xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ‘มือถือสากปากถือศีล’ เมื่อประกาศคัดค้านไม่ยอมรับ ‘เขตอิทธิพล’ ของรัสเซียในกรณียูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แคทรินา วานเดน ฮูเวล ***


โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์  ขณะแถลงข่าวที่กระทรวงในกรุงวอชิงตัน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US hypocrisy over Ukraine and ‘spheres of influence’
By KATRINA VANDEN HEUVEL
17/04/2022

ถ้าหากพวกสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ สามารถที่จะทำอะไรได้ตามใจแล้ว สหรัฐฯ จะไม่มีวันปล่อยให้พวกชาติเพื่อนบ้านของตนสามารถเลือกสรรทิศทางที่จะก้าวเดินของพวกเขาเอง

การรุกรานยูเครนของรัสเซีย “ในหลายๆ ทางเลย เป็นเรื่องที่ใหญ่โตเกินกว่ารัสเซียเสียอีก มันเป็นเรื่องที่ใหญ่โตกว่าเพียงแค่ยูเครน” โฆษกกระทรวงการตางประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์ (Ned Price) ประกาศเอาไว้เช่นนี้เมื่อเร็วๆ นี้ [1]

“ตรงนี้มีหลักการหลายๆ ประการที่กำลังตกอยู่ในอันตราย ... แต่ละประเทศและทุกๆ ประเทศมีสิทธิอธิปไตยในการวินิจฉัยตัดสินนโยบายการต่างประเทศของตนเอง มีสิทธิอธิปไตยในการวินิจฉัยตัดสินด้วยตนเองว่า ตนจะเลือกคบค้าสมาคมกับใครในเงื่อนไขของการเป็นพันธมิตรของตน เป็นหุ้นส่วนของตน และตนปรารถนาที่จะกำหนดทิศทางสำหรับก้าวเดินไปทางไหน” เขาบอก

ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ก็เคยเน้นย้ำเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ ไม่ยอมรับไม่รับรองเรื่อง “เขตอิทธิพล” (spheres of influence) พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า แนวความคิดนี้ “ควรที่จะเกษียณอายุไปแล้วภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” [2]

นี่เป็นถ้อยคำที่ฟังดูแล้วเหมือนมีคุณธรรมสูงส่ง ทว่ามันเป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า –เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ไม่เคยนำเอาหลักการเช่นนี้มาใช้ในซีกโลกตะวันตก ตัวอย่างเช่น คิวบา ซึ่งยังคงต้องทุกข์ยากลำบากตกอยู่ใต้มาตรการห้ามค้าขายที่สหรัฐฯ นำมาบังคับใช้เป็นเวลา 60 ปีแล้ว
(ซีกโลกตะวันตก Western Hemisphere หมายถึงส่วนของโลกที่ประกอบด้วยทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และน่านน้ำรอบๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.britannica.com/place/Western-Hemisphere -ผู้แปล)

เรื่องนี้ บวกเข้ากับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันหัวเลี้ยวกลับจากนโยบายมุ่งสู่การเปิดเสรี (liberalization) ในยุคโอบามา [3] – โดยที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังคงรักษานโยบายลงโทษคิวบาอย่างรุนแรงเช่นนี้เอาไว้ต่อไป [4]— ได้ตีกระหน่ำใส่เศรษฐกิจของเกาะคิวบาอย่างหนักหน่วง เวลานี้ อาหารและยาเวชภัณฑ์กลายเป็นของหายาก [5] ชาวคิวบาวัยหนุ่มสาวและพวกที่มีหัวทางเป็นผู้ประกอบการจำนวนมากพากันเดินทางออกไปจากประเทศ [6] แรงบีบคั้นกดดันเช่นนี้เองมีส่วนอย่างสำคัญทีเดียวที่ทำให้เกิดกระแสการประท้วงซึ่งสร้างความตื่นตะลึงขึ้นในเกาะแห่งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

เป็นความจริง คิวบายังคงใช้ระบอบการปกครองแบบมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และยังคงกดขี่ปราบปรามอย่างหนักต่อความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากของทางการ ทว่าการห้ามค้าขายและนโยบายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประสบความล้มเหลวใช้ไม่ได้ผลกับคิวบามาตลอด 6 ทศวรรษ และผ่านยุคสมัยของประธานาธิบดีอเมริกันมาแล้ว 11 คน [7] ปัจจุบันชาวคิวบายังคงได้รับการยกย่องชมเชยในเรื่องความพยายามทางด้านมนุษยธรรมของพวกเขา ด้วยการจัดส่งแพทย์ไปช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นในทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนา (รวมทั้งโลกพัฒนาแล้ว) [8] ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯ กับคิวบายังมีความร่วมมือกันในความพยายามที่จะปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดและการจำกัดขีดวงลัทธิการก่อการร้าย

กระนั้น มาตรการห้ามค้าขายก็ยังคงถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงเวลานี้ –เป็นการลงโทษประชาชนคิวบาไปจนกว่าพวกเขาจะกำจัดรัฐบาลซึ่งสหรัฐฯ ไม่ยอมรับ นี่ช่างเป็นการให้โอกาสแก่ชาวคิวบาสำหรับ “การเลือกเส้นทางของพวกเขาเอง” เสียนี่กระไร

คิวบาไม่ใช่เป็นเพียงประเทศเดียวหรอก สหรัฐฯ ยังได้บังคับใช้มาตรการแซงก์ชันคว่ำบาตรแบบโหดๆ กับเวเนซุเอลา และ นิการากัว สำหรับการการที่ประเทศทั้งสองยังคงรักษาระบอบการปกครองที่วอชิงตันคัดค้านเอาไว้ [9]

แม้กระทั่งในการออกมาตรการแซงก์ชันรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ฮวน เซบาสเตียน กอนซาเลซ (Juan Sebastian Gonzalez) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการอาวุโสดูแลกิจการซีกโลกตะวันตก อยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Security Council) ยังออกมาพูดว่า มาตรการเหล่านี้จัดทำขึ้นมาในลักษณะที่ “มันจะมีลกระทบต่อพวกรัฐบาลซึ่งมีการติดต่อผูกพันในทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ... ดังนั้น เวเนซุเอลาจะเริ่มรู้สึกถึงแรงบีบคั้นกดดันนี้ นิการากัวจะเริ่มรู้สึกถึงแรงบีบคั้นกดดันี้ เช่นเดียวกับคิวบา”

ในเวลาเดียวกันนี้เอง พวกสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติทั้งหลายของสหรัฐฯ ก็กำลังส่งเสียงเตือนภัยดังขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องที่จีนเข้ามาเกี่ยวข้องมีส่วนอยู่ในซีกโลกตะวันตกมากขึ้นทุกที [10] จีนในเวลานี้กำลังกลายเป็นคู่ค้าชั้นแนวหน้าของละตินอเมริกา [11] เช่นเดียวกับที่กลายเป็นแหล่งที่มาระดับนำของการลงทุนโดยตรงและของการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ภูมิภาคนี้

ด้วยความสนใจที่จะทำให้จีนเองสามารถเข้าถึงสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกต่างๆ ได้อย่างมีความมั่นคง ปักกิ่งได้เข้ามาช่วยเหลือภูมิภาคนี้ภายหลังวิกฤตการณ์ภาคการเงินปี 2008 โดยการลงทุนซึ่งได้สร้างงานและช่วยลดความยากจนในภูมิภาค ระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่คราวนี้ ฝ่ายจีนยังรีบจัดส่งวัคซีน [12] (แน่นอนล่ะ ควรต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า เป็นวัคซีนที่มีคำถามในเรื่องประสิทธิภาพ) เข้ามาในภูมิภาค และยังคงแสดงความต้องการผลิตภัณฑ์ของละตินอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในสหรัฐฯ ว่า จีนกำลังสนับสนุนสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นรัฐบาล “ประชานิยม” ในละตินอเมริกา ตั้งแต่อาร์เจนตินาไปจนถึงเวเนซุเอลา พวกนักยุทธศาสตร์บนเก้าอี้นวมทั้งหลายต่างกำลังเสนอความคิดเห็นออกมาแล้วถึงวิธีการในการตอบโต้สิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นภัยคุกคามซึ่งมาจากจีน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการให้ความสนับสนุนทางการเงิน

อีแวน เอลลิส (Evan Ellis) ผู้เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่สถาบันยุทธศาสตร์ศึกษา (Strategic Studies Institute) วิทยาลัยการสงครามกองทัพบกสหรัฐฯ (US Army War College) เขียนรายงานชิ้นหนึ่งให้ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “การเตรียมพร้อมสำหรับความเสื่อมถอยลงของภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน” (Preparing for Deterioration of the Latin America and Caribbean Strategic Environment) [13] โดยเสนอว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีทรัพยากรต่างๆ สำหรับแข่งขันกับจีนในเรื่องการลงทุนและการให้ความช่วยเหลือแก่ภูมิภาคนี้

เพื่อชดเชยกับการขาดแคลนเช่นนี้ เอลลิสเสนอแนวความคิดอย่างน่าตกใจให้สหรัฐฯ สร้างสมกำลังทหารอย่างแข็งกร้าวในภูมิภาคนี้ ดำเนินการรุกทางด้านการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อดิสเครคิตรัฐบาลใดๆ ก็ตามที่เป็นมิตรกับจีน “กระตุ้นส่งเสริมศักยภาพของขบวนการต่อต้าน” อิทธิพลของจีน รัสเซีย และอิหร่าน และแน่นอนทีเดียว ให้แซงก์ชันคว่ำบาตรพวกที่แตกแถวด้วย ศาสตราจารย์ผู้นี้ไม่ได้เอ่ยอ้างอิงถึง “หลักการ” ของการยินยอมให้ชาติต่างๆ สามารถเลือกเส้นทางเดินของตนเองได้แต่อย่างใด

อีกตัวอย่างหนึ่งของทัศนะเช่นนี้ มาจาก โรเบิร์ต เคแกน (Robert Kagan) คอลัมนิสต์ที่เขียนให้แก่วอชิงตันโพสต์ ผู้ซึ่งเสนอความเห็นเอาไว้ในบทความตีพิมพ์อยู่ในวารสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส” (Foreign Affairs) ว่า สหรัฐฯ ควรยอมรับว่าตนเองต้องแสดงบทบาทเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครๆ ในระดับโลก (global hegemon) [14]

เขาเขียนเอาไว้ว่า นี่เป็นหน้าที่ ไม่ใช่เป็นทางเลือกหรอก และบอกอีกว่า “ประเทศที่ทรงอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แผ่อิทธิพลต่อรัฐอื่นๆ ได้เพียงด้วยการปรากฏตัวขึ้นมาเท่านั้น หนทางที่วัตถุขนาดใหญ่กว่าในอวกาศ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อพฤติกรรมของวัตถุต่างๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า ก็คือใช้แรงโน้มถ่วงของตนดึงลากเอา” การที่สหรัฐฯ เข้าไปพัวพันกับเรื่องต่างๆ ก็เพราะ “สิ่งที่สหรัฐฯ เสนอนั้นมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างแท้จริงต่อผู้คนจำนวนมากของโลก”

ทว่าในซีกโลกที่ตนเองอยู่อาศัย “แรงดึงลากด้วยแรงโน้มถ่วง” นั้นไม่ได้มาจากสหรัฐฯ ที่อยู่ในภาวะเสื่อมถอยหรอก หากมาจากจีนที่กำลังก้าวผงาดต่างหาก จีนกำลังเสนอทั้งตลาด เงินทอง การลงทุน –รวมทั้งโมเดลในการปกครอง นั่นคือ “ทุนนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน”

ถ้าหากพวกสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติสามารถที่จะทำอะไรได้ตามใจแล้ว สหรัฐฯ จะไม่มีวันปล่อยให้พวกชาติเพื่อนบ้านของตนเลือกสรรทิศทางที่จะก้าวเดินของพวกเขาเองหรอก สหรัฐฯ จะผลักดันทั้งในเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ การเสริมความเข้มแข็งให้แก่พวกชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล และการข่มขู่หรือกระทั่งบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันลงโทษพวกที่ไม่ยอมเข้ามาอยู่ในแถว ด้วย “โมเดล” การปกครองที่ประสบความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั่วทั้งซีกโลกตะวันตก

พฤติการณ์มือถือสากปากถือศีล เป็นเรื่องสามัญธรรมดาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายรัสเซียและฝ่ายจีนมีการหยิบยกกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาอ้างอิงอย่างสม่ำสมอ ถึงแม้พวกเขาพร้อมกระทืบเหยียบย่ำมันเมื่อพวกเขาเห็นว่าจำเป็นต้องทำเช่นนั้น ขณะเดียวกันนั้น สหรัฐฯ ก็เป็นแชมเปี้ยนผู้ต่อสู้เรียกร้องในเรื่อง “กรอบระเบียบที่ยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์” โดยที่สหรัฐฯ เป็นผู้จัดทำกฎเกณฑ์เหล่านั้นขึ้นมา และเมื่อมีความปรารถนาก็พร้อมจะนำตัวเองให้ได้รับยกเว้นจากกฎเกณฑ์เหล่านั้น

“หลักการ” ของการเคารพชาติต่างๆ และเคารพในสิทธิของพวกเขาที่จะเลือกเส้นทางของพวกเขาเองนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามประการหนึ่ง บรรดาประเทศในซีกโลกเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ต่างมุ่งหวังให้สหรัฐฯ ประพฤติปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เทศนาสั่งสอนเท่านั้น

ข้อเขียนนี้เผยแพร่โดย Globetrotter (https://globetrotter.media/) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับ The Nation (http://thenation.com/) โดยที่ Globetrotter เป็นผู้จัดหามาให้แก่เอเชียไทมส์

แคทรินา วานเดน ฮูเวล เป็นผู้อำนวยการกองบรรณาธิการ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ เดอะเนชั่น (The Nation) และเป็นประธานของคณะกรรมการอเมริกาเพื่อการตกลงกันระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย (American Committee for US-Russia Accord หรือ ACURA) เธอเขียนคอลัมน์ในวอชิงตันโพสต์สัปดาห์ละครั้ง และเป็นคอมเมนเตชันทางด้านการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ ที่ได้รับเชิญให้ไปปรากฏตัวบ่อยครั้งทั้งทาง Democracy Now, PBS, ABC, MSNBC และ CNN

เชิงอรรถ
[1]https://www.state.gov/briefings/department-press-briefing-march-21-2022/
[2]https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-with-olena-removska-of-radio-free-europe-radio-liberty/
[3]https://www.politifact.com/truth-o-meter/promises/trumpometer/promise/1378/reverse-barack-obamas-cuba-policy/
[4]https://www.nbcnews.com/news/latino/historic-protests-biden-hit-pause-button-cuba-policy-senior-official-s-rcna7110
[5]https://www.reuters.com/world/americas/cuban-diaspora-sends-medicines-alleviate-dire-shortages-2021-08-12/
[6]https://www.miamiherald.com/news/nation-world/world/americas/cuba/article259988070.html
[7]https://www.thenation.com/article/world/cuba-embargo-60-years/
[8]https://www.bbc.com/news/uk-48214513
[9]https://www.as-coa.org/articles/explainer-us-sanctions-latin-america
[10]https://time.com/5936037/us-china-latin-america-influence/
[11]https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-02-17/china-is-south-america-s-top-trading-partner-why-can-t-the-us-keep-up
[12]https://www.wilsoncenter.org/blog-post/vaccine-diplomacy-latin-america
[13]https://www.csis.org/analysis/preparing-deterioration-latin-america-and-caribbean-strategic-environment
[14]https://www.foreignaffairs.com/articles/ukraine/2022-04-06/russia-ukraine-war-price-hegemony


กำลังโหลดความคิดเห็น