xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไร้วี่แววผ่าทางตัน สหรัฐฯ เย้ย ‘ปูติน’ หลังชนฝา-ระดมพันธมิตรคว่ำบาตรเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน
ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนซึ่งยืดเยื้อมานาน 1 เดือนเริ่มเข้าสู่ทางตัน โดยกองกำลังฝ่ายรัฐบาลเคียฟยังสามารถต้านทานการรุกคืบของทหารรัสเซียได้อย่างเหนียวแน่น และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมถอยง่ายๆ ด้านผู้นำสหรัฐฯ เตรียมหารือพันธมิตรยุโรปเพื่อเพิ่มมาตรการกดดันรัสเซีย พร้อมเตือนว่า ปูติน ที่กำลังจนตรอกอาจตัดสินใจนำอาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพออกมาใช้เพื่อจบสงครามโดยเร็ว

ขณะที่การสู้รบเริ่มย่างเข้าสู่เดือนที่ 2 คณะผู้เจรจาของรัสเซียและยูเครนได้ตกลงให้มีการเปิดเส้นทางมนุษยธรรมรายวันสำหรับพลเรือนผู้ลี้ภัย และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ประกาศว่าจะยอมทำตามข้อเรียกร้องบางประการของรัสเซีย หากผ่านประชามติเห็นชอบจากประชาชน

อย่างไรก็ดี ผู้นำยูเครนยังปฏิเสธที่จะวางอาวุธ และไม่ยอมที่จะตัดความร่วมมือต่างๆ กับพันธมิตรตะวันตกอย่างที่รัสเซียต้องการให้เป็น

สื่อ NBC News ของสหรัฐฯ อ้างความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงนาโตคนหนึ่งซึ่งระบุว่า สถานการณ์ในยูเครน “แม้ยังไม่ถึงทางตัน ก็คงจะใกล้เข้ามาทุกที” และยังไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ได้เปรียบกว่าอย่างชัดเจน

เจ้าหน้าที่รายนี้ระบุด้วยว่า เบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซียอาจจะกระโดดเข้าร่วมวงสงครามในอีกไม่ช้า และอาจจะอนุญาตให้รัสเซียส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปประจำการในแผ่นดินเบลารุส หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พวกเขาก็เปิดทางให้กองทัพรัสเซียใช้ดินแดนในการรุกรานยูเครนมาแล้ว

สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตมีกำลังใจฮึกเหิมหลังจากที่เห็นยูเครนสามารถต่อกรกับรัสเซียได้อย่างเข้มแข็งจนน่าประหลาดใจ ขณะที่กองทัพมหาอำนาจอย่างรัสเซียกลับแสดงศักยภาพในการรบที่ต่ำกว่าความคาดหมาย

กระนั้นก็ดี ผู้นำตะวันตกมองว่า ปูติน ดูจะไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่กับการเจรจาทางการทูตเพื่อยุติสงคราม ซึ่งอาจจะทำให้ความขัดแย้งครั้งนี้ลากยาว และก่อความสูญเสียขั้นหายนะต่อประชาชนชาวยูเครน

เจ้าหน้าที่นาโตคนเดิมระบุว่า แม้ปฏิบัติการของรัสเซียจะปราศจากความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 สัปดาห์หลัง ทว่า ปูติน ยังแสดงท่าทีดื้อแพ่ง และไม่ยอมรับความล้มเหลว

"ฝ่ายยูเครนเองก็เช่นกัน พวกเขาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมแพ้" เจ้าหน้าที่นาโตกล่าว พร้อมเตือนว่า การต่อต้านจากชาวยูเครนจะทำให้รัสเซียต้องเผชิญความยากลำบากในการควบคุมดินแดนที่ยึดครองมาได้

"แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีกองกำลัง 2 ฝ่ายที่กำลังบดขยี้กันในลักษณะนี้? มันย่อมนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและความเสียหายที่ร้ายแรง" เจ้าหน้าที่นาโตกล่าว "ไม่มีฝ่ายไหนที่สามารถเอาชนะ และไม่มีฝ่ายไหนที่จะยอมจำนน"

เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกด้วยว่า นาโตยังคงไม่แน่ใจว่า ปูติน มีความตั้งใจเดินหน้ายุทธศาสตร์ขั้นสูงสุดเพื่อยึดครองพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของยูเครนหรือไม่ แต่เห็นได้ชัดว่ารัสเซียเริ่มขยายขอบเขตการโจมตีไปสู่เมืองทางตะวันตกของยูเครน ซึ่งแทบจะไม่ถูกแตะต้องเลยในช่วงวันแรกๆ ของสงคราม

นาโตยังเริ่มกังวลว่า “เบลารุส” ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของรัสเซียอาจเข้าร่วมสงครามด้วยในที่สุด โดยเมื่อเดือนที่แล้วพลเมืองเบลารุสได้ลงประชามติเห็นชอบละทิ้งสถานะปลอดนิวเคลียร์ของประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าเป็น “ลางบอกเหตุทางการเมือง” ที่อาจนำไปสู่การเปิดทางให้รัสเซียประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศแห่งนี้

ภาพถ่ายดาวเทียม Maxar เมื่อวันที่ 22 มี.ค. เผยสภาพความเสียหายของอาคารบ้านเรือนในเมืองท่ามาริอูโปล (Mariupol) ของยูเครน หลังจากที่ถูกกองทัพรัสเซียยิงถล่มอย่างหนัก

ห้างสรรพสินค้า Retroville ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟถูกรัสเซียยิงโจมตีพังพินาศเมื่อวันที่ 21 มี.ค. โดยมอสโกอ้างว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ซุกซ่อนอาวุธของฝ่ายยูเครน
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (22 มี.ค.) ว่า กองทัพรัสเซียสูญเสียกำลังรบไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10% นับตั้งแต่ ปูติน สั่งให้กองทัพรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ขณะที่กองกำลังพื้นราบส่วนใหญ่ยังคงชะงักงัน ไม่สามารถที่จะเข้ายึดเมืองเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เมืองท่ามาริอูโปล (Mariupol) ซึ่งเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซียถูกยิงถล่มจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยประธานาธิบดีเซเลนสกี ระบุในวันพุธ (23) ว่า พลเรือนราว 100,000 คนที่นั่นกำลังเผชิญวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ไม่มีทั้งอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และยังต้องหนีเอาชีวิตรอดจากกระสุนและระเบิดของรัสเซียที่ระดมยิงมาอย่างต่อเนื่อง

รัสเซียยื่นคำขาดให้ทหารยูเครนในมาริอูโปลวางอาวุธยอมแพ้ภายใน 5.00 น.ของวันจันทร์ (21) แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากฝ่ายเคียฟ ซึ่งอ้างว่าศพชาวยูเครนที่นอนก่ายกองตามท้องถนนทำให้พวกเขายิ่งมีใจฮึดสู้มากขึ้นอีก

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่าอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 20,000 คน และเสียชีวิต 3,000 คนในมาริอูโปล แต่ยอมรับว่ายังไม่รู้จำนวนที่แท้จริง ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องเมื่อวันอังคาร (22) ให้รัสเซียยุติ “สงครามไร้สาระ” เพราะต่อให้มาริอูโปลจะแตก แต่ยูเครนคงไม่ยอมยกทุกเมือง ถนนทุกสาย หรือบ้านทุกหลังให้รัสเซีย และไม่ช้าก็เร็ว กระบวนการจะย้ายจากสนามรบสู่โต๊ะเจรจาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เซเลนสกี ประกาศเมื่อวันจันทร์ (21) ว่าพร้อมที่จะเจรจากับ ปูติน เพื่อยุติสงคราม และเปิดกว้างสำหรับทุกประเด็น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องแหลมไครเมียที่ถูกรัสเซียยึดไปเมือปี 2014 และสถานะของ 2 เขตในดอนบาสที่แยกตัวเป็นรัฐอิสระ อย่างไรก็ดี ผู้นำยูเครนย้ำว่าข้อตกลงประนีประนอมใดๆ ก็ตามกับรัสเซียจะต้องเปิดให้ประชาชนยูเครน “ลงประชามติเห็นชอบ” เสียก่อน

เซเลนสกี ยังยอมรับอีกครั้งว่ายูเครนคงจะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้

“เราเข้าใจว่าพวกเขาไม่ต้องการต่อสู้กับรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่สามารถรับเราเข้าไปได้ เราคงต้องยอมทำใจและบอกว่า โอเค... งั้นก็ขอการการันตีอื่นๆ” ผู้นำยูเครนกล่าว

เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตุรกีซึ่งรับหน้าที่คนกลางในการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ (20) ว่าทั้งสองฝ่ายใกล้จะบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญๆ และเป็นไปได้ที่จะมีการหยุดยิงเร็วๆ นี้ ขณะที่ อิบราฮิม คาลิน โฆษกประธานาธิบดีตุรกี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัลจาซีราในทำนองเดียวกันว่า รัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งได้แก่ การเรียกร้องให้ยูเครน 1) ล้มเลิกความพยายามเข้าเป็นสมาชิกนาโต 2 ) ปลดอาวุธ (demilitarization) 3) ละทิ้งความเป็นนาซี (de-nazification) และ 4) ปกป้องและอนุรักษ์การใช้ภาษารัสเซียในยูเครน ทว่าการหยุดยิงอย่างถาวรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาตรงระหว่าง ปูติน กับ เซเลนสกี ซึ่งในขณะนี้ ปูติน ยังมองว่ายูเครนไม่ยอมอ่อนข้อในประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างเรื่องสถานะของไครเมีย และดอนบาสมากพอที่จะเจรจากันได้

ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนรอขึ้นรถไฟจากสถานี Przemysl ใกล้ชายแดน เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.

ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนรอขึ้นรถไฟจากสถานี Przemysl ใกล้ชายแดน เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้เตือนว่ารัสเซียซึ่งอยู่ในภาวะ “หลังชนฝา” และสูญเสียทั้งกำลังพลและอาวุธแบบดั้งเดิมไปมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะหันไปพึ่งพาตัวเลือกอื่นเพื่อกำชัยชนะในสงคราม โดยเมื่อวันจันทร์ (21) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกมากล่าวโดยไม่อ้างอิงหลักฐานว่า การที่รัสเซียกล่าวหายูเครนว่ามีอาวุธเคมีและชีวภาพซุกซ่อนอยู่คือสัญญาณบ่งบอกว่า ปูติน กำลังคิดจะนำอาวุธเหล่านั้นออกมาใช้เสียเอง

ไบเดน ยังขู่สำทับว่าหากรัสเซียทำเช่นนั้นก็ขอให้เตรียมตัวรับบทลงโทษที่ “ร้ายแรง” จากสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ซึ่งยังไม่บอกว่าคืออะไรแน่

ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของประธานาธิบดี ปูติน ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ CNN ของสหรัฐฯ โดยยอมรับว่าปฏิบัติการทางทหารในยูเครนขณะนี้ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และไม่ปฏิเสธทางเลือกในการใช้ “อาวุธนิวเคลียร์” หากว่ารัสเซียเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความอยู่รอด (existencial threat) ขณะที่ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยอมรับเมื่อวันพุธ (23) ว่า การเจรจาเพื่อยุติสงครามนั้นมีความยากลำบาก มิหนำซ้ำยูเครนยังเปลี่ยนจุดยืนตลอดเวลา จนอดคิดไม่ได้ว่าสหรัฐฯ อาจอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ เพราะกลัวว่าตัวเองจะเสียเปรียบหากการเจรจาสำเร็จอย่างรวดเร็ว แถมวอชิงตันยังจัดส่งอาวุธให้เคียฟไม่หยุดหย่อน

ประธานาธิบดีไบเดน มีกำหนดเดินทางเยือนบรัสเซลส์เพื่อประชุมกับผู้นำอียูและนาโตในวันพฤหัสบดี (24) โดยประเด็นที่คาดว่าจะมีการหารือกัน ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้ามามีส่วนร่วมในวิกฤตยูเครน การประกาศแซงก์ชันรัสเซียเพิ่มเติม รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะขับรัสเซียออกจากกลุ่มประเทศ G20

จีนซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกรายใหญ่ของ G20 คัดค้านการขับรัสเซียออกจากกลุ่ม ขณะที่มอสโกยืนยันแล้วว่า ปูติน จะเข้าร่วมการประชุมซัมมิต G20 ซึ่งจะจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในเดือน พ.ย.ปีนี้

เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ออกมาแสดงความกังวลว่าจีนอาจให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่รัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้ปักกิ่งหยุดกางปีกปกป้องรัสเซียทางการทูต และเลิก “เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน” เพื่อช่วยมอสโกด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันยอมรับว่า “ยังไม่พบหลักฐาน” ว่าจีนส่งอาวุธช่วยรัสเซีย หลังจากที่ ไบเดน ได้วิดีโอคอลพูดคุยกับ สี จิ้นผิง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ที่สุด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือนั้นพุ่งทำสถิติสูงสุด 139.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 7 มี.ค. และทำให้บางประเทศต้องออกมาตรการลดภาษีหรือพยุงราคาเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น นิกเกิล และอะลูมิเนียม ก็พุ่งสูงขึ้นตามๆ กัน

อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานที่ขาดหายไป เนื่องจากยูเครนนั้นเป็นหนึ่งในฐานการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญ

เลขาธิการยูเอ็นเตือนว่า สงครามครั้งนี้กำลังส่งผลร้ายข้ามพรมแดน และอาจ “ก่อพายุหมุนแห่งความอดอยากหิวโหย และการล่มสลายของวงจรการผลิตอาหารโลก” เนื่องจากรัสเซียและยูเครนนั้นส่งออกข้าวสาลีรวมกันถึง 30% ของโลก ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่ต้องเผชิญภาวะทุพโภชนาการจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนเป็น 13 ล้านคน ภายในช่วงปีนี้จนถึงปี 2023

สงครามในยูเครนยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของโควิด-19 โดย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงราว 1% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากระดับปัจจุบันที่คาดว่าจะโตได้ 4.4% ในปี 2022


กำลังโหลดความคิดเห็น