาณ 6.1 พันล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงเอกสารประกวดราคาและราคากลาง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) งบก่อสร้าง 9 หมื่นล้านบาท งานระบบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ขณะที่อาคารโรงพยาบาลศิริราช วงเงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งอาคารโรงพยาบาล จะเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2571 ใกล้เคียงกัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม อาจจะเปิดล่าช้าออกไปอีกเล็กน้อย
 
การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์ของการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ร่วมกันสนับสนุนและประสานความร่วมมือ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ให้ประสบความสำเร็จ เป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ซึ่งจะเป็น Model ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่สำคัญ ในด้านการรักษาพยาบาล มุ่งให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ คุณธรรม ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และมุ่งทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และมุ่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการ และมีบุคลากร รวมกันสูง 3 หมื่นคนต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ส่งผลให้เกิดปัญหาแออัดของพื้นที่ และพื้นที่ภายในยากต่อการขยาย

ขณะที่ที่รัฐบาลมีนโยบายในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ที่เพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ประกอบกับ สถานีศิริราชเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของรฟท.และสายสีส้ม ของรฟม. ซึ่งที่ตั้งสถานีศิริราช สามารถเชื่อมโยงต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราชได้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีสถานีรถไฟธนบุรี ที่เคยเป็นต้นทางรถไฟสายใต้และรถไฟสายมรณะที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นเพื่อให้เกิดโมเดลการเชื่อมโยงของระบบการดูแลรักษาพยาบาลและระบบขนส่งมวลชน ที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และลดมลภาวะ โรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมมือกับ รฟท.รฟม. ในการพัฒนาพื้นที่ขนาด 4 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา หรือประมาณ 7,456 ตารางเมตรให้เกิดผลคุ้มค่ามากที่สุด

โดยก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็น พื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการ Ambulatory Unit/ One Day Surgical โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น