เศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้านแต่ที่เกินคาดหมายไว้คงหนีไม่พ้น “ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน” จนนำมาสู่มาตรการคว่ำบาตรตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐ ชาติตะวันตกกับรัสเซีย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ท้ายสุดได้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบกับประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งจากระดับราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไปจนถึงสินค้าหลายรายการทั้งอุปโภค บริโภคไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ข้าวสาลี ข้าวโพด เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิล ฯลฯ
ล่าสุดแม้ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มลดต่ำลงหลังสหรัฐและกลุ่มสมาชิกของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศระบายคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาแต่กระนั้นระดับราคาน้ำมันภาพรวมหลายฝ่ายต่างก็มองว่าจะทรงตัวระดับสูงเฉลี่ย 100 เหรียญต่อบาร์เรล และผลพวงทั้งราคาน้ำมัน และระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อให้กับทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยที่ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551
อัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดหลายๆ สำนักต่างทยอยปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงกันเป็นรายเดือนยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยยังคงสูง .... โดยเฉพาะไตรมาส 2 นี้ที่ปัจจัยต้นทุนการผลิตล็อตใหม่กำลังจะมาถึงหลังสต็อกสินค้าเก่าที่เป็นต้นทุนเดิมเริ่มจะทยอยหมดลง ...ซึ่งอาจกดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นอีกได้ และนั่นหมายถึงภาระค่าครองชีพของประชาชนคนไทยย่อมสูงขึ้นท่ามกลางภาวะรายได้ที่สวนทางลดลง...สิ่งเหล่านี้ภาคเอกชนซึ่งคลุกคลีกับระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงย่อมมองเห็นสัญญาณก่อนใคร …
ว่างงาน-หนี้ครัวเรือน-เงินเฟ้อโจทย์ยากศก.Q2
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย )และในฐานะผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า วิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลกเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากและจะเป็นแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากคลังสินค้าเริ่มว่างลงแล้วซึ่งนั่นหมายถึงสินค้าที่เป็นสต็อกเก่าทยอยหมดลงและสินค้าล็อตใหม่ที่เป็นต้นทุนใหม่ที่สูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง วัตถุดิบต่างๆจะมาแทนที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจะทยอยปรับตัวสูงอย่างน้อย 10% ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในอัตราสูงก็จะยิ่งกดดันการบริโภคของคนไทยต่ำลงอีก
“ 3 เดือนจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยเสี่ยงและมีความแปรปรวนมากสุดโดยเฉพาะปัจจัยที่มาจากเงินเฟ้อที่ข้าวของ-ราคาปรับตัวสูง ปัจจัยเสริมมาจากสิ้นเดือนเมษายนรัฐบาลจะเลิกอุดหนุนน้ำมันดีเซลที่ตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตรโดยจะช่วยจ่ายชดเชยแค่ครึ่งหนึ่งหากยึดราคาขณะนี้ดีเซลอาจจะขยับไปอีกราว 4บาทต่อลิตรก็อาจจะยิ่งเร่งให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอีกและยังไม่รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)ที่เพิ่มขึ้นอีกในงวดพ.ค.-ส.ค. และแอลพีจีขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ต่อเนื่อง 3 เดือนเริ่มตั้งแต่เม.ย.อีก ”นายธนิตกล่าว
สำหรับอัตราการว่างงานจากระบบประกันสังคม(ม.33) ณ เดือนก.พ. เทียบก่อนโควิดระบาดยังหายไป 540,242 คนซึ่งยังถือว่าสูงและการว่างงานรวมว่างงานแฝงที่ยังมีถึง 1.16 ล้านคน สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติก.พ.ที่ระบุถึง “ประชากรคืนถิ่น” ออกจากกทม.และเมืองใหญ่มีสูงถึง 1.7 ล้านคนสูงกว่าช่วงโควิดระบาด 3.7 เท่าซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่อีก 5 แสนคนก็จะเห็นว่าตลาดแรงงานยังคงเปราะบางต่อเนื่อง ขณะที่การท่องเที่ยวจะเป็นกลไกสำคัญการจ้างงานเพิ่มเพราะมีแรงงานในระบบมากกว่า 3 ล้านคนแต่ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวของต่างชาติที่เคยมีถึง 38.89 ล้านคนจะยังมีเข้ามาปี 2565 เพียง 5-6 ล้านคนเท่านั้น หากท่องเที่ยวไม่ฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวมก็ยากจะกลับมาเหมือนเดิม
“ ผมมีฐานลูกค้าทั้งที่ขายสินค้าในประเทศและต่างประเทศ 400 รายมีการสำรวจและตอบแบบสอบถามกลับมากว่า 300 ราย มองว่าการส่งออกปีนี้แม้จะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การส่งออกของไทยไตรมาส 2 เป็นอะไรที่เขากังวลเพราะวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนทำให้ค่าระวางเรือสูงขึ้นมาก และเซี่ยงไฮ้มีการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่รวมถึงท่าเรือที่มีตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียน 20 ล้านตู้ต่อปีอาจนำมาซึ่งปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์ได้ ”นายธนิตกล่าว
ภาพรวมเหล่านี้นับเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลเพราะต้องการเร่งการบริโภคแต่ประชาชนไม่มีเงิน ขณะที่งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเองยังมีจำกัดโดยมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ที่มี 1.5 ล้านล้านบาทได้หมดลง จึงต้องประคองเศรษฐกิจจากโอมิครอนที่ยังคงระบาดและเงินเฟ้อสูงในช่วงนี้ไปก่อนซึ่งเห็นว่าท้ายสุดรัฐบาลจำเป็นต้องอัดเงินเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท
ส.อ.ท.หวั่นห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่าการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนั้นหากมองทางด้านทหารอาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนแต่สิ่งที่กังวลคือผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจจะยืดเยื้อนานนับปี เนื่องจากมาตรการคว่ำบารต(Sanctions)ตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐ สหภาพยุโรป(อียู) กับรัสเซีย จะคงอยู่และกระทบต่อคนทั่วโลกโดยเฉพาะการที่ระดับราคาพลังงาน และราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย ข้าวสาลี ข้าวโพด เหล็ก บรรจุภัณฑ์อาหาร ฯลฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน
“ รัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนการส่งออกปุ๋ย 22 % ของการส่งออกโลก เช่นเดียวกับข้าวสาลีที่รัสเซียและยูเครนส่งออกคิดเป็น 24.5% ของการส่งออกโลก ซึ่งราคาทั้งปุ๋ยที่เป็นต้นทุนในการทำเกษตรกรรม และข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารสัตว์ราคาตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้น 2-3เท่าตัว หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายบางทวีปอาจเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนอาหารได้ในปลายปีนี้”นายเกรียงไกรกล่าว
อย่างไรก็ตามไม่เพียงเฉพาะด้านอาหาร แต่ภาคการผลิตที่สำคัญก็ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับเหล็กที่ราคาแพงขึ้นอย่างมาก และยังไม่รวมถึงนิกเกิล อะลูมิเนียม พลาสติก เหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์โดยรวม ที่มีผลให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคล้วนต้องปรับขึ้นราคาหากแต่ละอุตสาหกรรมจะปรับไม่เท่ากันขึ้นอยู่ภาวะตลาด และประเภทสินค้าว่าโดนควบคุมมากน้อยเพียงใด โดยผู้ผลิตและส่งออกบางส่วนได้ผลักภาระให้กับผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้าแล้วและแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังจากขณะนี้สต็อกสินค้าเก่าเริ่มทยอยหมดลง ซึ่งปกติผู้ค้าจะสต็อกสินค้าราว 3-6 เดือน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่กังวลคืออย่าไปถึงจุดที่สินค้าเกิดภาวะขาดแคลนจากการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยปัจจัยที่จะนำไปสู่ปัญหาดังกล่าวคือกรณีการปิดวาวล์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรป ซึ่งเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส รับก๊าซฯจากรัสเซียค่อนข้างมากและยังเป็นประเทศชั้นแนวหน้าในการผลิตอุตสาหกรรมหนักหลายอย่างซึ่งหากเกิดปัญหานี้จะเกิดภาวะการชะงักงันของระบบการผลิตทันที
“ เราคงต้องติดตามใกล้ชิดว่า การสู้รบรัสเซีย-ยูเครนจะจบตรงไหน หากไม่ขยายพื้นที่แล้วมีเฉพาะมาตรการแซงชั่นไปมาก็อาจจะยังอยู่ในวิสัยที่พอจะรับมือกันได้แม้สินค้าต่างๆจะขึ้นราคาและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก แต่หากขยายพื้นที่จะยิ่งซ้ำเติมหนักกว่าเดิมแน่นอน สำหรับไทยแล้วสินค้าที่ทยอยขึ้นก็ทำให้เกิดภาวะแรงซื้อคนไทยยิ่งตกต่ำลงเป็นลูกโซ่ ดังนั้นรัฐต้องเร่งหาทางลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มเติมให้เร็วสุด”นายเกรียงไกรกล่าว
สรท.หวั่นไตรมาส2ส่งออกลดลง
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.ยังคงติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิดยอมรับว่าหากยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย ในไตรมาส 2 ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าการเติบโตจะอยู่ที่ 2-4% จากไตรมาสแรกปีนี้ที่คาดว่าการส่งออกจะโตได้ในระดับ 8% เนื่องจากคำสั่งซื้อได้วางไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
“ เรายังมองว่าการส่งออกปี 2565 ทั้งปีจะยังขยายตัวได้ 5% จากปีก่อนหรือมีมูลค่าอยู่ที่ 284,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากจะส่งออกได้ตามเป้าหมายดังกล่าวจากนี้เฉลี่ยต่อเดือนไทยต้องส่งออกอยู่ที่ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากอาจทำให้มีการหยุดชะงักหรือชะลอตัวในภาคการผลิตเพื่อส่งออก จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด”นายชัยชาญกล่าว
อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทรวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มจากวิกฤติการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน ทำให้แนวโน้มราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคจำนวนมากต้องทยอยปรับขึ้นราคาเนื่องจากราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ที่แพงขึ้นแล้วบางรายการสินค้ายังเริ่มขาดแคลนและมีราคาผันผวนสูง อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, แร่หายาก อาทิ นีออน แพลเลเดียม และแพลทินัม, สินค้าธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี, ข้าวโพด รวมไปถึงวัตถุดิบการผลิตปุ๋ย เป็นต้น
นายชัยชาญกล่าวว่า ปัจจุบันข้อพิพาททำให้ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนสูงดังนั้นจึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมกับผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มและเอื้อต่อการส่งออก รวมถึงสนับสนุนการคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ต่อเนื่อง รวมถึงให้รัฐควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อาทิ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
จากตัวอย่างมุมมองของเอกชนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 โดยเฉพาะจากผลกระทบการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นปัจจัยภายนอกซึ่งไทยอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก....การปกป้องเศรษฐกิจของประเทศส่วนหนึ่งจึงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากมาตรการของภาครัฐรอบด้านเพื่อประคองให้ไทยฝ่าด่านภาวะเศรษฐกิจชะงักงันไปให้ได้