xs
xsm
sm
md
lg

การสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนคือ ‘หนังตัวอย่าง’ ของสิ่งที่สหรัฐฯ สามารถกระทำในเอเชีย : สัมภาษณ์ ‘เจิ้ง หย่งเหนียน’ นักวิชาการคนสำคัญของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โกลบอลไทมส์ ***


กองทหารที่สหรัฐฯ ส่งมาประจำการเพิ่มเติมในยุโรป โดยเป็นมาตรการหนึ่งในการตอบสนองสถานการณ์อันตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน เดินทางไปถึงเมืองวิสบาเดน
Russia-Ukraine conflict can be regarded as a 'preview' of US' possible acts in Asia: Zheng Yongnian
By Global Times
17/03/2022

เจิ้ง หย่งหนาน นักวิชาการคนสำคัญของจีนทางด้านการเมืองเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่หลี่ อ้ายซิน (Li Aixin) และไป่ อิ๋ว์น-อี (Bai Yunyi) ผู้สื่อข่าวของโกลบอลไทมส์ เกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบที่จะมีต่อจีน ทั้งนี้ โกลบอลไทมส์ เป็นสื่อในเครือของเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจิ้ง หย่งเหนียน
โกลบอลไทมส์ : คุณคาดการณ์ว่าการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะมีการพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต? จะมีการประนีประนอมเกิดขึ้นมาไหม หรือว่าการสู้รบขัดแย้งนี้จะกลายเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก?

เจิ้ง หย่งเหนียน : เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้ (หมายเหตุผู้แปล : การสัมภาษณ์นี้มีขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) ถึงแม้องค์การนาโต้มีความลังเลใจที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับกองกำลังของรัสเซีย แต่มันก็ยังลำบากที่จะบอกว่าการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้จะเป็นเพียงเรื่องระหว่างรัสเซียกับยูเครนเท่านั้น สืบเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่มีความสลับซับซ้อน ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีใครส่งสัญญาณว่าจะยุติความเคลื่อนไหวของฝ่ายตน ตรงกันข้ามกลับมีการส่งสัญญาณของการบานปลายขยายตัวเสียด้วยซ้ำ ถึงแม้ฝ่ายอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงต่างกำลังเรียกร้องให้เจรจาหยุดยิงทำข้อตกลงสันติภาพกันก็ตาม

เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองแบบมุ่งให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เป้าหมายของ (ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์) ปูติน อาจจะไม่ใช่การเข้ายึดยูเครนทั้งประเทศหรอก ปูตินควรที่จะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า การเข้าพิชิตยึดครองยูเครน ประเทศซึ่งถ้าหากดูจากขนาดก็จะใหญ่กว่าเยอรมนีเสียอีก ไม่ใช่เป็นภารกิจที่ง่ายๆ เลย เวลาเดียวกัน (ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์) เซเลนสกี ก็ไม่ได้เป็นพวกฝันเฟื่องอยู่แต่ในจินตนาการ มาถึงตอนนี้เขาควรที่จะเข้าใจแล้วว่า ยูเครนนั้นไม่สามารถชนะสงครามครั้งนี้ได้ถ้าหากนาโต้ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยโดยตรง ยุโรปนั้นกำลังเข้าข้างสหรัฐฯ ในการประกาศใช้มาตรการแซงก์ชันลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย กระนั้นก็ตาม พวกประเทศอย่างเช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส กลับกำลังตกอยู่ในฐานะที่ต้องเสียอะไรไปมาก ทว่าได้อะไรกลับคืนมาน้อย

ปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นนี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ฝ่ายต่างๆ หลายหลากสามารถมีการประนีประนอมกันได้ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้แรงกระตุ้นนี้แสดงบทบาทออกมาอย่างเต็มที่ ถ้าหากสงครามตามแบบแผนเกิดบานปลายจนเกินกว่าควบคุมได้แล้ว การใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง และทันทีที่ฉากทัศน์เช่นนั้นปรากฏขึ้นมา สงครามนี้ก็จะลามปามออกไปทั่วทั้งยุโรปทีเดียว

โกลบอลไทมส์ : ตั้งแต่ที่การสู้รบขัดแย้งนี้ระเบิดขึ้นมา เยอรมนีได้เพิ่มงบประมาณกลาโหมของตน ขณะที่ประชามติในฟินแลนด์ในเรื่องเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต้ ก็เกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (นั่นคือ ต้องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ -ผู้แปล) และจอร์เจีย ได้ยื่นสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกของอียู (สหภาพยุโรป) แล้ว ... คุณคิดว่า การสู้รบขัดแย้งกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงแผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรปไปอย่างไรบ้าง? และมันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อทัวโลก?

เจิ้ง หย่งเหนียน : ถึงแม้ยุโรปในเวลานี้ยืนอยู่กับทางฝ่ายสหรัฐฯ แต่ “ความสามัคคีสมานฉันท์” ดังกล่าวนี้ก็อยู่ในสภาพบอบบางมาก เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองแบบระยะยาว และอิงกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว ยุโรปเวลานี้กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอียูนั้นกำลังอยู่ในจังหวะเวลาที่อ่อนแอมาก

ประการแรกทีเดียว เยอรมนีประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจะเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมของประเทศให้อยู่ในระดับสูงกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งนี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่า การแข่งขันกันทางการทหารอาจจะปรากฏขึ้นอีกครั้งในยุโรป ในระยะสั้น พวกประเทศยุโรปคงยังไม่ออกมาคัดค้านความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของเยอรมนีหรอก ในท่ามกลางการสู้รบขัดแย้งกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเช่นนี้ ทว่าในระยะยาวแล้ว เยอรมนีที่กลับมาสร้างสมแสนยานุภาพทางทหาร จะหมายความว่ายังไงในสายตาของฝรั่งเศส? นั่นย่อมเป็นสิ่งสุดท้ายที่ฝรั่งเศสปรารถนาที่จะเห็น ภูมิรัฐศาสตร์ภายในยุโรปอาจจะเป็นประจักษ์พยานถึงการแปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ประการที่สอง ยุโรปยังอาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ เบลารุสนั้นได้รับรองการปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งมีการโยนทิ้งไม่เอาแล้วสำหรับฐานะการเป็นประเทศไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ และเรื่องนี้อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดผลต่อเนื่องลามปามออกไปแบบตัวโดมิโน ยิ่งถ้าหากสถานการณ์เกิดเป็นไปตามฉากทัศน์ที่สุดโต่งที่สุด –นั่นคือรัสเซียล้มครืนแยกสลาย— มันก็จะส่งผลให้มีการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ลงท้ายแล้วยุโรปอาจจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางนิวเคลียร์อย่างสำคัญ

ช่วงหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง พวกปัญญาชนชาวอเมริกันจำนวนมาก อย่างเช่น ซามูเอล พี.ฮันติงตัน (Samuel P.Huntington) เชื่อว่า ยุโรปกับสหรัฐฯ นั้นแทบจะบูรณาการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว และการสู้รบขัดแย้งกันในอนาคตจะสามารถเกิดขึ้นมาได้ก็เพียงในระหว่างอารยธรรมที่ผิดแผกแตกต่างกันเท่านั้น ผมคิดว่าทัศนะความคิดเห็นเช่นนี้ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือว่าสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามล้วนแล้วแต่ระเบิดขึ้นภายในอารยธรรมเดียวกัน นั่นคือในยุโรป สำหรับสงครามเย็น ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ก็ต้องถือว่าเกิดขึ้นระหว่างประเทศซึ่งอยู่ภายในแวดวงอารยธรรมใหญ่อันเดียวกัน การที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งกันอย่างดุเดือดขึ้นมาอีกภายในอารยธรรมตะวันตกนั้นไม่จำเป็นว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรอก

ประการที่สาม “การหวนกลับมาสร้างสมแสนยานุภาพทางการทหาร” ของเยอรมนี ยังอาจจะกระตุ้นส่งเสริมให้ญี่ปุ่น เริ่มต้นผลักดันการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางเข้าสู่ “การหวนกลับมาสร้างสมแสนยานุภาพทางการทหาร” ของตนเองบ้าง ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชีย นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ได้ส่งเสียงออกมาแล้วว่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมฉบับสันติภาพของประเทศ เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อทั่วทั้งเอเชียตะวันออก

พิจารณาจากทัศนะมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์และทางเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว มันจะไม่มีผู้ชนะจากสงครามคราวนี้เลย ยกเว้นแต่สหรัฐฯ เท่านั้น ยุโรปที่รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างแข็งแรงจะไม่จำเป็นต้องอาศัยสหรัฐฯ อีกต่อไป ทว่ามันไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ เพราะยุโรปมีความแตกแยกผิดแผกกันของพวกเขาเอง ซึ่งทำให้สหรัฐฯ สามารถที่จะกระชับรวมศูนย์อำนาจความเป็นผู้นำของตนในองค์การนาโต้ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ธงชาติรัสเซียถูกนำลงจากเสา บริเวณด้านนอกของอาคารสภายุโรป (Council of Europe) ในเมืองสตราสบูร์ก, ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2022 ภายหลังองค์การชื่อดังด้านสิทธิมนุษยชนของยุโรปแห่งนี้ ขับรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิก สืบเนื่องจากการรุกรานยูเครน
ไม่ว่าการสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ยุโรปก็จำเป็นต้องมีการขบคิดทบทวนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์กันครั้งใหญ่ เป็นต้นว่า ควรปล่อยให้กิจการต่างๆ ของยุโรปถูกสหรัฐฯ ครอบงำต่อไปอีกหรือไม่ในอนาคต? ยุโรปมีความสามารถจริงๆ หรือไม่ที่จะรับมืออย่างเป็นอิสระกับกิจการต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย? อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราหรือยุโรปเองก็ไม่ควรเพิกเฉยดูเบาต่อพลังอำนาจของยุโรป

โกลบอลไทมส์ : ในบทความของคุณที่นำออกเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ คุณพูดพาดพิงเอาไว้ว่า การสู้รบขัดแย้งกันระหว่างรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ สามารถที่จะส่งอิทธิพลต่อระเบียบระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันจนถึงระดับรากฐาน เรายังคงสามารถที่จะมองระเบียบโลกในอนาคต ภายใต้หลักตรรกะของความสัมพันธ์รูปสามเหลี่ยมระหว่าง จีน-รัสเซีย-สหรัฐฯ ต่อไปได้หรือไม่?

เจิ้ง หย่งเหนียน : ตั้งแต่ตอนที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง สหรัฐฯ มีการดูเบารัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อว่ารัสเซียเป็นเพียง “จอมป่วนเที่ยวสร้างปัญหา” รายหนึ่งเท่านั้น ขณะที่จีนคือคู่แข่งขันสำคัญที่สุดหรือกระทั่งเป็นศัตรูด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังทำอยู่ คือ การพยายามที่จะสร้าง “นาโต้แห่งเอเชีย” ขั้นมาเพื่อคัดค้านต่อต้านจีน ตั้งแต่ “ลัทธิอนุรักษนิยมใหม่” (neoconservatism) ของจอร์จ ดับเบิลยู.บุช ไปจนถึง “การปักหมุดหมุนรอบเอเชีย” (Pivot to Asia) ของคณะบริหารบารัค โอบามา แล้วจากนั้นก็เป็นยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ภายใต้คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ และคณะบริหารโจ ไบเดน จุดเน้นหลักทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยอยู่ที่ยุโรปและตะวันออกกลาง ก็หันมาทางภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในความเห็นของผมแล้ว การระเบิดขึ้นมาของการสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนคราวนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางยุทธศาสตร์โดยรวมของสหรัฐฯ หรอก อย่างไรก็ดี การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ถึงยังไงก็สะท้อนให้เห็นอย่างเต็มที่ในเรื่องที่พวกชนชั้นนำสหรัฐฯ ประเมินรัสเซียต่ำกว่าความเป็นจริง

มองกันในภาพรวมแล้ว ระเบียบโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อยู่ในกระบวนการของการแตกกระจายออกมาเป็นส่วนๆ อย่างรวดเร็ว ประเทศจำนวนมากกำลังแสวงหาเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของพวกเขาเอง และวาดหวังที่จะสถาปนาระเบียบระหว่างประเทศซึ่งให้ประโยชน์แก่พวกเขา รัสเซียเป็นเพียงรายหนึ่งในพวกเขาเหล่านี้ มองกันในแง่มุมนี้แล้ว ไม่ว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส ตุรกี และอินเดีย ต่างก็มีเป้าหมายของพวกเขาเองกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วที่จะมองโลกในทุกวันนี้จากทัศนะมุมมองแบบ “ความสัมพันธ์สามเหลี่ยม จีน-รัสเซีย-สหรัฐฯ”

โกลบอลไทมส์ : คุณมองอนาคตของนาโต้เอาไว้ยังไงบ้าง การขยายตัวของนาโต้มาถึงขีดจำกัดของมันหรือยัง?

เจิ้ง หย่งเหนียน : นาโต้จะไม่หยุดการขยายตัวหรอก กลุ่มทางทหารนั้นมีความผิดแผกแตกต่างจากองค์การทางด้านเศรษฐกิจ ลักษณะสำคัญของกลุ่มทางทหารคือการขยายออกไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เราสามารถที่จะถือนาโต้ ว่าเป็นจักรวรรดิทางการทหารจักรวรรดิหนึ่งซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นประเทศครอบงำอยู่ และถ้าเรามองดูนาโต้ เราก็จะสามารถเข้าใจภาษิตเก่าของอังกฤษที่บอกว่า “ยิ่งมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ก็จะยิ่งเกิดการฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ” (absolute power corrupts absolutely) ในความเป็นจริงแล้ว นาโต้อยู่ในกรณีของการ “มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ” และ “การฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ” ในทางการเมืองระหว่างประเทศอยู่แล้ว

มองจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ นาโต้ผ่านการขยายตัวมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตขึ้นในยุโรป แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน ของรัสเซีย ซึ่งเป็นพวกโปรตะวันตก ครั้งหนึ่งก็ยังเคยพูดว่า “การขยายตัวไปทางตะวันออกของนาโต้คือความผิดพลาด” สำหรับการขยายตัวไปในยุโรปของนาโต้เมื่อใดจึงจะยุติลง? แน่นอนที่สุดว่าไม่ใช่เดี๋ยวนี้หรอก และบางทีมันอาจจะไม่มีการหยุดยั้งด้วยซ้ำไป จนกว่าจะมีกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถแข่งขันกับมันได้ปรากฏตัวขึ้นมา และก่อให้เกิดการตรวจสอบทัดทาน

แนวโน้มที่ต้องระมัดระวังกันให้มากยิ่งกว่านี้อีกก็คือ การที่กลุ่มทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ อย่างนาโต้ จะไม่ยุติการขยายตัวของตนลงแค่เพียงในยุโรปเท่านั้น แต่ยังน่าที่จะขยายมายังเอเชียอีกด้วย พูดกันให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือว่า สิ่งที่สหรัฐฯ กำลังทำอยู่ในเอเชียเวลานี้ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากการก่อตั้งนาโต้ขึ้นมาในตอนนั้นหรอก ในความเป็นจริง ต้นแบบของ “นาโต้แห่งเอเชีย” ได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งก็คือ ออคัส (AUKUS) คว็อด (Quad) ไฟฟ์อายส์ (Five Eyes) ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) รวมทั้งความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในยุคคณะบริหารไบเดนที่จะพยายามดึงเวียดนามและสิงคโปร์ ... ทั้งหมดเหล่านี้คือกลไกที่มีจุดมุ่งหมายพุ่งมาที่จีนอย่างชัดเจน

ความมั่นคงของเอเชียเป็นสิ่งที่มีความเปราะบาง เหตุผลที่ทำให้ “นาโต้แห่งเอเชีย” ยังไม่ได้มีการก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการนั้น ที่สำคัญที่สุดเป็นเพราะจีนไม่ได้มีความต้องการที่จะเดินตามตัวอย่างของอดีตสหภาพโซเวียตในการก่อตั้งกลุ่มทางทหารของตนเองขึ้นมา หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนระเบิดขึ้น ทิศทางแนวโน้มที่เอเชียกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นอีก และการที่สหรัฐฯ จะเข้ามาเกี่ยวข้องพันพัวในเอเชียก็จะยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียควรที่จะสรุปบทเรียนเหล่านี้ และรับมือกับมันด้วยท่าทีที่จริงจัง – เพราะถึงแม้ไม่มียูเครนอยู่ในเอเชีย แต่วิกฤตการณ์สไตล์ยูเครนก็ยังสามารถเกิดขึ้นมาได้ในประเทศจำนวนมากและในภูมิภาคจำนวนมากในเอเชีย

โกลบอลไทมส์ : มีผู้สังเกตการณ์บางคนบอกว่า ปูตินมีความตั้งใจที่จะสถาปนา “สหภาพโซเวียตน้อย” (little Soviet Union) ขึ้นมา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่รัสเซีย เบลารุส และยูเครน และมีพวกประเทศทางเอเชียกลางเป็นเขตกันชน คุณมีความเห็นยังไงกับทัศนะเช่นนี้ ?

เจิ้ง หย่งเหนียน : ในการเผชิญหน้าต่อสู้กับฝ่ายตะวันตก รัสเซียแทบจะไม่มีทางพ่ายแพ้อย่างชนิดหมดสิ้นทุกสิ้นทุกอย่าง สำหรับมหาอำนาจใหญ่รายหนึ่งแล้ว บ่อยครั้งที่ความล้มเหลวจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น แม้กระทั่งถ้าหากไม่มี ปูติน แล้ว มันก็จะมี ปูติน คนที่สองขึ้นมาในอนาคตอยู่ดี –ตราบใดที่รัสเซียรู้สึกว่าความมั่นคงแห่งชาติของตนถูกคุกคาม ด้วยเหตุนี้ ตราบใดที่นาโต้ดำรงคงอยู่ ปูติน หรือว่ารัสเซียก็ต้องมีความตั้งใจที่จะสร้าง “สหภาพโซเวียตน้อย” ขึ้นมาใหม่ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ปรารถนาจะให้เกิดฉากทัศน์เช่นนี้ขึ้นมา แต่รัสเซียก็มีแรงจูงใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของตนเอง

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ความเป็นจริงดังกล่าวนี้ก็ปักหลักหยั่งรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตะวันตก นี่คือตรรกะของการเมืองระหว่างประเทศแบบตะวันตก ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณมาแล้ว มันจะมีการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่ม 2 กลุ่มเรื่อยมา และรัสเซียนั้นก็คือส่วนหนึ่งของอารยธรรมตะวันตกนั่นแหละ นอกจากว่ารัสเซียจะประสบกับความพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์แบบในคราวนี้—ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นมาได้เลยเป็นอย่างยิ่ง— กระบวนการแบ่งขั้วของยุโรปและของโลกก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างที่ผมพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้แหละ การขยายตัวของนาโต้จะสิ้นสุดลงได้ก็ต่อเมื่อมีกลุ่มการทหารอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาซึ่งสามารถที่จะแข่งขันกับนาโต้ได้ และก่อตัวเป็นพลังในการตรวจสอบทัดทาน

ทันทีที่สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับจีนที่จะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อินเดียก็อยู่ในฐานะเช่นนี้เหมือนกัน เพราะมันจะกลายเป็นความวิบัติหายนะอย่างมโหฬารสำหรับโลก

โกลบอลไทมส์ : คุณคิดว่าจีนสามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้?

เจิ้ง หย่งเหนียน : สำหรับจีนแล้ว สงครามคราวนี้ถือเป็นบทเรียนใหญ่มหึมาทีเดียว ความผิดแผกแตกต่างกันข้อใหญ่ที่สุดระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตและรัสเซียนั้น อยู่ตรงที่ว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจทางทหารเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีพลังทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วย ขณะที่จีนมีทั้งความเข้มแข็งทางทหารอย่างเพียงพอที่จะปกป้องคุ้มครองตัวเองได้ และก็มีความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับโลกตะวันตก นี่เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมพวกชนชั้นนำสหรัฐฯ จึงเชื่อว่าจีนมีท่าทางจะกลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่โตมโหฬารสำหรับสหรัฐฯ ยิ่งกว่าที่รัสเซียเป็นอยู่นักหนา นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไมสหรัฐฯ จึงมีความไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบการทหาร-พลเรือนหลอมละลายเข้าด้วยกันของจีน (China's Military-Civil Fusion หรือ MCF) ในตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นั้นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในเรื่อง MCF เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่พวกเขาไม่ต้องการให้จีนกลายเป็นประเทศเช่นนั้นไปด้วย

จาง จิว์น เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ (กลาง)  แถลงระหว่างการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022  ในเรื่องสถานการณ์ในยูเครน
การเปิดประตูในทางเศรษฐกิจ และการพึ่งพาอาศัยกันและกันในทางเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นมาได้หรอก แต่มันสามารถชะลอให้มีโอกาสเกิดน้อยลงไปได้ เราสามารถที่จะถือการสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนว่าเป็น “หนังตัวอย่าง” ของสิ่งที่สหรัฐฯ อาจจะกระทำในเอเชีย นั่นก็คือ เมื่อเกิดความขัดแย้งอย่างดุเดือดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขึ้นมา สหรัฐฯ จะเตะจีนออกจากระบบ SWIFT อย่างที่พวกเขาทำกับรัสเซียหรือไม่? ในความเห็นของผมนะ แน่นอน 100% เลยว่าพวกเขาจะทำ

อย่างไรก็ดี ถ้าหากการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และยุโรปนำมาใช้เล่นงานรัสเซีย เกิดแรงสะท้อนกลับมาใส่คนทำเองสัก 50% ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% ทีเดียวถ้าหากพวกเขาแซงก์ชันจีน ในฐานะที่เป็นประเทศซึ่งเศรษฐกิจเปิดประตูสู่โลกภายนอกและมีความแข็งแกร่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การแซงก์ชันดังกล่าวย่อมยากลำบากที่จะนำมาบังคับใช้ เมื่อถึงเวลานั้น จีนไม่จำเป็นจะต้องใช้การข่มขู่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์มาปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองอย่างที่รัสเซียทำหรอก เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนนั้นมีการฝังแน่นอย่างล้ำลึกอยู่ในโลกตะวันตกอยู่แล้ว จึงพรักพร้อมที่จะทำให้ฝ่ายตะวันตกเกิดความรู้สึกเจ็บปวดจริงๆ ขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงจำเป็นต้องเดินหน้ามุ่งสู่การเปิดกว้างเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และพวกวิสาหกิจของจีนก็จำเป็นต้องเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ทั้งหมดและยังคงเดินหน้ามุ่งเป็นกิจการระดับโลกต่อไป

ประการที่สอง ผมคิดว่าจีนไม่สมควรจะถือว่าการสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนคราวนี้เป็นสงครามที่ห่างไกลจากตัวเอง จีนนั้นเป็นมหาอำนาจรายสำคัญรายหนึ่งเรียบร้อยแล้ว และการเผชิญหน้าโดยตรงกับสงครามเช่นนี้ คือส่วนหนึ่งของการเติมเต็มหน้าที่ความรับผิดชอบในทางระหว่างประเทศของตนเอง เรานั้นสามารถที่จะทั้งไม่ยินยอมปล่อยให้การเล่าเรื่องของฝ่ายตะวันตกเข้ามาเป็นตัวนิยามความผูกพันระหว่างจีน-รัสเซียตามความปรารถนาของพวกเขา และก็ทั้งไม่ยินยอมให้สหรัฐฯ จับเอายุโรปเป็นตัวประกัน จีนกับยุโรปนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างมากมายมหาศาลโดยไม่ได้มีข้อพิพาทขัดแย้งกันในทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผิดแผกแตกต่างกันในทางอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขคลี่คลายได้

ประการที่สาม การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ทำให้พวกเราต้องมาขบคิดพิจารณากันว่า จีนควรรับมือยังไงเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเปิดกว้างกับความมั่นคง ในความเห็นของผมนั้น ความมั่นคงต้องถือเสมอว่าเป็นแนวความคิดในเชิงเปรียบเทียบ กระนั้น การไม่ยอมเปิดกว้างต่อไปอีกก็คือความไม่มั่นคงอย่างใหญ่หลวงที่สุด สิ่งที่เราควรต้องทำจึงเป็นการสำรวจมองหากลไกความมั่นคงของพวกเราเองขณะเดียวกับที่เปิดกว้าง แทนที่จะยุติการเปิดกว้างเพียงเพื่อที่จะบรรลุสิ่งซึ่งเรียกกันว่า ความมั่นคงอย่างสัมบูรณ์

อันตรายซ่อนเร้นข้อใหญ่ที่สุดที่จีนต้องเผชิญ ยังคงเป็นเรื่องที่ว่าการพัฒนาเกิดการชะงักงันขึ้นมา และการก้าวสู่ความทันสมัยเกิดการสะดุดติดขัดขึ้นมา ถ้าหากเราเปิดหน้าต่าง ย่อมจะต้องมียุงมีแมลงวันบินเข้ามาข้างใน แต่ตราบเท่าที่เรายังมีความแข็งแรงเพียงพอ การถูกแมลงพวกนี้กัดเอาบ้างสักครั้งสองครั้งก็ไม่ทำให้เราถึงตายหรอก

เจิ้ง หย่งเหนียน เป็นศาสตราจารย์, รักษาการคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และผู้อำนวยการที่เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันชั้นสูงเพื่อการศึกษาเรื่องโลกและจีนร่วมสมัย (Advanced Institute of Global and Contemporary China Studies) ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง วิทยาเขตเซินเจิ้น (Chinese University of Hong Kong, Shenzhen) เจิ้งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในฐานะผู้ทรงความรู้ระดับระหว่างประเทศทางด้านการเมืองของจีน เศรษฐกิจการเมืองของจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีน


กำลังโหลดความคิดเห็น