รัสเซียเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (23 เม.ย.) มีแผนประจำการขีปนาวุธข้ามทวีป "ซาร์มัต" ซึ่งเพิ่งผ่านการทดสอบไปหมาดๆ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ปลายเดือนกันยายน-ปลายเดือนธันวาคม) ขณะที่มันมีศักยภาพโจมตีทางนิวเคลียร์ถล่มสหรัฐฯ
เป้าหมายดังกล่าวที่เน้นย้ำโดย ดมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการหน่วยงานอวกาศ "รอสคอสมอส" ของรัสเซีย คือหนึ่งในความทะเยอทะยานของรัสเซีย หลังจากพวกเขาเพิ่งดำเนินการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปซาร์มัต แสนยานุภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธ (20 เม.ย.) และพวกผู้เชี่ยวชาญตะวันตกคาดหมายว่าจะจำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม ก่อนนำขีปนาวุธนี้เข้าสู่ประจำการ
ขีปนาวุธซาร์มัต สามารถประกอบกับหัวรบหรืออุปกรณ์หลอกล่ออย่างน้อย 10 หัว และสามารถโจมตีเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตรทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป
การทดสอบเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากล่าช้ามานานหลายปีสืบเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและทางเทคนิค คือการสำแดงแสนยานุภาพของรัสเซีย ในช่วงเวลาที่สงครามในยูเครนโหมกระพือความตึงเครียดระหว่างพวกเขากับสหรัฐฯ และพันธมิตรพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962
โรโกซิน กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของรัสเซีย ว่า ขีปนาวุธซาร์มัตจะถูกส่งเข้าประจำการในดินแดนครัสโนยาสค์ ในไซบีเรีย ห่างจากรุงมอสโกไปทางตะวันออกราว 3,000 กิโลเมตร
เขาบอกว่ามันจะถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่เดิมและไซโลเดิม (ฐานปล่อยขีปนาวุธ) แทนที่ขีปนาวุธขีปนาวุธโวเยโวดา ในยุคอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งจะช่วยประหยัดทรัพยากรและเวลาได้อย่างมหาศาล
ผู้อำนวยการหน่วยงานอวกาศรัสเซียระบุต่อว่า "การทดสอบสุดยอดอาวุธ" เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่จะรับประกันความปลอดภัยของลูกๆ หลานๆ ชาวรัสเซียใน 30-40 ปีข้างหน้า
ตะวันตกมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ นับตั้งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ด้วยถ้อยคำที่อ้างถึงกองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย และเตือนความพยายามใดๆ ในการเข้าขวางทางรัสเซีย "อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์อย่างที่พวกคุณไม่เคยประสบมาก่อนในประวัติศาสตร์ของคุณ"
สุ้มเสียงดังกล่าว กระตุ้นให้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกมาเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า "แนวโน้มของความขัดแย้งนิวเคลียร์ ซึ่งครั้งนี้ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ตอนนี้กลับเข้าสู่ขอบเขตแห่งความเป็นไปได้แล้ว"
(ที่มา : รอยเตอร์)