วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ใน “ศรีลังกา” ซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องประสบภาวะขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และข้าวของที่จำเป็นอย่างหนัก อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และรัฐบาลต้องใช้วิธีตัดไฟวันละกว่าสิบชั่วโมงเพื่อลดรายจ่าย นับเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่สาหัสสากรรจ์ที่สุดตั้งแต่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948
ภาวะข้าวยากหมากแพงยังกลายเป็นชนวนให้ชาวศรีลังกาออกมาก่อจลาจลขับไล่รัฐบาลที่นำโดยคนตระกูล “ราชปักษา” และนำมาสู่การลาออกของคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วิกฤตของศรีลังกาไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน หากแต่เป็นปัญหาที่สะสมบ่มเพาะมานานหลายปี บวกกับความโชคร้าย และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง
มุรตาซา จัฟเฟอร์จี ประธานสถาบันคลังสมอง Advocata Institute ในกรุงโคลอมโบ ชี้ว่า ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกามีการกู้ยืมเงินมหาศาลจากต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการสาธารณะต่างๆ และภาระหนี้สินเหล่านี้มาถูกซ้ำเติมจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูมรสุม รวมถึงนโยบายของรัฐ เช่น การแบนสารเคมีทางการเกษตรซึ่งทำให้การเพาะปลูกของเกษตรกรไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ศรีลังกายังเผชิญความวุ่นวายต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วิกฤตรัฐธรรมนูญปี 2018 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดี ไมตรีปาละ สิริเสนา ผู้นำประเทศในขณะนั้นสั่งปลด รานิล วิกรมสิงเห พ้นเก้าอี้นายกฯ จนเกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง และในปีต่อมามีเหตุวินาศกรรมโบสถ์คริสต์และโรงแรมหรูหลายแห่งในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อย ตามมาด้วยสถานการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด-19 ในปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหดหายไปมาก
ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ได้ประกาศนโยบายลดภาษี โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้บ้าง ทว่านโยบายนี้กลับทำให้รัฐบาลยิ่งขาดแคลนรายได้ และจำเป็นต้องงัดเอาทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาชำระหนี้ ซึ่งทำให้ปริมาณทุนสำรองของศรีลังกาลดลงเรื่อยๆ จากระดับ 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เหลือแค่เพียง 2,200 ล้านดอลลาร์เมื่อต้นปีนี้
ธนาคารกลางศรีลังกายังประกาศ “ลอยตัว” ค่าเงินรูปีเมื่อเดือน มี.ค. โดยหวังทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าจนเข้าข่ายที่จะได้รับอนุมัติเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกระตุ้นให้ชาวศรีลังกาที่ทำงานในต่างแดนส่งเงินกลับบ้านมากขึ้น ทว่ามาตรการนี้กลับยิ่งซ้ำเติมคนศรีลังกาที่กำลังเดือดร้อนจากภาวะค่าครองชีพที่พุ่งสูงลิ่ว
ตลอดหลายเดือนมานี้ ชีวิตประจำวันของชาวศรีลังกาต้องวนเวียนอยู่กับการเข้าคิวซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งหลายรายการก็ขาดแคลนจนต้องใช้ระบบปันส่วน ขณะที่วิกฤตขาดแคลนพลังงานทำให้ร้านค้าหลายแห่งต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถเปิดใช้ตู้เย็น แอร์ หรือแม้กระทั่งพัดลมได้
สตรีชาวโคลอมโบคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เธอไปเข้าคิวรอเติมแก๊สโพรเพนเพื่อจะได้มีแก๊สสำหรับทำอาหารเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ชาวศรีลังกาคนอื่นๆ บ่นว่าราคาขนมปังแพงขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนคนขับรถสามล้อและแท็กซี่ก็โอดครวญว่าได้รับปันส่วนเชื้อเพลิงน้อยจนแทบจะทำมาหากินไม่ได้
ความร้ายแรงของวิกฤตครั้งนี้ปรากฏชัดเจนเมื่อรัฐบาลศรีลังกาไม่มีเงินพอแม้แต่จะนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน ขณะที่สำนักข่าว AP รายงานว่า ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศที่จะต้องจ่ายคืนราวๆ 25,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า และเฉพาะในปีนี้ก็ถึงกำหนดจะต้องชำระคืนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะหาเงินมาจากที่ไหน
ชาวศรีลังกาซึ่งสุดจะทนกับความอดอยากปากแห้งเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขและแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ก่อนที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงกลายเป็นเหตุจลาจลในวันที่ 31 มี.ค. เมื่อผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งขว้างปาอิฐและจุดไฟเผาสิ่งของที่ด้านนอกบ้านพักของประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีราชปักษา ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อค่ำวันที่ 1 เม.ย. โดยให้อำนาจตำรวจจับกุมผู้ที่ก่อความวุ่นวายโดยไม่ต้องมีหมายจับ และสั่งบล็อกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ทว่าการชุมนุมก็ยังคงเกิดขึ้นในวันต่อมา และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปหลายร้อยคน
คณะรัฐมนตรีศรีลังกา ยกเว้นประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา ซึ่งเป็นพี่ชายของเขา ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 3 เม.ย. รวมไปถึงหลานชายของประธานาธิบดีเองที่ประกาศว่า “รับไม่ได้” กับมาตรการปิดกั้นสื่อโซเชียล
ประธานาธิบดี ราชปักษา เคยพยายามเสนอจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ แต่ก็ถูกปฏิเสธจากพรรคฝ่ายค้านหลัก ขณะที่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางคนเรียกร้องให้ ราชปักษา ลาออกเพื่อเปิดทางจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวและยับยั้งเหตุนองเลือดที่อาจเกิดขึ้น ทว่าผู้นำศรีลังกายืนกรานไม่สละเก้าอี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เม.ย. มีรายงานว่า 3 พรรคการเมืองศรีลังกาซึ่งถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวพร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อมาแทนที่รัฐบาลของ ราชปักษา และพี่ชายของเขา ขณะที่นายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา ยังพยายามขอร้องให้ทุกฝ่าย “อดทน” และยืนยันว่าทั้งเขาและประธานาธิบดีผู้เป็นน้องชายพยายามอย่างเต็มที่ที่จะนำพาประเทศออกจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้
รัฐบาลศรีลังกาได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ รวมถึงหันหน้าพึ่งชาติมหาอำนาจในภูมิภาคอย่าง “จีน” และ “อินเดีย” โดยในส่วนของรัฐบาลเดลีได้อนุมัติสินเชื่อ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ศรีลังกาเมื่อเดือน มี.ค. ท่ามกลางคำเตือนจากนักวิเคราะห์ที่มองว่าความช่วยเหลือลักษณะนี้จะยิ่งทำให้หนี้สินของศรีลังกายิ่งพอกพูนมากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหา
รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลศรีลังกาเตรียมขอความช่วยเหลือทางการเงินราว 3,000 ล้านดอลลาร์เพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็นสำหรับช่วง 6 เดือนข้างหน้า และยังมีแผนขอปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ รวมถึงขอพักชำระหนี้ชั่วคราวด้วย