xs
xsm
sm
md
lg

เซเลนสกีแถลงผ่าน UN ร้องโลกจัดการรัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม ตะวันตกเตรียมคว่ำบาตรเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนในวันอังคาร (5 เม.ย.) กล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รัสเซียต้องรับผิดชอบต่อข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ก่อระหว่างสงคราม ในขณะที่ตะวันตกเตรียมขยายคว่ำบาตร ในนั้นรวมถึงห้ามไม่ให้ลงทุนใหม่ทั้งหมดในรัสเซีย

6 สัปดาห์ หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน สหรัฐฯ และพันธมิตรจะเคลื่อนไหวโดดเดี่ยวเศรษฐกิจของรัสเซียเพิ่มเติมในวันพุธ (6 เม.ย.) ด้วยการยกระดับควบคุมสถาบันการเงินต่างๆ และรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย เช่นเดียวกับเล็งเป้าเล่นงานเจ้าหน้าที่รัฐบาลและครอบครัว จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว

พวกผู้บริหารของสหภาพยุโรปเสนอขยายขอบเขตมาตรการคว่ำบาตร ในนั้นรวมถึงห้ามนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย ส่วนหนึ่งในมาตรการตอบโต้ของตะวันตก ต่อกรณีที่พบศพพลเรือนถูกยิงในระยะประชิดในเมืองบูชา ในทางภาคเหนือของยูเครน หลังยึดคืนมาได้จากกองกำลังรัสเซีย

ลยุดมีลา เดนิโซวา ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านสิทธิมนุษยชนของยูเครนกล่าวในวันอังคาร (5 เม.ย.) ว่า พบร่างไร้วิญญาณราว 150 ถึง 300 ศพ ในหลุมศพหมู่ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองบูชา

เซเลนสกี ตั้งคำถามเกี่ยวกับค่านิยมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพราะว่า รัสเซีย ในฐานะสมาชิกถาวรมีสิทธิวีโต้ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและจีน

"เรากำลังจัดการกับรัฐหนึ่งๆ ซึ่งเปลี่ยนสิทธิวีโต้ ณ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นสิทธิแห่ง (การก่อ) ความตาย" เซเลนสกีกล่าวผ่านวิดีโอที่ถ่ายทอดสดจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน พร้อมเรียกร้องให้เคลื่อนไหวปฏิรูปองค์กรระดับโลกแห่งนี้ "รัสเซียต้องการเปลี่ยนยูเครนเป็นทาสเงียบ" เขาระบุ

วาสซิลี นาเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ตอบโต้คำแถลงของเซเลนสกี โดยบอกกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า ทหารรัสเซียไม่ได้เล็งเป้าหมายเล่นงานพลเรือน พร้อมชี้ว่าคำกล่าวหาล่วงละเมิดต่างๆ นั้นเป็นเรื่องโกหก

ก่อนหน้านี้ รัสเซียระบุว่าเหตุเสียชีวิตในบูชา เป็นการจัดฉากอย่างชั่วร้ายของตะวันตก โดยมีเป้าหมายดิสเครดิตมอสโก

ลินดา โธมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ระบุว่า มหาอำนาจโลกและบรรดาผู้นำโลกต้องรับผิดชอบด้วยการแสดงออกถึงการเป็นเสาหลักและยืนหยัดต่อต้านการคุกคามที่อันตรายและปราศจากการยั่วยุของรัสเซีย ที่มีต่อยูเครนและต่อโลกใบนี้"

รัสเซียระบุว่า พวกเขาปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารในยูเครน โดยมีเป้าหมายปลดอาวุธและกำจัดความเป็นนาซีของประเทศหนึ่ง ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มองในฐานะรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จุดยืนของเครมลินถูกปฏิเสธจากยูเครน ซึ่งรัฐสภามาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และตะวันตก ที่บอกว่ามันเป็นข้ออ้างสำหรับการรุกรานโดยปราศจากการยั่วยุ

เอกอัครราชทูตจีน พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย บอกกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่า รายงานข่าวและภาพถ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลเรือนในบูชา เป็นสิ่งที่น่ากระวนกระวายใจอย่างมาก แต่ระบุว่ากรณีแวดล้อมของเหตุการณ์นี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและคำกล่าวหาใดๆ ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ จาง จุน (Zhang Jun) เอกอัครราชทูตของจีนประจำสหประชาชาติ ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ นาโต้ และอียูเสาะหาหนทางด้านการทูตกับรัสเซีย แทนการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ซึ่งบอกว่ามันไม่มีทางคลี่คลายวิกฤตในครั้งนี้

ข้อเสนอมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ซึ่งรัฐสมาชิกทั้ง 27 ชาติของอียูต้องเห็นชอบ จะห้ามนำเข้าจากรัสเซียมูลค่า 9,000 ล้านยูโร และห้ามส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่า 10,000 ล้านยูโร ในนั้นรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์และคอมพิวเตอร์ และขัดขวางเรือของรัสเซียล่องเข้ามายังท่าเรือต่างๆ ของอียู

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เผยว่าพวกเขากำลังหาทางแบนนำเข้าน้ำมันด้วยเช่นกัน "เราทั้งหมดเห็นภาพอันน่าสยดสยองจากบูชาและพื้นที่อื่นๆ ที่ทหารรัสเซียทิ้งไว้เบื้องหลังเมื่อเร็วๆ นี้ ความโหดร้ายป่าเถื่อนเหล่านี้ไม่อาจถูกปล่อยผ่านไปโดยไม่มีคำตอบ" เธอเขียนบนทวิตเตอร์

มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่กำหนดขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน ถือว่าหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในการกำหนดเล่นงานชาติมหาอำนาจหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยูเครนบอกว่ามันยังไม่เพียงพอ และตะวันตกจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้ในการบีบรัดกองทัพของมอสโก

"เงินทุกยูโร ทุกเซนต์ที่คุณได้รับจากรัสเซียหรือที่คุณส่งไปยังรัสเซียนั้นเปื้อนเลือด มันคือเงินเปื้อนเลือดและเลือดนี้คือเลือดของยูเครน เลือดของประชาชนชาวยูเครน" วิตาลี คลิทช์โก นายกเทศมนตรีเคียฟกกล่าวกับที่ประชุมหนึ่งในเจนีวา ผ่านวิดีโอลิงก์

ยุโรป ซึ่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซธรรมชาตินำเข้าทั้งหมด กังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหากแบนพลังงานของรัสเซียโดยสิ้นเชิง แม้ ยูเครน เน้นย้ำว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งข้อตกลงสันติภาพ

ฟอน แดร์ ไลเอิน บอกว่า การห้ามนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียของอียู จะมีมูลค่าราวๆ 4,000 ล้านยูโรต่อปี ถือว่าเล็กน้อยมากหากเปรียบเทียบกับปริมาณการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 100,000 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แย้มว่า การแบนถ่านหินอาจเป็นก้าวย่างแรกในการมุ่งหน้าสู่การห้ามนำเข้าน้ำมันฟอสซิลทั้งหมดจากรัสเซีย

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น