xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มอาหารรับผลสงคราม ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง-ฉุดกำไรหุ้นเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มอาหารรับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไร เหตุต้นทุนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น จากกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ส่งออกหลักของธัญพืช โบรกฯ คาดไตรมาสแรกผลงานฟื้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อน มองร้านอาหารรับผลกระทบน้อยสุด ส่วนกลุ่มฟาร์มสัตว์บกหนักสุด ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 2565 ระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มอาจเติบโตราว 3.1%

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.เคจีไอฯ เชื่อว่าปี 2565 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับหุ้นกลุ่มอาหารเนื่องจากมีความเสี่ยงหลายประการ ซึ่งรวมถึงเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ส่งออกหลักของธัญพืช อย่างเช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด ราคาธัญพืชจึงขยับเพิ่มขึ้นอย่างมากมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อหุ้นบางตัวในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตเนื้อสัตว์ และ R&B Food Supply (RBF.BK/RBF TB) เนื่องจากต้องนำเข้าธัญพืชเพื่อมาใช้ในการผลิตสินค้า ในขณะเดียวกัน การที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งในจีนและฮ่องกงจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นกับบริษัทที่มีธุรกิจใน 2 ประเทศนี้ (After You (AU.BK/AU TB) และ Charoen Pokphand Food (CPF.BK/CPF TB))

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ sensitivity ของ บล.เคจีไอฯ พบว่าต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่องหนึ่งไตรมาสจะกระทบผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเกษตรมากกว่ากลุ่มย่อยอื่นๆ ถ้าหากราคาถ่านหิน และกากถั่วเหลืองยังสูงเท่าระดับปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงหนึ่งไตรมาส จะทำให้ประมาณการกำไรของ GFPT (GFPT.BK/GFPT TB) มี downside 17% และของ CPF มี downside 11% อย่างไรก็ตาม  ผลกระทบอาจจะน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะสามารถส่งผลต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้าได้มากแค่ไหนและเร็วแค่ไหน บล.เคจีไอฯ คิดว่า CPF มีความสามารถที่จะส่งผ่านต้นทุนได้มากกว่า GFPT เนื่องจากมีอำนาจทางการตลาดสูงกว่า ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจร้านอาหารน่าจะสามารถส่งผ่านต้นทุนได้มากกว่าหุ้นในกลุ่มย่อยอื่นๆ ซึ่งบางบริษัทได้เริ่มปรับราคาขายไปแล้ว 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้ของบริษัทกลุ่มอาหารในปี 2565F เนื่องจาก บล.เคจีไอฯ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวถึง 4.3% จากเพียง 0.3% ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม บล.เคจีไอฯ มองว่า แนวโน้มการเติบโตเหมือนจะแผ่วลงกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้เพราะกำลังซื้อที่ลดลงอาจจะกระทบอุปสงค์ของสินค้าอาหาร ขณะเดียวกัน คาดว่าอุปสงค์การส่งออกจากตลาดเอเชียจะยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นบวกกับหุ้นในกลุ่มอย่างเช่น Sunsweet (SUN.BK/SUN TB) และ RBF อย่างไรก็ตาม บล.เคจีไอฯ ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังกับเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากกรณีพิพาทกับรัสเซีย ขณะเดียวกัน การที่บางบริษัทในกลุ่มขยายกำลังการผลิต (SUN และ GFPT) และขยายสาขาร้านใหม่ (Zen Corporation Group (ZEN.BK/ZEN TB)) จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโต ขณะเดียวกัน RBF จะได้แรงหนุนจากผลิตภัณฑ์ใหม่จากกัญชง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำรายได้ให้บริษัทในไตรมาสแรกปี 65

บล.เคจีไอฯ ยังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มอาหารที่ Neutral เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่ที่ บล.เคจีไอฯ ศึกษาอยู่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้จากฐานกำไรที่ต่ำเป็นพิเศษในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บล.เคจีไอฯ มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นกับอัตรากำไรและกำลังอยู่ระหว่างประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ บล.เคจีไอฯ เลือก SUN เป็นหุ้นเด่นของ บล.เคจีไอฯ ในกลุ่มนี้ จากประเด็นการขยายกำลังการผลิต GPM ที่เพิ่มขึ้นจาก product mix และราคาหุ้นที่ไม่แพง

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้าฯ ประเมินแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสแรกปี 65 ของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะยังฟื้นตัวเทียบไตรมาสก่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ บล.หยวนต้าฯ ประเมินว่า กลุ่มที่ได้ผลกระทบด้านต้นทุนน้อยสุดคือกลุ่มร้านอาหารที่สามารถปรับราคาขายได้ง่ายและรวดเร็วกว่า และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือกลุ่มฟาร์มสัตว์บก ด้วยลักษณะของสินค้าที่มักถูกควบคุมราคา ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มมีประเด็นบวกเฉพาะตัวที่เป็นช่วง High Season และสินค้าใหม่เป็น Catalyst

ดังนั้น บล.หยวนต้าฯ ปรับมุมมองลงเป็นกลางต่อกลุ่มแม้ว่ารายได้จะกลับมาเติบโตได้ดีในทุกไตรมาส แต่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น กดดัน GPM ของกลุ่ม โดยที่ระดับราคาน้ำมันเกินกว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถือว่าอยู่เหนือความคาดหมายของบริษัท จึงปรับคำแนะนำการลงทุนลงเป็น “เท่ากับตลาด” เลือก ICHI เป็น Top pick กลุ่มเครื่องดื่มด้วยแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาด ชาเขียวที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มเครื่องดื่ม และมี Catalyst จากสินค้าใหม่ในไตรมาส 2 ปี 65 ดังนั้น จึงเลือก M สำหรับตัวเลือกลงทุนระยะกลาง-ยาว คาดเติบโตเด่นเทียบปีก่อนทุกไตรมาสของปีจาก Traffic ภายในร้านที่กลับมาใกล้เคียงสถานการณ์ปกติ จึงปรับคำแนะนำของ GFPT ขึ้นจาก Trading เป็น “ซื้อ” หลังราคาหุ้นปัจจุบัน มี Upside 24.4% และมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น

บล.ทิสโก้ มองจากการที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ซาอุดีอาระเบียจะอนุญาตให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 19 ปี โดยจะอนุญาตให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยได้จาก 11 โรงงานที่ได้เดินทางมาตรวจล่วงหน้าในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีบริษัท GFPT และ CPF รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียนำเข้าไก่ปีละประมาณ 6 แสนตัน นำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส ส่วนข้อมูลการส่งออกไก่ของไทยไปซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี จากปีล่าสุด 2545-2546 มียอดส่งออก 57 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท ตามลำดับ และหลังจากนั้นไทยไม่สามารถส่งออกได้สำหรับการส่งออกไก่ของไทยไปทั่วโลกในปี 2564 จากไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปรวม 9 แสนตัน มีมูลค่า 1 แสนล้านบาท

ขณะที่ข่าวการนำเข้าไก่จากซาอุดีอาระเบีย ไม่น่าจะมีผลในด้านการส่งออกของ GFPT เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกส่วนใหญ่เป็นไก่แปรรูปปรุงสุกมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ซาอุดีอาระเบียจะนำเข้าไก่สดแช่แข็ง ปัจจุบัน GFPT มีการส่งออกไก่แปรรูปปรุงสุกทั้งทางตรงและทางอ้อมไปประเทศญี่ปุ่นและยุโรปประมาณ 35% สำหรับ TFG ยังไม่มีชื่อใน 11 โรงงานที่อนุญาตให้นำเข้า TFG มีการส่งออกส่วนใหญ่เป็นไก่สดแช่แข็งไปประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเช่นกันประมาณ 14% ของรายได้รวม

ดังนั้น มุมมองของ บล.ทิสโก้ เชื่อว่าข่าวนี้จะส่งผลบวกและเป็นโอกาสให้ภาพรวมอุตสาหกรรมไก่ดีขึ้นในด้าน supply และราคาไก่ทรงตัวดีขึ้น สำหรับปัจจุบันราคาไก่ยังทรงตัวระดับสูงอยู่ที่ 40 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับเฉลี่ยทั้งปีที่ผ่านมา จากความต้องการในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ รวมถึงการบริโภคไก่ทดแทนราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันราคาหมูอยู่ที่เฉลี่ย 90 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 22% เทียบกับเฉลี่ยปีที่ผ่านมา สำหรับต้นทุนกากถั่วเหลืองและข้าวโพดอาหารสัตว์มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เทียบกับเฉลี่ยทั้งปีที่ผ่านมา บล.ทิสโก้ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” GFPT และ TFG ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 16.20 บาท และ 5.75 บาทตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปี 2565 ระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มอาจเติบโตราว 3.1% (เมื่อเทียบกับปีก่อนขยายตัว 0.4%) เพราะผลจากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียดและส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตของระดับราคาสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มาก ได้แก่

“กลุ่มน้ำมันพืช” คาดว่าทิศทางราคาน้ำมันพืชปี 2565 มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ทั้งน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง สวนทางกับปริมาณการผลิตที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

“กลุ่มเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ผลิตภัณฑ์นมและไข่)” โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร ที่คาดว่าปี 2565 ราคาน่าจะยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2564 จากจำนวนผลผลิตสุกรที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับ ต้นทุนอาหารสัตว์ (เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง) ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้น ตลอดจนต้นทุนในการบริหารจัดการภายในโรงงานที่ปรับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ธุรกิจปลายน้ำที่นำวัตถุดิบไปใช้อย่าง ธุรกิจร้านอาหาร โรงงานอาหารแปรรูป/สำเร็จรูป เผชิญความท้าทายด้านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์)” แม้ว่าภาครัฐยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น มอลต์ (สกัดจากธัญพืช เช่น บาร์เลย์ ข้าวสาลี เป็นต้น) ราคาบรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) รวมถึงต้นทุนด้านขนส่ง อาจส่งผลให้สินค้าในบางรายการมีโอกาสขยับราคาขึ้นได้ เช่น เบียร์ น้ำอัดลม เป็นต้น

ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวของระดับราคาในสัดส่วนที่รองลงมา คือ “ผลิตภัณฑ์จากพืชผลการเกษตร” เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช (เช่น ข้าว ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง) คาดว่าด้วยผลผลิตในปีนี้จะออกมาสู่ตลาดมาก อาจส่งผลให้ระดับราคาเติบโตได้อย่างจำกัดในกรอบแคบๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากกว่าการนำเข้า อีกทั้งในบางสินค้ามีการลดการผลิตลงให้สอดรับกับสภาพตลาด ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับของผลกระทบคงมีน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ

ในมิติของการบริโภคภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของระดับการบริโภคสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 คงจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.6% (เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 2.1%)

โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าปริมาณการบริโภคจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย ได้แก่ ผัก ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐานที่ยังจำเป็นต่อการบริโภค ซึ่งผู้บริโภคยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายอยู่ นอกจากนี้ แม้แนวโน้มของต้นทุนการผลิตจะขยับขึ้น แต่ในหลายรายการยังเป็นสินค้าควบคุม ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะไม่จำกัดการซื้อมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอื่นๆ

ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่า ปริมาณการบริโภคน่าจะหดตัว คือ กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์) ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล ผลไม้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาจำหน่ายสูงและมีความจำเป็นรองลงมา รวมถึงกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มของราคาเพิ่มสูงต่อเนื่อง เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช ซึ่งคาดว่าผู้บริโภคอาจจำกัดการซื้อลงบ้าง เพื่อให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด

ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนกระทบกับระดับราคาสินค้า แต่ด้วยสินค้าอาหารและเครื่องดื่มถือเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน สะท้อนจากบทบาทของปริมาณการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่มีอยู่ราว 21% ของปริมาณการบริโภคของภาคเอกชน ทำให้คาดว่า ภายใต้กำลังซื้อผู้บริโภคที่มีจำกัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นหลัก แต่จะพยายามควบคุมงบประมาณและระมัดระวังกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหารและโรงแรม เป็นต้น

จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศปี 2565 อาจอยู่ที่ระดับ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.9-2.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5% โดยการเติบโตของมูลค่าตลาดมาจากผลด้านราคาเป็นหลัก (ซึ่งขยายตัวราว 3.1% เทียบปีก่อน) จากต้นทุนการผลิตที่ขยับขึ้นและส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาจำหน่าย ในขณะที่ระดับการบริโภคในภาพรวมอาจทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย (ที่ 0.6% จากปีก่อน)

อย่างไรก็ดี อาจต้องติดตามสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อีก โดยจากผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภค โดยคาดว่าผู้บริโภคจะให้น้ำหนักต่องบประมาณในการใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปตามความจำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น