มิคาอิล โพโดยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน วิพากษ์วิจารณ์สหภาพยุโรปสำหรับการส่งมอบ "อาวุธผิดประเภท" แก่เคียฟ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลากยาวระหว่างประเทศของเขากับรัสเซีย
ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เมื่อวันเสาร์ (16 เม.ย.) ใช้ทวิตเตอร์ระบายความผิดหวัง ทั้งในแง่ของประเภทของอาวุธที่ส่งมอบ และความเร็วของการส่งมอบ
โพโดยัค เน้นย้ำว่ายูเครนยังคงเดินหน้าร้องขออาวุธยุทโธปกรณ์จากสมาชิกอียู และในความเห็นของเขา "ชาวยุโรปสนับสนุนเสียงเรียกร้องที่มีต่อเหล่ารัฐบาลของพวกเขา แต่อียูมอบอาวุธแก่ยูเครน ไม่ใช่ในสิ่งที่เราร้องขอ" เขากล่าว พร้อมระบุว่า "อาวุธเหล่านั้นยังใช้เวลานานเกินไปกว่าจะมาถึง"
เขาโพสต์ปิดท้ายด้วยถ้อยคำเหมือนเป็นคำเตือน โดยระบุว่า "ประชาธิปไตยจะไม่ชนะจากการเล่นเกมนี้ ยูเครนต้องการอาวุธ ไม่ใช่ในเวลา 1 เดือน แต่เดี๋ยวนี้เลย"
เมื่อราวๆ 2 สัปดาห์ก่อน ดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน กล่าว ณ สำนักงานใหญ่ของนาโต้ในบรัสเซลส์ ว่าเขามาพร้อมกับวาระง่ายๆ ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ เพียง 3 ข้อ นั่นคือ "อาวุธ อาวุธ และอาวุธ" พร้อมอ้างว่าในขณะที่ความมั่นคงยุโรป-แอตแลนติก (Euro-Atlantic Security) เป็นสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ การต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียของยูเครน มันไม่ใช่แค่การปกป้องตนเอง แต่ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงแก่สมาชิกของกลุ่มด้วยเช่นกัน
ตามหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน อียูแถลงว่าจะส่งมอบอาวุธมูลค่ากว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐแก่เคียฟ ถือเป็นการกลับลำนโยบายที่มีมาอย่างยาวนานของทางกลุ่มที่จะไม่มอบความช่วยเหลือด้านการทหาร
นอกเหนือจากการมอบการสนับสนุนในระดับอียูแล้ว ชาติสมาชิกแต่ละชาติของสหภาพยุโรป ยังยกระดับการสนับสนุนด้านการทหารแก่เคียฟด้วยเช่นกัน ในนั้นรวมถึงเยอรมนี ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของอียู ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ เปลี่ยนจุดยืนจากที่ไม่มอบอาวุธร้ายแรงแก่เคียฟ และเพิ่มการใช้จ่ายกลาโหมเพื่อช่วยเหลือยูเครน
อย่างไรก็ตาม แม้มีคำร้องขอหลายต่อหลายครั้งจากเคียฟ แต่ เบอร์ลิน ปฏิเสธส่งมอบอาวุธจู่โจมใดๆ แก่เคียฟ อย่างเช่นรถถังและยานเกราะอื่นๆ
แม้ตะวันตกกำลังมอบแรงสนับสนุนทุกอย่างแก่เคียฟ แต่ทาง เซเลนสกี ร้องขอมากกว่านั้นอีก เขาเน้นย้ำว่ายูเครนต้องการรถถังและอากาศยานเพิ่มเติมอย่างที่สุด แต่บรรดาพันธมิตรยังคงลังเลในประเด็นนี้ เนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยงเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่พวกเขาปฏิเสธบังคับใช้เขตห้ามบินเหนือท้องฟ้ายูเครน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)