กองทัพสหรัฐฯ ยกเลิกการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป มินิทแมน ทรี (Minuteman III) ที่เบื้องต้นพวกเขาวางเป้าหมายเพียงแค่เลื่อนออกไป ในความพยายามลดความตึงเครียดทางนิวเคลียร์กับรัสเซีย ระหว่างที่มอสโกกำลังทำสงครามกับยูเครน กองทัพอากาศอเมริกาเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันศุกร์ (1 เม.ย.)
ทีแรกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงเพียงว่าเลื่อนออกทดสอบเมื่อวันที่ 2 มีนาคมออกไป หลังจากรัสเซียออกคำสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อมระดับสูง โดยวอชิงตันบอกในตอนนั้นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต้องตระหนักถึงความของการคำนวณผิดพลาด และต้องใช้มาตรการต่างๆ ลดความเสี่ยงเหล่านั้น
เพนตากอนเน้นย้ำต่อสาธารณะ ว่า พวกเขามีความตั้งใจเลื่อนการทดสอบออกไป "แค่ไม่นาน" และไม่ได้ยกเลิกมัน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโฆษกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่าได้ยกเลิกการทดลอบขีปนาวุธข้ามทวีป LGM-30G มินิทแมน ทรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการตัดสินใจดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุผลเดียวกับตอนตัดสินใจเลื่อนในทีแรก ขณะที่การทดสอบมินิทแมน ทรี ครั้งต่อไปกำหนดไว้ในช่วงปลายปีนี้
"กองทัพอากาศมีความมั่นใจในความพร้อมของกองกำลังทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ" โฆษกกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าว
วุฒิสมาชิก จิม อินโฮฟ สมาชิกระดับสูงของรีพับลิกัน ในคณะกรรมาธิการฝ่ายการทหารของวุฒิสภา แสดงความผิดหวังในเดือนมีนาคม เกี่ยวกับการเลื่อนทดสอบ โดยบอกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรับประกันว่าการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของอเมริกายังมีประสิทธิภาพ
เจฟฟรีย์ ลูอิส นักวิจัยขีปนาวุธแห่งศูนย์เจมส์ มาร์ติน เพื่อศึกษาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ กลบกระแสความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการยกเลิกทดสอบดังกล่าว "การทดลองต่างๆ นั้นมีประโยชน์ แต่ผมไม่คิดว่าการพลาดการทดสอบหนึ่งครั้งของโครงการใหญ่ๆ จะเป็นปัญหาใหญ่อะไร" เขากล่าวพร้อมระบุว่า ขีปนาวุธมินิทแมน ทรี มีความน่าเชื่อถืออย่างมาก
ขีปนาวุธมินิทแมน ทรี ซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ เป็นส่วนสำคัญของคลังแสงทางยุทธศาสตร์แห่งกองทัพสหรัฐฯ มันมีพิสัยทำการมากกว่า 9,660 กิโลเมตร และสามารถพุ่งด้วยความเร็วราวๆ 24,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ออกคำสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อมระดับสูงในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มความกังวลว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซีย อาจนำมาซึ่งสงครามนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่าจนถึงตอนนี้พวกเขาไม่เห็นเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงระดับเตือนภัยนิวเคลียร์ของวอชิงตันแต่อย่างใด
รัสเซียและสหรัฐฯ คือ 2 ชาติที่มีคลังแสงหัวรบนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากสงครามเย็นที่แบ่งแยกโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 ผลักตะวันตกเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตและพันธมิตรของพวกเขา
(ที่มา : รอยเตอร์)