ยุโรปหายใจโล่งขึ้นบ้าง หลังเครมลินแถลงในวันพุธ (30 มี.ค.) ว่า รัสเซียจะไม่เรียกร้องให้ประเทศผู้ซื้อที่ “ไม่เป็นมิตร” ต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินรูเบิลในทันที กระนั้นก็แสดงท่าทีด้วยว่าต่อไปจะกำหนดราคาสินค้าออกสำคัญทุกอย่างของตนเป็นสกุลเงินรัสเซียทั้งหมด ด้านเยอรมนีและออสเตรียต่างเริ่มแผนรับมือฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน ความหวังจะมีการตกลงกันใดๆ เพื่อคลี่คลายการสู้รบที่ดำเนินมากว่า 1 เดือนต้องริบหรี่ลง โดยยูเครนกล่าวหาหมีขาวว่า ยังคงถล่มโจมตีเมืองเชอร์นิฮิฟ ทางภาคเหนือของตน ทั้งๆ ที่เพิ่งให้สัญญาจะลดปฏิบัติการทางทหาร ภายหลังการเจรจาสันติภาพของ 2 ประเทศมีความคืบหน้า
“มันไม่ใช่แบบที่ว่า ... สิ่งที่จะจัดส่งในวันพรุ่งนี้ จะต้องจ่ายเงินกันภายในคืนวันนี้หรอก” ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกเครมลินบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันพุธ พร้อมกับย้ำว่า การชำระเงินและการส่งสินค้าอย่างก๊าซธรรมชาติ เป็นกระบวนการที่กินเวลา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตอนนี้มอสโกจะรับชำระเงินค่าก๊าซที่จัดส่งให้พวกประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำ “ไม่เป็นมิตร” ซึ่งก็ครอบคลุมถึงพวกสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งหมดด้วย เป็นสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น พร้อมกับกำหนดเส้นตายว่า ภายในวันพฤหัสบดี (31) รัฐบาลรัสเซีย ตลอดจนธนาคารกลางแดนหมีขาว และก๊าซปรอม ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ต้องจัดทำเรื่องระบบต่างๆ ที่จะใช้เพื่อให้การจ่ายค่าก๊าซสามารถทำในสกุลเงินรูเบิล
อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (30) เครมลินได้ส่งสัญญาณด้วยว่า ต่อจากนี้ไปการส่งออกของรัสเซียทั้งที่เป็นสินค้าด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาจกำหนดราคาเป็นสกุลรูเบิลทั้งหมด
ข่าวเรื่องนี้แพร่ออกมาจากการที่ประธานสภาล่างของรัสเซีย วยาเชสลาฟ โวโลดิน ได้สอบถามความเห็นในเรื่องนี้จาก เปสคอฟ แล้วโฆษกของปูตินผู้นี้ก็ตอบว่า นี่เป็นไอเดียอย่างหนึ่งที่ควรต้องจัดทำเป็นรายละเอียดออกมา
เปสคอฟย้ำว่า บทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะเป็นสกุลเงินตราเพื่อการสำรองของทั่วโลกนั้นได้เกิดความเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว และการหันมาตั้งราคาสินค้าส่งออกรายการใหญ่ที่สุดของรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล จะเป็น “ผลประโยชน์ของเราและผลประโยชน์ของพวกคู่ค้าของเรา”
ขณะที่กำหนดเส้นตายของเครมลินเรื่องต้องจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิลยังดูไม่มีความชัดเจนนัก แต่เยอรมนี ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป ซึ่งเมื่อปีที่แล้วนำเข้าก๊าซที่ตนใช้จากรัสเซียถึง 55% ได้ตัดสินใจเคลื่อนไหวแล้วเพื่อเป็นการรับมือเอาไว้ก่อน โดยประกาศใช้ “คำเตือนขั้นต้น” ตั้งแต่วันพุธ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้สามารถใช้มาตรการฉุกเฉินได้ ถ้าในเวลาต่อไปถูกรัสเซียตัดไม่ส่งก๊าซให้
รัฐมนตรีเศรษฐกิจ โรเบิร์ต ฮาเบค ของเยอรมนี บอกว่าจะมีการตั้งห้องวิกฤตการณ์ขึ้นที่กระทรวงเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อคอยติดตามสถานการณ์ปริมาณก๊าซ พร้อมกันนั้น เขาก็เรียกร้องทั้งผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ ให้ช่วยกันประหยัดลดการบริโภคพลังงานลง
ฮาเบค อธิบายว่า มาตรการ “คำเตือนขั้นต้น” เป็นขั้นแรกในคำเตือนที่มีอยู่ 3 ระดับ ตามแผนการเรื่องก๊าซของรัฐบาล โดยที่จะต้องถึงระดับ 3 รัฐบาลจึงจะเข้าไปแทรกแซงในตลาด เพื่อจัดสรรแบ่งปันซัปพลายที่มีอยู่จำกัด โดยจะให้ความสำคัญลำดับแรกๆ แก่พวกผู้บริโภค รวมทั้งบ้านเรือนและโรงพยาบาลต่างๆ
ต่อมาในวันเดียวกัน ออสเตรียก็เจริญรอยตาม โดยแถลงว่ารัฐบาลจะเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบเฝ้าติดตามที่มีอยู่แล้ว เพื่อเตรียมการไว้รับมือถ้าหากเกิดการตัดก๊าซขึ้นมา
ความหวังสงบศึกยังริบหรี่
สำหรับสถานการณ์ทางด้านอื่นๆ นั้น เมื่อวันอังคาร (29) คณะผู้เจรจาของรัสเซียและยูเครนไปพูดคุยกันแบบ “ตัวเป็นๆ” ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังจากนั้นมีการแถลงข่าวว่า การหารือมีความคืบหน้า และรัฐมนตรีช่วยกลาโหม อเล็กซาเนดอร์ โฟมิน ของรัสเซีย เผยว่า มอสโกจะลดการปฏิบัติการทางทหารรอบๆ กรุงเคียฟ และที่เมืองเชอร์นิฮิฟ ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของยูเครน โดยมุ่งให้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับการเจรจาที่ยังคงดำเนินต่อไปกับยูเครน
เวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่อีกหลายคนของรัสเซียระบุว่า การให้คำมั่นดังกล่าวสืบเนื่องจากการเจรจาเรื่องสถานะประเทศที่เป็นกลางและไม่ครอบครองนิวเคลียร์ของยูเครนมีความคืบหน้า ขณะที่เคียฟขานรับว่า การประชุมที่อิสตันบูล “มีนัย” และ “เป็นไปด้วยดี” กระตุ้นความหวังว่า สถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนจะบรรเทาลง กระทั่ง เดวิด อะแร็กคาเมีย ตัวแทนเจรจาของเคียฟ ระบุว่า มีเงื่อนไขเพียงพอสำหรับการจัดประชุมระหว่างประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า รัสเซียแค่ปรับกำลังพล “เล็กๆ น้อยๆ” และยังมีกองกำลังขนาดใหญ่รอบๆ เคียฟ อีกทั้งยังอาจกำลังเตรียม “บุกใหญ่” ในเมืองอื่น
ส่วนกระทรวงกลาโหมอังกฤษก็ระบุว่า มีแนวโน้มสูงที่รัสเซียอาจเปลี่ยนเป้าหมายการโจมตีจากตอนเหนือของยูเครนไปยังพื้นที่ควบคุมของตนเองในโดเนตสก์และลูฮันสก์ทางตะวันออก
ด้านกองทัพยูเครนเตือนเช่นเดียวกันว่า การถอนกำลังของรัสเซียรอบยูเครนและเชอร์นิฮิฟอาจเป็นการสับเปลี่ยนกำลังพลบางหน่วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด
เวลาต่อมา วิเชสลาฟ เชาส์ ผู้ว่าการเขตเชอร์นิฮิฟ โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า เชอร์นิฮิฟถูกถล่มด้วยปืนใหญ่ตลอดคืนวันอังคาร และผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ได้ยินเสียงระเบิดถี่ๆ แถบชานเมืองเออร์พินทางตะวันตกเฉียงเหนือของเคียฟ
ส่วนทางฝ่ายกองทัพรัสเซียกล่าวหากองกำลังยูเครนในเมืองต่างๆ กำลังใช้ข้อตกลงหยุดยิงเพื่อฟื้นศักยภาพการรบ รวมทั้งยูเครนยังจัดเตรียมจุดโจมตีต่างๆ เอาไว้ตามโรงพยาบาลและโรงเรียน
ทางด้านเซเลนสกีกล่าวเมื่อวันอังคารว่า การเจรจาที่ตุรกีมีสัญญาณที่ดี และคาดว่า จะยังมีการหารือต่อผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ย้ำว่า ยูเครนยังไม่มีแผนลดระดับการป้องกันประเทศ พร้อมเรียกร้องตะวันตกอย่าเพิ่งเจรจายกเลิกมาตรการแซงก์ชันมอสโกจนกว่าสงครามจะจบ
ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา กล่าวถึงเรื่องนี้หลังจากหารือกับผู้นำอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีว่า อเมริกาจะรอดูว่า รัสเซียรักษาสัญญาหรือไม่ ขณะที่ผู้นำยุโรปทั้ง 4 ชาติประกาศว่า จะยังไม่เลิกแซงก์ชันมอสโก
ขณะเดียวกัน วอชิงตันเรียกร้องอีกครั้งให้พลเมืองของตนเดินทางออกจากรัสเซียทันที เนื่องจากอาจถูกมอสโกควบคุมตัว
จีน-รัสเซียยืนยันร่วมมือ "ไม่จำกัด"
ในอีกด้านหนึ่ง ที่มณฑลอานฮุย ของจีน ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งจัดการหารือนอกแบบการประชุมนี้ ได้ออกคำแถลงร่วมประณามการแซงก์ชันของตะวันตกต่อมอสโกว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า หวังและลาฟรอฟเห็นพ้องว่า รัสเซียและจีนควรเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อไปและแสดงจุดยืนเกี่ยวกับกิจการโลกที่เป็นหนึ่งเดียว
ทางฝ่ายหวัง กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียยืนหยัดต้านทานบททดสอบจากวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ และทั้งสองชาติยินดีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่เติบโตอย่างยืดหยุ่นต่อไป
นอกจากนั้น กระทรวงต่างประเทศจีนยังแถลงย้ำว่า การร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียไม่มีขีดจำกัด เช่นเดียวกับความพยายามร่วมกันเพื่อบรรลุสันติภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง และต่อต้านการครอบงำของมหาอำนาจ
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)