xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : ‘ฝ่ายตะวันตก’ หน้าม่อยยอมรับการแซงก์ชันโดดเดี่ยว ‘รัสเซีย’ จากการบุกยูเครน ดูจะไม่ได้ผลอย่างที่วาดหวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2 เดือนผ่านไปหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อ้างว่า มอสโกกำลังอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา แต่นี่ดูเหมือนจะเป็นเพียงความคิดฝันเฟื่องของผู้นำสูงวัยของอเมริกาผู้นี้เสียมากกว่า

ความพยายามที่จะกีดกันมอสโกออกไปจากสังคมโลก ต้องเผชิญแรงต้านทานจากภาคส่วนที่ยังลังเลของประชาคมระหว่างประเทศ

“มีการโดดเดี่ยวรัสเซียออกจากกลุ่มตะวันตกอย่างชัดเจนมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากมาตรการแซงก์ชันระลอกแล้วระลอกเล่าซึ่งสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่การแลกเปลี่ยนกันทั้งในทางการพาณิชย์และในทางการเงิน” ซิลวี มาเตลลี รองผู้อำนวยการของสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทางยุทธศาสตร์แห่งฝรั่งเศส บอก

“แต่สำหรับการโดดเดี่ยวรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศนั้น สถานการณ์แตกต่างออกไป โดยมีชาติที่ระมัดระวังตัวสูงจำนวนมากยังคงปฏิเสธไม่โอนอ่อนตามแรงบีบคั้นกดดันของฝ่ายตะวันตก” นักวิจัยชาวฝรั่งเศสผู้นี้กล่าวต่อ

การที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยประกาศวัตถุประสงค์ว่าเพื่อ “ปราบปรามพวกนาซี” และเพื่อ “หยุดยั้งการเสริมสร้างทางการทหาร” ในยูเครน ได้ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวขึ้นมาทันทีทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยพวกผู้นำของ 2 ภูมิภาคนี้โวว่าจะโดดเดี่ยวมอสโก และบังคับใช้การแซงก์ชันคว่ำบาตร “อย่างชนิดไม่เคยปรากฏพบเห็นกันมาก่อน”

หลายๆ สัปดาห์ถัดจากนั้น น่านฟ้าของชาติสมาชิกนาโต้และอียูประกาศปิดไม่ให้เครื่องบินรัสเซียผ่าน และสหรัฐฯ ก็สั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซรัสเซีย รวมทั้งอาหารทะเล เหล้าวอดก้า และเพชร

แบงก์รัสเซียบางแห่งถูกตัดขาดจากระบบเคลียร์บัญชีชำระหนี้ระหว่างประเทศ “SWIFT” และบุคคลสำคัญหลายร้อยรายถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเหยียบย่างเข้าสู่แผ่นดินยุโรปและอเมริกา

“ความเพ้อฝันของโลกเสรี”

ทว่าภายนอกโลกตะวันตก การตอบสนองเป็นไปอย่างระมัดระวังยิ่งกว่านักหนา

ณ เวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม อินเดียและแอฟริกาใต้ต่างงดออกเสียงในการโหวตญัตติเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน

ในละตินอเมริกา ทั้งบราซิลและเม็กซิโกต่างปฏิเสธไม่เข้าร่วมในการแซงก์ชันที่ฝ่ายตะวันตกระดมประกาศกันออกมา

“มีประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องการเน้นย้ำความเป็นอิสระของพวกตนมากกว่า ถึงแม้ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าพวกเขามุ่งมาดปรารถนาที่จะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับฝ่ายตะวันตก และกระทั่งต้องการได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตกด้วยซ้ำ” คริส แลนด์สเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้ กล่าว ทั้งนี้ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์

"มันเป็นเรื่องหนึ่งที่จะประณามการรุกรานยูเครน แต่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเปิดฉากทำสงครามเศรษฐกิจคัดค้านรัสเซีย และประเทศจำนวนมากในอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ไม่พร้อมหรอกที่จะข้ามเส้นขีดแบ่งนี้" ฮอร์เก ไฮเน อดีตเอกอัครราชทูตชิลีประจำอินเดียและแอฟริกาใต้ ให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน

“พวกเขาไม่ต้องการถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในจุดยืนที่จะต้องทำสิ่งซึ่งขัดแย้งกับผลประโยชน์ของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ”

นี่ดูเหมือนจะใช้เป็นคำอธิบายได้เช่นกันในกรณีของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังคงหลีกเลี่ยงไม่ประกาศจุดยืนคัดค้านรัสเซีย ชาติที่เข้าข่ายนี้อีกรายหนึ่งน่าจะเป็นอินเดีย ซึ่งงดออกเสียงระหว่างการโหวตญัตติประณามการรุกรานของรัสเซียในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นในเดือนกุมภาพันธ์

“สำหรับอินเดียแล้ว สงครามคราวนี้ทำให้ต้องมีการตัดสินใจเลือกกันอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนและไม่น่ายินดีเอาเลยว่าจะอยู่ข้างไหนระหว่างฝ่ายตะวันตกกับรัสเซีย เป็นการเลือกที่อินเดียได้กระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้มาแล้วเพื่อหลีกเลี่ยง” เป็นคำอธิบายของ ชีพชันการ์ เมนอน อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของนายกรัฐมนตรีอินเดียยุค มานโมหัน ซิงห์

“สหรัฐฯ คือหุ้นส่วนที่สำคัญมากๆ และไม่อาจขาดเสียได้ในการไปสู่ความทันสมัยของอินเดีย แต่รัสเซียยังคงเป็นหุ้นส่วนสำคัญรายหนึ่งสำหรับเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์และทางการทหาร” เขาเขียนเช่นนี้ในบทความซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ความเพ้อฝันของโลกเสรี : ชาติประชาธิปไตยทั้งหลายต้องการสามัคคีกันคัดค้านรัสเซียจริงหรือ?”

ได้ผลอย่างจำกัด

สำหรับอดีตเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส มิเชล ดูโคลส์ ความโน้มเอียงเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่

“ตั้งแต่ในปี 2015 แล้วในตอนเกิดวิกฤตซีเรียและวิกฤตยูเครนครั้งแรก เราก็ไม่ได้อินเดียหรือบราซิลมาอยู่กับฝ่ายเราหรอก” เขากล่าว “เราต้องถามตัวเองว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ และเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างสะพานเชื่อมที่แข็งแรงยิ่งขึ้นกับประเทศเหล่านี้? คำถามนี้กำลังมีความสำคัญมากขึ้นยิ่งกว่าเมื่อก่อน”

สำหรับในตอนนี้ พวกมหาอำนาจตะวันตกยังคงไม่ลดละความพยายาม

องค์การยูเนสโกกำลังมีการถกเถียงกันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เรื่องย้ายสถานที่ประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในรัสเซียเดือนมิถุนายนนี้

ทว่ามันได้ผลอย่างจำกัดเท่านั้น กล่าวคือ มีการประกาศเลื่อนประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด และยังไม่มีอะไรรับประกันว่ารัสเซียจะถูกกีดกันไม่ให้เป็นเจ้าภาพการประชุมถ้าหากการรุกรานยุติลงแล้ว

ฝ่ายตะวันตกยังใช้ความพยายามทำนองเดียวกันในการประชุมกลุ่มจี20 ของบรรดาประเทศระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก ด้วยการล็อบบี้ให้อินโดนีเซียผู้เป็นประธานในปีนี้ ตัดรัสเซียออกไปจากเวที แล้วลงท้ายก็ถูกปฏิเสธ โดยแดนอิเหนาอ้างเหตุผลว่าต้องปฏิบัติต่อทุกประเทศอย่างยุติธรรม

การที่มาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจที่กระทำไปยังไม่ก่อให้เกิดผลระยะสั้นอะไรชัดเจนออกมา ก็ช่างไม่ช่วยฝ่ายตะวันตกเอาเสียเลย ในการเกลี้ยกล่อมพวกประเทศที่ลังเลอยู่

จูดี เดมป์ซีย์ นักวิเคราะห์แห่งกลุ่มคลังสมอง คาร์เนกี ยุโรป ชี้ว่า แม้การแซงก์ชันจะโหดมากๆ แล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลป้องปรามทำให้ปูตินหยุดขยายการปิดล้อมเมืองมาริอูโปล หรือหยุดถล่มใส่เมืองอื่นๆ ในยูเครน

ส่วน มาเตลลี นักวิจัยชาวฝรั่งเศสยอมรับว่า “ถ้าวัตถุประสงค์คือต้องการให้ ปูติน หวั่นไหว เพื่อที่เขาจะยอมถอนตัวออกจากยูเครนแล้ว คงต้องบอกว่ามันไม่ได้ผล” เธอมองว่า ปูติน อาจจะลดระดับความทะเยอทะยานของเขาในยูเครนลงมา แต่มันเป็นผลจากการสู้รบของกองกำลังยูเครนในสนามรบ มากกว่าผลของการแซงก์ชัน

นักวิเคราะห์บางรายพยายามมองโลกแง่ดี โดยบอกว่ายังจะต้องใช้เวลากว่าที่ผลกระทบชองการแซงก์ชันจะแสดงออกมาให้เห็นอย่างเต็มที่

“สถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของรัสเซียจะชัดเจนยิ่งขึ้นในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม เพราะตอนนี้เศรษฐกิจยังคงทำงานโดยอิงอยู่กับทุนสำรองของพวกเขาที่มีอยู่” เป็นความเห็นของ อเล็กเซย์ เวเดฟ นักวิเคราะห์การเงินรัสเซีย แห่งสถาบันไกดาร์เพื่อนโยบายเศรษฐกิจ

“ทุนสำรองที่มีอยู่กำลังร่อยหรอลงแล้ว แต่ตราบใดที่มันยังมีอยู่ ก็ทำให้การแซงก์ชันไม่เป็นที่รู้สึกกันอย่างเต็มที่” เขากล่าวต่อ

(เก็บความจากเรื่อง Is Russia as isolated as Ukraine's allies hope? ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น