xs
xsm
sm
md
lg

ศึกหฤโหดชิง ‘เมืองมาริอูโปล’ ชี้ให้เห็นถึง ‘จุดอ่อน’ ทั้งของทัพยูเครนและทัพรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนดรูว์ แซลมอน ***


ธงยูเครนขาดๆ แขวนอยู่กับเส้นลวด บริเวณด้านหน้าของอาคารที่พักอาศัยซึ่งถูกทำลายยับเยิน จากการสู้รบกันระหว่างกองกำลังอาวุธของยูเครนและของรัสเซีย ที่เมืองมาริอูโปล วันที่ 14 เมษายน 2022  ทั้งนี้ การสู้รบอย่างดุเดือดและยืดเยื้อคราวนี้ บ่งชี้ให้เห็นจุดอ่อนทางการทหารของทั้งฝ่ายเคียฟและฝ่ายมอสโก
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

No winners in brutal battle for Mariupol
by Andrew Salmon
19/04/2022

การตายอย่างทุกข์ทรมานของมาริอูโปล เมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของยูเครน เป็นลางร้ายสำหรับฝ่ายเคียฟที่กำลังจะต้องป้องกันภูมิภาคดอนบาสส์โดยพึ่งพาการสู้รบแบบเคลื่อนที่ ขณะเดียวกัน มันก็เผยให้เห็นจุดอ่อนของการทำสงครามในเขตเมืองใหญ่ของฝ่ายมอสโก

มาริอูโปล เมืองทางภาคใต้ของยูเครน โดยสาระสำคัญต้องถือว่าแตกแล้ว กระนั้นก็ตาม มันยังจะมีฉากสุดท้ายของการสู้รบเกิดขึ้นมาอีก นั่นคือ กองทหารรัสเซียซึ่งควบคุมเมืองท่าสำคัญที่ตกอยู่ในสภาพซากปรักหักพังแห่งนี้ ยังจะต้องบุกเข้าไปยึดที่มั่นสุดท้ายของกองกำลังต่อต้านเดนตายของฝ่ายยูเครน ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก อีกทั้งมีลักษณะเป็นป้อมปราการที่แข็งแรง

พวกนักรบป้องกันเมืองท่าบนทะเลอาซอฟแห่งนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ ยังคงปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ยอมจำนน ซึ่งออกโดยกองกำลังอาวุธฝ่ายรัสเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และอีกครั้งหนึ่งในวันอังคาร (19 เม.ย.)

แต่ถึงแม้พวกเขายังคงท้าทายกองกำลังฝ่ายเข้าตีที่มีความเหนือกว่าในทุกๆ ด้านอย่างไม่หยุดไม่หย่อน ชะตากรรมของนักรบยูเครนเหล่านี้ –ซึ่งอยู่ในภาวะติดกับ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พวกสื่อและคอนเมนเตเตอร์นักให้ความเห็นผ่านสื่อหลายๆ รายของฝ่ายตะวันตก นำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในเมืองสตาลินกราด ของสหภาพโซเวียตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นสมรภูมิการสู้รบตามท้องถนนที่เลวร้ายเหมือนอยู่ในแดนนรกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการทหาร— ก็ชี้ให้เห็นถึงรูโหว่ข้อบกพร่องเบ้อเริ่มรูหนึ่งในทางการทหารของฝ่ายยูเครน
(ดูเพิ่มเติมความเห็นของพวกสื่อและคอมเมนเตเตอร์ฝ่ายตะวันตกได้ที่ https://www.google.com/search?q=Mariupol+Stalingrad&hl=en&sxsrf=APq-WBtLIYaeMpGN_8AeVXF2WGjjRmfsSg:1650352718286&source=lnms&tbm=nws&sa=X&ved=2ahUKEwiF7Jv8yp_3AhU2xIsBHRIrCoEQ_AUoA3oECAEQBQ&biw=1536&bih=722&dpr=1.25)
(สตาลินกราด Stalingrad ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น วอลโกกราด Volgograd เป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางภาคใต้ของรัสเซีย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีและกองกำลังของฝ่ายอักษะบุกเข้าตีเมืองนี้ และในปี 1942 สตาลินกราดกลายเป็นพื้นที่ของการสู้รบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของมหาสงครามคราวนั้น ทั้งนี้ สมรภูมิสตาลินกราดกลายเป็นสมรภูมินองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งการสงครามทั้งหลาย โดยจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีการประเมินเอาไว้ต่างๆ กันตั้งแต่ 1,250,000 คน ไปจนถึง 1,798,619 คน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Volgograd -ผู้แปล)

กองกำลังป้องกันเมืองมาริอูโปล ถูกผลักดันให้ต้องถอยร่นจนเข้าสู่มุมอับอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากกรุงเคียฟไม่มีความสามารถที่จะเปิดการปฏิบัติการรุกแบบเคลื่อนที่ (mobile operation) ใดๆ ขึ้นมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระรับศึกของพวกเขา หรือให้ดีกว่านั้นอีกก็คือสามารถช่วยรักษาเมืองของพวกเขาให้ปลอดภัย เรื่องนี้อาจจัดเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งในสมรรถนะด้านการเคลื่อนกำลังอย่างพลิกแพลงคล่องตัวของฝ่ายยูเครน ในห้วงเวลาที่ฝ่ายรัสเซียกำลังเตรียมการเพื่อเปิดการรุกครั้งใหญ่โตมโหฬารขึ้นในภาคตะวันออกของยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/04/the-big-showdown-carthage-in-the-donbas/)

เป็นไปได้เหมือนกันที่กรุงเคียฟกำลังพยายามรักษาหน่วยรบเคลื่อนที่สำคัญๆ ของพวกเขาเอาไว้ –โดยรวมกลุ่มกันอยู่ภายในจำนวนกำลังทหาร 40,000 คน ซึ่งประกอบอาวุธพรั่งพร้อมด้วยยานเกราะและปืนใหญ่ขนาดหนัก ในแนวรบประจันหน้ากับพวกแบ่งแยกดินแดนชาวรัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครนเวลานี้— เพื่อรอเวลาสำหรับการสู้รบใหญ่ครั้งตัดสินชี้ขาดซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อในภูมิภาคดอนบาสส์

หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นเพราะกรุงเคียฟตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า ตนไม่มีความสามารถเปิดปฏิบัติการโจมตีอย่างอาจหาญทะเยอทะยานในพื้นที่ซึ่งอยู่ไกลออกไปอย่างมาริอูโปล ในท่ามกลางเขี้ยวเล็บของกองกำลังทางอากาศและทางภาคพื้นดินเต็มพิกัดของฝ่ายรัสเซีย

สภาพเช่นนี้ทำให้โดยสาระสำคัญแล้วพวกกองกำลังป้องกันมาริอูโปลต้องอยู่ในสนามรบอันสิ้นหวัง และภาระหน้าที่สำคัญของพวกเขาคือการสู้รบเพื่อซื้อเวลา กล่าวคือ การอาศัยความห้าวหาญทรหดของพวกเขามาตรึงกำลังหน่วยทหารต่างๆ ของรัสเซียไม่ให้สามารถถอนออกไปทำการสู้รบในพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ การตระเตรียมสนามรบ --ทั้งการที่รัสเซียเปิดการถล่มโจมตีขนาดใหญ่ ขณะที่กองกำลังระดับท้องถิ่นของฝ่ายนี้ก็เข้าโจมตีเพื่อยึดที่มั่นชัยภูมิซึ่งสามารถใช้ในการโจมตีอย่างได้เปรียบ— กำลังเดินหน้าไปแล้วในอาณาบริเวณซึ่งดูน่าจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดของการสงครามคราวนี้ อันได้แก่ ดอนบาสส์

อย่างไรก็ดี ถึงแม้พวกนักรบป้องกันมาริอูโปลเปรียบเหมือนกับดวงตะวันที่กำลังใกล้จะตกดิน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าหลังจากเวลาผ่านไป 7 สัปดาห์ กำลังฝ่ายเข้าตียังคงไม่สามารถสยบกำลังฝ่ายต้านทานที่ด้อยกว่ากันมากทั้งในเรื่องจำนวนกำลังพลและอำนาจการยิง ก็ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสมรรถนะทางการทหารของฝ่ายมอสโกขึ้นมาเช่นกัน

สมาชิกของกองทหารฝ่ายโปรรัสเซียรายหนึ่ง ลำเลียงลูกระเบิดที่ใช้ยิงจากเครื่องยิงจรวด เข้าไปในยานหุ้มเกราะสู้รบของทหารราบ ระหว่างการสู้รบในศึกยูเครน-รัสเซีย ที่บริเวณใกล้ๆ โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทเหล็กและเหล็กกล้า “อาซอฟสตัล” ในเมืองมาริอูโปล เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2022 ทั้งนี้ ทหารราบรัสเซียจะเป็นกำลังรบหลักในสงครามชิงภูมิภาคดอนบาสส์
ความล้มเหลวในการรณรงค์ทำศึกในภาคเหนือยูเครนของรัสเซียช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ –ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการเปิดการรุกแบบฉับพลันเกินคาดคิดตั้งแต่ตอนต้นๆ เพื่อตีเมืองหลวงเคียฟ ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ แล้วยังตามมาด้วยความพยายามที่จะปิดล้อมจุดสำคัญต่างๆ เป็นชุดซึ่งก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน— มีความผิดแผกแตกต่างเป็นอย่างมากกับสิ่งที่ปรากฏออกมาในภาคใต้ ณ ที่นั้น มาริอูโปลเป็นเมืองสำคัญเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่กองกำลังอาวุธฝ่ายรัสเซียไม่เพียงแต่เข้าไปปิดล้อม แต่ยังยกกำลังบุกเข้าไปยึดจริงๆ อีกด้วย

นี่นำไปสู่การสู้รบอย่างดุเดือดที่สุดของสงครามคราวนี้เท่าที่ปรากฏให้เห็นจนถึงเวลานี้ อย่างไรก็ดี การที่รัสเซียต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักหน่วงสำหรับการเข้ายึดเมืองใหญ่ที่ตอนก่อนสงครามมีประชากรระดับ 430,000 คนแห่งนี้ ทำให้ดูไม่น่าเป็นไปได้ที่เครมลินจะสามารถรวบรวมกำลังพลได้อย่างมากมายจนเพียงพอแก่การเข้าโจมตีเคียฟ --เมืองที่มีการขยายตัวเป็นพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวางยิ่งกว่านักหนา อีกทั้งจำนวนประชากรก่อนสงครามก็มีถึง 2.9 ล้านคน

ขณะที่การยึดเคียฟเอาไว้ได้ ก็คือเท่ากับการได้แบรนด์ที่มีคุณค่าเอาไว้ในกำมือสำหรับเครมลิน กระนั้น มันมีเหตุผลอันหนักแน่นทั้งทางยุทธศาสตร์และทางการเมืองสำหรับสนับสนุนความเห็นที่ว่า มาริอูโปลต่างหากที่น่าจะทรงความสำคัญในระดับความเป็นความตายมากยิ่งกว่าเมืองหลวงยูเครนเสียอีก

ในทางยุทธศาสตร์ มาริอูโปลตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของพื้นที่ระเบียงแผ่นดินยาวๆ แคบๆ แนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเชื่อมแหลมไครเมียเข้ากับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย นอกจากนั้น เมืองนี้ยังเป็นเมืองท่าริมทะเลอาซอฟที่สำคัญแห่งหนึ่ง รวมทั้งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในแนวแกนเหนือ-ใต้ ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการเรื่องการติดต่อและการขนส่งแก่ภูมิภาคดอนบาสส์ ที่รัสเซียมีความมุ่งมั่นจะเข้ายึดครองให้ได้

สำหรับในทางการเมือง มาริอูโปล คือฐานที่มั่นหลักของกองกำลังอาวุธชาตินิยมสุดขั้ว “กรมทหารอาซอฟ” (Azov Regiment) หน่วยสู้รบที่ผ่านการปลุกระดมมีขวัญสู้รบสูง ซึ่งคอยป้องกันไม่ให้พวกแบ่งแยกดินแดนชาวรัสเซียสามารถเข้ายึดเมืองซึ่งประชากรพูดภาษารัสเซียแห่งนี้ไปได้สำเร็จเมื่อปี 2014
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ข้อเขียนของผู้เขียนในเอเชียไทมส์ https://asiatimes.com/2022/03/zelensky-isnt-a-nazi-but-some-of-his-soldiers-are/)

ในเวลาต่อมา อาซอฟได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์ชาติของยูเครน (Ukrainian National Guard) และทำการสู้รบอย่างมีประสิทธิภาพในการต่อต้านพวกแบ่งแยกดินแดนทั้งในลูกานสก์ และในโดเน็ตสก์ เวลาเดียวกันนั้นก็ขยายกิจกรรมของพวกตนเข้าไปในแวดวงด้านการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและการให้การศึกษาแก่เยาวชนด้วย
(ลูกานสก์ Lugansk เป็นชื่อเรียกในภาษารัสเซีย ขณะที่ในภาษายูเครนจะใช้ว่า ลูฮานสก์ Luhansk อย่างไรก็ดี ทั้งสองคำต่างมีผู้ใช้กันกว้างขวาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Luhansk -ผู้แปล)

อาซอฟ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมาก กับขบวนการระดับโลกที่มุ่งเชิดชูคนผิวขาวเป็นเผ่าพันธุ์เหนือมนุษย์กว่าคนผิวพรรณสีอื่นๆ (global white supremacy movement) โดยในสมาชิกของพวกเขาก็มีทั้งพวกขวาจัดและติดเครื่องหมายแสดงตนแบบนาซี การที่พวกเขาป้องกันเมืองมาริอูโปลอย่างดุดันเข้มแข็ง ทำให้หน่วยนี้ได้รับการเคารพยกย่องจากสูงในสายตาของชาวยูเครน เวลาเดียวกันนั้นพวกสื่อมวลชนระหว่างประเทศจำนวนมากก็มองข้ามเมินเฉยต่อภูมิหลังอันน่าระแวงสงสัยของพวกเขา และมุ่งเน้นแต่สมรรถนะการสู้รบอย่างน่าประทับใจของพวกเขาเท่านั้น

การกำจัดกวาดล้างหน่วยรบนี้ บางทีอาจจะถูกจัดให้เป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมที่สุดของ “การกำจัดนาซี” (denazifying) ออกไปจากยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศอย่างชัดเจนว่า เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญยิ่ง 1 ใน 2 ประการ ในการบุกยูเครนของรัสเซียคราวนี้ และข้อความนี้ยังถูกประกาศเน้นย้ำกันครั้งแล้วครั้งเล่าในตลอดทั่วทั้งรัสเซีย
(ปูตินประกาศว่า “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียในยูเครนคราวนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการทำให้ยูเครน “ไม่มีการสร้างสมกำลังทหาร” demilitarize และ “ปราศจากนาซี” denazify ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1409189 -ผู้แปล)

การจับกุมพวกสมาชิกในกองทหารอาซอฟ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่สักร่างกายด้วยสัญลักษณ์นาซี— ตลอดจนพวกนักรบรับจ้างต่างชาติเพิ่มมากขึ้น—จากที่เวลานี้มีชาวสหราชอาณาจักร 2 คนแล้วที่ออกมายอมจำนน โดยอยู่ในหมู่กองทหารนาวิกโยธินยูเครนซึ่งประกาศยกธงขาวและเดินแถวออกจากที่มั่นมาขึ้นรถ กลายเป็นคลิปเผยแพร่กันทางทีวี – ก็จะทำให้เครมลินได้ของดีๆ สำหรับใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ

ผู้คนมองดูอาคารที่พักอาศัยหลังหนึ่งที่กำลังเกิดไฟไหม้ ภายหลังมีลูกปืนใหญ่ยิงเข้าไป ณ เมืองมาริอูโปล เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2022 ท่ามกลางการสู้รบเดือดระหว่างกองกำลังของฝ่ายยูเครนกับฝ่ายรัสเซีย
ก่อนที่พวกเขาจะต้องล่าถอยกลับไปยังโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า “อาซอฟสตัล” (Azovstal) ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬารครอบคลุมพื้นที่ 11 ตารางกิโลเมตร กองกำลังป้องกันเมืองมาริอูโปล –ประกอบด้วย อาซอฟ กองพลน้อยนาวิกโยธิน และกองพลน้อยทหารราบยานยนต์— ถูกบังคับให้ต้องเข้าสู่โหมดสู้ไปถอยไป หลังจากการสู้รบเปิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

อาซอฟได้โพสต์คลิปทางออนไลน์ ซึ่งให้บรรยากาศดูเหมือนกับเป็นการปฏิบัติการสู้รบของฝ่ายป้องกันที่มีทักษะสูง เป็นต้นว่า มีการใช้ปืนครกหลายกระบอกเพื่อโจมตียานหุ้มเกราะโดยที่ปืนครกเหล่านี้ซุกซ่อนเอาไว้ในเงามืดของอาคารที่พักอาศัยสูงๆ การซุ่มตีระยะประชิดเพื่อเล่นงานพวกรถถังตามถนนสายต่างๆ การโยนลูกระเบิดข้ามกำแพงสวนใส่ข้าศึก

แต่ขณะที่อำนาจการยิงคำรามกึกก้อง ตัวเมืองก็ต้องตกอยู่ในสภาพปรักหักพัง คลิปที่ถูกนำออกเผยแพร่แสดงให้เห็นกลุ่มอาคารที่พักอาศัยถูกเผาไหม้อยู่ท่ามกลางเปลวเพลิง อาคารหลายๆ หลังถูกรถถังหรือปืนใหญ่ยิงใส่โดยตรงจนเป็นรูโหว่หรือกระทั่งพังครืนลงมา และย่านที่อยู่อาศัยตลอดทั่วทั้งย่านต้องราบเป็นหน้ากลองจากการถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่ จรวด หรือการทิ้งระเบิด

มีรายงานว่า พวกพลเรือนต้องอาศัยหลบซ่อนกันตามห้องใต้หลังคาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ขณะที่เกิดการสู้รบอย่างเกรี้ยวกราดดุดันตามท้องถนน และหน่วยทหารรัสเซียรุกคืบหน้าไปตามภาคพื้นดิน

เมื่อเส้นทางล่าถอยต่างๆ ของพวกเขาถูกกองกำลังของฝ่ายรัสเซียสกัดเอาไว้ ฝ่ายป้องกันก็พบว่าพวกเขาถูกโอบล้อมเสียแล้ว มีรายงานว่าพวกทหารนาวิกโยธินซึ่งกระสุนกำลังหมดสิ้น ถูกฆ่าขณะที่พวกเขาพยายามหาทางบุกฝ่าออกไป

ฝ่ายรัสเซียอ้างว่านาวิกโยธินยูเครนกว่า 1,000 คนถูกจับกุม แต่ผู้รอดชีวิตที่ไม่ได้ถูกสังหารหรือถูกจับกุมได้ไปรวมกลุ่มอยู่กับ อาซอฟ ในเขตโรงงานเหล็กกล้าอันใหญ่โต ทิ้งตัวเมืองส่วนใหญ่ให้อยู่ในกำมือของฝ่ายรัสเซีย

“กองกำลังฝ่ายรัสเซียน่าที่จะยึดบริเวณท่าเรือของมาริโอโปลเอาไว้ได้เมื่อวันที่ 16 เมษายนแล้ว ถึงแม้ทางคณะเสนาธิการใหญ่ยูเครน (Ukrainian General Staff) ยังคงปฏิเสธในเรื่องนี้ ทำให้การต้านทานชนิดที่มีการจัดกำลังวางแผนกันของฝ่ายยูเครนในเมืองนี้ หดลดลงมาอยู่ที่โรงงานอาซอฟสตัล ในบริเวณด้านตะวันออกของมาริอูโปล” สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (Institute for the Study of War) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ระบุเอาไว้ในอีเมลฉบับหนึ่งซึ่งส่งไปถึงพวกผู้สื่อข่าว

แต่กระนั้น พวกที่ยืนหยัดต่อสู้อยู่ยังคงแสดงท่าทีท้าทาย ระหว่างพูดกับเพื่อนร่วมรบของเขา ผ่านสื่อสังคมในบรรยากาศเคร่งขรึมน่ากลัวซึ่งโพสต์เอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากสถานที่ซึ่งดูคล้ายๆ กับอยู่ในบังเกอร์ เดนิส โปรโคเปนโก (Denys Prokopenko) ผู้บังคับบัญชาของอาซอฟ ในเมืองมาริอูโปล บอกว่า “คนเหล่านี้คือลูกผู้ชายตัวจริงที่เลือกเดินไปบนเส้นทางของสงคราม”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dailymail.co.uk/news/article-10717957/Ukrainian-marines-post-video-Mariupol-Azov-battalion-criticising-comrades-surrendered.html)

“เราจะยังคงแบกรับภารกิจในการสู้รบต่อไป” เซียร์ฮิอิ โวลีนา (Serhii Volyna) ผู้บังคับบัญชาของกองทหารนาวิกโยธิน กล่าวเสริม “ขวัญกำลังใจของเรายังแข็งแกร่ง เรารู้ดีว่าเรากำลังทำอะไรและทำไมเราจึงมาอยู่ที่ตรงนี้”

เอเชียไทมส์ไม่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องอาหาร น้ำ และเครื่องกระสุนต่างๆ ที่พวกฝ่ายป้องกันเหล่านี้มีกันอยู่ ตลอดจนเรื่องสถานการณ์ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ

พวกผู้ออกความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) หลายต่อหลายคนพากันทำนายมาหลายสัปดาห์แล้วเกี่ยวกับจุดจบที่กำลังจะเกิดขึ้นรอมร่อของความทุกข์ยากในมาริอูโปล ทว่าการหลั่งเลือดไหลนองเป็นสายน้ำก็ยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน กรมทหารอาซอฟเฉลียวฉลาดมากที่เลือกโรงงานหลอมโลหะแห่งนี้เป็นที่มั่น โดยที่มั่นคล้ายคลึงกันเช่นนี้ได้เคยถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องจักรบดเนื้อซึ่งคอยบั่นทอนกำลังฝ่ายรุกให้อ่อนเปลี้ยมาแล้ว ในหนึ่งในสมรภูมิที่มีการฆ่าฟันกันอย่างสยดสยองที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การสงคราม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1942 กองทัพที่ 6 (Sixth Army) ของนาซีเยอรมนี ได้เคลื่อนทัพบุกเข้าไปในสตาลินกราด เมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโวลกา (Volga River) จากการที่ตัวเมืองดังกล่าวถูกฝ่ายเยอรมันทิ้งระเบิดถล่มใส่แบบปูพรมจนเสียหายหนัก สิ่งปรักหักพังเหล่านี้เองก็ได้กลายเป็นที่มั่นในอุดมคติสำหรับการสู้รบให้แก่กองทหารป้องกันเมืองของฝ่ายโซเวียต – ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งว่า “ต้องไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียว”

การเข่นฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมดำเนินไปด้วยความหนักหน่วงสาหัสเป็นพิเศษในเขตอุตสาหกรรมของเสตาลินกราด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดยักษ์หลายๆ แห่ง – เช่น บาร์ริกาดี้ (the Barrikady) ตุลาแดง (Red October) และโรงงานแทรกเตอร์ (the Tractor factory) สถานที่เหล่านี้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นป้อมปราการ การสู้รบที่นั่นเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม

ถึงแม้ฝ่ายเยอรมันเข้าโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า โดยใช้ทั้งกำลังทหารราบติดอาวุธหนัก และหน่วยทหารช่างโจมตีที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านต่างๆ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะยึดเขตดังกล่าวเอาไว้ได้ ก่อนที่พวกเขาเองจะถูกโอบล้อมจากกองทหารโซเวียตขนาดมหึมาซึ่งรุกตีโต้ตอบในเดือนพฤศจิกายน

ในสภาพอากาศที่หนาวจัด ต้องอดอยากขาดอาหาร และถูกสังหารร่อยหรอลงเรื่อยๆ ในที่สุดฝ่ายเยอรมันก็ต้องยอมแพ้ในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 และกลายเป็นจุดพลิกผันจุดหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายเยอรมันซึ่งผ่านการฝึกอบรมในสงครามที่ใช้กำลังส่วนต่างๆ สู้รบอย่างผสมผสานกันมาแล้ว เรียกการสู้รบประชิดตัวตามท้องถนน โรงงาน และท่อระบายน้ำของเมืองสตาลินกราดนี้ว่า “rattenkrieg” หรือในภาคภาษาอังกฤษคือ “rat war” (สงครามที่รบกันแบบหนู)

มาในตอนนี้ หลังจากเวลาผ่านไปหลายสิบปี ผู้ที่กำลังรุกโจมตีกลายเป็นฝ่ายที่เคยทำหน้าที่ป้องกัน กล่าวคือ กองทหารรัสเซียนั่นเองที่กำลังเผชิญกับโรงงานขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งยึดครองเอาไว้โดยกำลังทหารที่ผ่านการปลุกระดมเร้าจูงใจมาอย่างเข้มแข็ง ถึงแม้ในประวัติศาสตร์การทหาร การยืนหยัดจนกระทั่งถึงนาทีสุดท้ายเป็นสิ่งที่ยากจะพบเห็น แต่พวกอาซอฟอาจจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องด่าวดิ้นไปพร้อมกับการสู้รบ

“เมื่อวิเคราะห์กันอย่างเป็นกลางปราศจากอคติ ไม่ว่าจะในแบบไหนก็ตามที สถานการณ์ของพวกเขาอยู่ในสภาพสิ้นหวังจริงๆ --เป็นที่ชัดเจนว่ากองทัพยูเครนที่ยังเหลือไม่อยู่ในฐานะที่จะส่งกำลังบำรุงช่วยเหลือพวกเขาได้” ริชาร์ด ดันนัต (Richard Dannat) นายพลเกษียณอายุชาวสหราชอาณาจักร กล่าวในการสัมภาษณ์ทางวิทยุ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/results?search_query=General+Richard+Dannet+Times+Radio+Mariupol)

นายพลเกษียณอายุผู้นี้พูดถึงความเกลียดชังอย่างมากมายเหลือเกินที่ฝ่ายมอสโกมีต่อ กรมทหารอาซอฟ และกล่าวเพิ่มเติมว่า “พวกเขา (อาซอฟ) ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากต้องยืนหยัดและสู้รบต่อไป เนื่องจากอนาคตของพวกเขามืดมิดจริงๆ”

นายทหารเยอรมันมองอย่างมีอารมณ์เจ็บปวดในจิตใจ ไปที่ซากหักพังของโรงงานบาร์ริกาดี้ ในเมืองสตาลินกราด สหภาพโซเวียต เมื่อปี 1942  สตาลินกราดกลายเป็นสมรภูมิของการสู้รบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2  และถือเป็นสมรภูมินองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งการสงครามทั้งหลาย  (ภาพจากหอจดหมายเหตุสหพันธรัฐเยอรมนี Bundesarchiv)
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีหน่วยทหารรัสเซียจำนวนเท่าใดถูกส่งเข้าไปในเมืองมาริอูโปล

รายงานของสื่อบางรายบอกว่า มีจำนวน 12 กลุ่มกองพันทางยุทธวิธี (Battalion Tactical Groups หรือ BTGs) ซึ่งหมายถึงหน่วยกำลังทหารผสมระดับพื้นฐาน ที่รัสเซียนำเอามาใช้ในสงครามครั้งนี้ อย่างไรก็ดี BTGs รัสเซียใช้ยุทธวิธีที่เลวร้ายในการปฏิบัติการที่ภาคเหนือยูเครน –เป็นต้นว่า ยึดติดเหนียวแน่นอยู่กับเส้นทางถนนซึ่งข้าศึกสามารถคาดเดาได้ง่ายๆ และล้มเหลวไม่สามารถใช้ทหารราบมาคุ้มครองยานเกราะของพวกเขา

เชื่อกันว่ามีนาวิกโยธินรัสเซียถูกส่งเข้าไปในมาริอูโปลด้วย เช่นเดียวกับกำลังทหารปฏิบัติการพิเศษ “สเปตซ์นาซ” (Spetsnaz) ที่ไม่มีการระบุว่าเป็นหน่วยใด ตลอดจนหน่วยย่อยของฝ่ายข่าวกรองทหาร (GRU)

สิ่งที่ชัดเจน เมื่อพิจารณาจากบรรดาคลิปซึ่งถ่ายไว้โดยพวกยูทูบเบอร์โปรรัสเซียที่ทำงานอย่างเป็นอิสระในเมืองมาริอูโปล ก็คือ สมาชิกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของดอนบาสส์ที่มีประสบการณ์และผ่านการปลุกระดมมีแรงกระตุ้นจูงใจชัดเจน คือผู้ที่กำลังทำการสู้รบจำนวนมากในเมืองนี้ --โดยบางส่วนของการสู้รบเหล่านี้ ได้แก่ พวกการรบแบบที่เรียกกันว่าสู้กันไปจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง การกดดันไล่ต้อนพวกนักแม่นปืนให้ออกจากกลุ่มอาคารที่พักอาศัยสูงหลายชั้น

ทหารจากสาธารณรัฐเชชเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย เข้าร่วมการสู้รบระหว่างกองกำลังอาวุธของรัสเซียและของยูเครน ที่เมืองมาริอูโปล  (ภาพถ่ายเมื่อ 15 เมษายน 2022)  กองกำลังอาวุธหน่วยนี้เป็นทหารราบเบาที่ประกอบอาวุธชั้นดีและเข้าสู้รบแบบดุดัน
หน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่งซึ่งคอยเข้าโจมตีพวกที่มั่นของยูเครนจากทางด้านปีก ด้วยการเคลื่อนที่พร้อมๆ กับรถหุ้มเกราะไปตามพื้นที่แนวชายฝั่ง ก็คือ กองกำลังสนับสนุนของชาวเชชเนีย ซึ่งถูกส่งมาเข้าร่วมการสู้รบครั้งนี้โดย รัมซัน คาดีรอฟ (Ramzan Kadyrov) ผู้นำของเชชเนียที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของ ปูติน

กองกำลังอาวุธหน่วยนี้เป็นทหารราบเบาที่ประกอบอาวุธชั้นดีและเข้าสู้รบแบบดุดัน พวกผู้นำระดับอาวุโสของกองกำลังนี้เคยผ่านการสู้รบในสงครามเชชเนียมาแล้ว ซึ่งในที่สุดก็สามารถปราบปรามการก่อความไม่สงบภายในสาธารณรัฐของพวกเขาได้สำเร็จ และช่วงหลายๆ ปีก่อนที่ทางรัสเซียจะเข้ารุกรานยูเครนคราวนี้ กองกำลังนี้ก็ถูกจัดส่งไปสู้รบทั้งในดอนบาสส์และในซีเรีย

สิ่งที่ไม่ทราบกันก็คือ หน่วยทหารเหล่านี้เกิดการบาดเจ็บล้มตายกันมากน้อยขนาดไหน และมีความกระหายเหลืออยู่แค่ไหนสำหรับการรุกโจมตีฝ่าเข้าไปในเขี้ยวเล็บการป้องกันของโรงงานอาซอฟสตัล เวลานี้โรงงานเหล็กแห่งนี้กำลังถูกถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วง –ตามกระบวนการทำให้การป้องกันอ่อนตัวลงในเบื้องต้น

อาซอฟสตัล มีความลี้ลับซับซ้อนด้วยสิ่งปลูกสร้างใต้ดินที่ยาวเหยียดกว้างขวาง ทำให้ฝ่ายป้องกันมีที่กำบังจากพระเพลิง และมีช่องทางมากมายสำหรับการตีโต้ ฝ่ายเข้าตียังจะต้องเอาชนะยุทธวิธีพื้นฐานอย่างการซุ่มตี การวางกับระเบิด และการใช้นักแม่นปืนในท่ามกลางเส้นทางวนวนซับซ้อนเป็นเขาวงกต ซึ่งยานหุ้มเกราะและแสนยานุภาพทางอากาศไม่สามารถนำมาใช้อย่างทรงประสิทธิภาพได้

แต่กำลังทหารราบอาจไม่จำเป็นต้องบุกถล่มเข้าไปก็ได้

ขณะที่โลกรู้สึกช็อกอยู่แล้วจากการโจมตีใส่โรงพยาบาลผดุงครรภ์และโรงละครของเมืองมาริอูโปล รัสเซียยังอาจที่จะเปิดการสู้รบชนิดสุดโหดไม่มียับยั้งยิ่งกว่านั้นอีก ทั้งนี้อาวุธประเภทสยองขวัญซึ่งสามารถใช้เพื่อละลายฝ่ายป้องกันที่ฝังตัวเองลึกเข้าไปใต้ดินก็มีกันอยู่แล้ว

กองกำลังฝ่ายรัสเซีย “... อาจจะหันไปใช้อาวุธเคมี หรือเครื่องมืออุปกรณ์อื่นๆ บางอย่าง เพื่อผลักดันขับไล่ฝ่ายป้องกันให้ออกมาจากที่ซ่อน” ดันนัต นายพลเกษียณอายุชาวสหราชอาณาจักรบอก โดยที่ทางอาซอฟได้กล่าวอ้างเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำว่ามีการใช้อาวุธเคมีมาเล่นงานพวกเขาอยู่แล้ว ถึงแม้ข้อกล่าวหาเช่นนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด

“เครื่องมืออุปกรณ์อย่างอื่น” ยังอาจหมายถึงการใช้อาวุธเทอร์โมบาริก (thermobarics) ที่เป็นระเบิดซึ่งเหมือนกับใช้อากาศเป็นเชื้อเพลิง อาวุธชนิดนี้หย่อนลงใส่เป้าหมายโดยติดตั้งอยู่ในลูกระเบิดหรือยิงด้วยขีปนาวุธ
(เทอร์โมบาริกเป็นอาวุธระเบิดที่เป็นผลจากการจุดระเบิดของเชื้อเพลิงที่กระจายตัวเป็นละอองฝอย โดยไม่ได้อาศัยตัวออกซิไดซ์แบบระเบิดควบแน่นทั่วไป แต่จะดูดออกซิเจนจากบรรยากาศรอบข้างเพื่อสร้างการระเบิดที่อุณหภูมิสูง ทำให้สามารถแผ่คลื่นอัดอากาศที่เกิดขึ้นในปริมาตรมหาศาลและมีความรุนแรงอย่างมากออกไปในวงกว้างโดยรอบ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/ระเบิดสุญญากาศ)

สมาชิกคนหนึ่งของกรมทหารอาซอฟ สวมเครื่องแบบติดเครื่องหมายหน่วยปฏิบัติการพิเศษของอาซอฟ กำลังเล็งปืน (ภาพจาก วิกิมีเดีย คอมมอนส์)  อาซอฟมีความสัมพันธ์โยงใยกับขบวนเชิดชูคนผิวขาวเป็นใหญ่ (white supremacy) ในระดับโลก สมาชิกของพวกเขามีทั้งพวกขวาจัดและติดเครื่องหมายสัญลักษณ์นาซี แต่จากการที่พวกเขาป้องกันเมืองมาริอูโปลอย่างดุดันเข้มแข็ง ทำให้ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากชาวยูเครน เวลาเดียวกัน พวกสื่อระหว่างประเทศก็พากันมองข้ามภูมิหลังอันน่าระแวงของพวกเขา และมุ่งเน้นแต่สมรรถนะการสู้รบอย่างน่าประทับใจของพวกเขาเท่านั้น

ภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอที่นำออกมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2022 โดยทาง “กรมทหารอาซอฟ” ระบุว่า เป็นภาพพลเรือนซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก ที่พำนักลี้ภัยอยู่ในบังเกอร์ ภายในโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า “อาซอฟสตัล” ที่เมืองมาริอูโปล
อย่างไรก็ตาม มันมีความสลับซับซ้อนของมันอยู่

มีคลิปที่ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันถูกนำออกเผยแพร่ทางสื่อสังคม และสื่อมวลชนของฝ่ายตะวันตกหลายรายนำไปแพร่ภาพออกอากาศ แสดงให้เห็นพลเรือนชาวยูเครนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กๆ กำลังพำนักอาศัยอยู่ในห้องบังเกอร์ที่มองดูเหมือนกับห้องใต้เพดานหรือห้องใต้ดินภายในโรงงานแห่งนี้

ขณะที่ไม่มีเครื่องบ่งชี้ว่าพลเรือนเหล่านี้ถูกอาซอฟบังคับให้เข้าไปในโรงงาน แต่มอสโกก็มีการกล่าวอ้างว่ากองกำลังอาวุธฝ่ายยูเครนกำลังใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ พวกอาวุธเคมีและอาวุธเทอร์โมบาริกนั้นไม่สามารถจำแนกได้หรอกว่าใครเป็นทหารใครเป็นพลเรือน ผู้ชายหรือผู้หญิง ผู้ใหญ่หรือเด็ก และถ้าการใช้อาวุธเหล่านี้ในโรงงานอาซอฟสตัลทำให้มีพลเรือนถูกเข่นฆ่า ภาพลักษณ์ของรัสเซียที่ดำมืดไปเรียบร้อยแล้วก็จะยิ่งดำทมิฬขึ้นไปอีก

หากปราศจากการเข้าโจมตีโดยใช้อาวุธพิเศษทั้งหลาย ฝ่ายเข้าตีก็เหลือทางเลือกอยู่เพียงแค่การใช้วิธีปิดล้อมโรงงานและทำให้ฝ่ายป้องกันอยู่ในสภาพค่อยๆ อดตาย --หรือไม่ก็ต้องรุกคืบหน้าด้วยการสู้รบแบบประชิดตัวมุ่งสังหาร โดยต้องต่อกรกับพวกผู้คนที่ดูเหมือนตั้งใจจะสู้รบไปจนกระทั่งถึงกระสุนนัดสุดท้าย

ภาพโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทเหล็กและเหล็กกล้า “อาซอฟสตัล” ในเมืองมาริอูโปล  ถ่ายเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2022 ในระหว่างยังเกิดการสู้รบกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายยูเครนและฝ่ายรัสเซีย
หมายหตุผู้แปล

หลังจากข้อเขียนชิ้นนี้ของเอเชียไทมส์ในพากษ์ภาษาอังกฤษ เผยแพร่ออกไปวันสองวัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ออกคำสั่งให้ระงับการบุกเข้ากวาดล้างภายในโรงงานอาซอฟสตัล ตามที่ดูเหมือนกองทัพรัสเซียวางแผนไว้แล้ว โดยให้หันมาใช้วิธีปิดล้อมอย่างแน่นหนาแทน สื่ออาร์ที (ชื่อเดิมคือรัสเซียทูเดย์) ของฝ่ายรัสเซีย เสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ผู้แปลจึงขอเก็บความมาเสนอเพิ่มเติมในทีนี้ ดังนี้:


ปูตินสั่งให้ระงับการบุกโจมตีที่มั่นสุดท้ายของยูเครนในเมืองมาริโอโปล
โดยอาร์ที

Putin calls off assault on Ukraine's last Mariupol hold out
By RT

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกคำสั่งให้ยกเลิกการบุกโจมตีโรงงานเหล็กกล้าอาซอฟสตัล ในเขตท่าเรือริมทะเลดำของเมืองมาริอูโปล ขณะพบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู เมื่อวันพฤหัสบดี (21 เม.ย.) สถานที่แห่งนี้ยังคงเป็นที่หลบซ่อนของสมาชิกกองกำลังอาวุธชาวยูเครนราว 2,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งกรมทหาร “อาซอฟ” ที่เป็นพวกนาซีใหม่ด้วย ทั้งนี้ตามการรายงานของชอยกู

“เราจำเป็นที่จะต้องขบคิดเสมอถึงเรื่องการสงวนรักษาชีวิตและสุขภาพของบรรดาทหารและนายทหารของเรา” ปูติน บอกกับรัฐมนตรีกลาโหม พร้อมกับพูดต่อไปว่า สำหรับกรณีนี้ พวกเขาไม่สมควรถูกส่งให้บุกโจมตีเข้าไปในโรงงานเหล็กกล้าแห่งนั้น

“ใครๆ ก็ไม่สมควรเข้าไปในสุสานใต้ดินพวกนั้น และคลานไปที่นั่นทางใต้ดิน ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้” ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าว โรงงานเหล็กกล้าอาซอฟสตัลซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคโซเวียต มีเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่กว้างขวางและเป็นป้อมปราการชั้นดี อุโมงค์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถทนทานต่อการถูกถล่มทิ้งระเบิดขนาดหนักหน่วง โดยที่ ยาน กากิน (Yan Gagin) ผู้ช่วยคนหนึ่งของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนโดเน็ตสก์ เคยพูดเอาไว้ครั้งหนึ่งว่า อุโมงค์เหล่านี้มีสภาพเหมือนกับเป็นเมืองใต้ดิน

กองกำลังอาวุธฝ่ายยูเครนที่กำลังล่าถอย ซึ่งก็รวมไปถึงกรมทหารอาซอฟที่เป็นพวกนาซีใหม่พฤติการณ์ฉาวโฉ่ ได้จัดทำแนวป้องกันตนเองเอาไว้อย่างแน่นหนาในอุโมงค์เหล่านี้ และนับแต่นั้นก็ใช้มันเป็นแนวป้องกันแนวสุดท้ายของพวกเขา เมื่อวันพฤหัสบดี (21 เม.ย.) ชอยกู รายงาน ปูติน ว่า กองกำลังของฝ่ายรัสเซีย และกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของสาธารณรัฐโดเนสก์ ได้เข้ายึดเมืองมาริอูโปลไว้ทั้งเมืองแล้ว ยกเว้นบริเวณโรงงานอาซอฟสตัล

ชอยกู ยังกล่าวอีกว่า การปฏิบัติการทางทหารที่โรงงานแห่งนี้ควรจะยุติลงได้ภายในเวลา 3-4 วัน โดยดูเหมือนว่ากำลังมีการวางแผนบุกเข้าไปโจมตี อย่างไรก็ดี ปูติน กลับออกคำสั่งให้ทหารของชอยกู “ปิดผนึกพื้นที่ตรงนั้นให้แน่นหนาจนกระทั่งแมลงวันสักตัวก็บินผ่านไม่ได้” แทนการบุก

ประธานาธิบดีรัสเซียยังเสนอโอกาสอีกครั้งหนึ่ง ให้พวกที่ยังยึดที่มั่นอยู่ในโรงงานแห่งนั้นอย่างแน่นหนา ออกมายอมจำนน “เสนอโอกาสให้แก่ใครก็ตามทีที่ยังไม่ได้วางอาวุธของพวกเขา ให้วางอาวุธเสีย” เขาบอกกับ ชอยกู และกล่าวต่อไปว่า รัสเซีย “ให้คำรับประกันพวกเขาว่าจะไว้ชีวิตพวกเขา รวมทั้งจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเหมาะสมตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศทุกประการ” นอกจากนั้น พวกที่ได้รับบาดเจ็บก็จะได้รับ “การรักษาทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ” ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวต่อ

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยหาทางจัดพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมขึ้นมาถึง 2 ครั้ง สำหรับพวกที่ปรารถนาจะออกมาจากโรงงานอาซาอฟสตัลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ความพยายามทั้งสองคราวต่างล้มเหลว ในทางตรงกันข้าม พวกสมาชิกกองกำลังอาซอฟและกองทหารยูเครนกลับเรียกร้องว่า พวกเขาต้องได้รับอนุญาตให้ออกไปโดยผ่านความช่วยเหลือของ “ฝ่ายที่สาม” ซึ่งปราศจากอาวุธ เวลาเดียวกันนั้นพวกเขาก็จะต้องเก็บอาวุธประจำกายของพวกเขาเอาไว้ได้ ทางด้านกรุงเคียฟยังประณามกรุงมอสโกสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าความพยายามในการก่อตั้งพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมต้องมีอันล้มเหลวลง

รัสเซียเข้าโจมตีเพื่อนบ้านของตนรายนี้ ภายหลังยูเครนล้มเหลวไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงกรุงมินสก์ ซึ่งลงนามกันไว้ในปี 2014 โดยที่ในที่สุดแล้วมอสโกก็ตกลงรับรองสาธารณรัฐแห่งโดเน็ตสก์ และสาธารณรัฐแห่งลูกานสก์ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสส์ ทั้งนี้ข้อตกลงกรุงมินสก์ซึ่งมีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นตัวกลางนั้น มีสาระสำคัญมุ่งที่จะให้ภูมิภาคที่แยกตัวออกจากยูเครนทั้ง 2 แห่งนี้มีสถานะพิเศษแต่ยังคงอยู่ภายในรัฐยูเครน

นับจากนั้น เครมลินก็เรียกร้องให้ยูเครนประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าตนเองเป็นรัฐเป็นกลาง ซึ่งจะไม่มีวันเข้าร่วมกลุ่มนาโต้ อันเป็นกลุ่มทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ขณะที่เคียฟยืนกรานว่าการรุกของรัสเซียเกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ถูกยั่วยุใดๆ ทั้งสิ้น ตลอดจนปฏิเสธข้อกล่าวอ้างที่ว่าตนเองกำลังวางแผนใช้อาวุธเพื่อเข้ายึดสองสาธารณรัฐที่แยกตัวออกไป

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.rt.com/russia/554273-putin-call-off-assault-mariupol-plant/)


กำลังโหลดความคิดเห็น