xs
xsm
sm
md
lg

‘เซเลนสกี’ รบเร้าขอคุย ‘ปูติน’ ลั่นข้อตกลงรอมชอมรัสเซียต้องผ่าน ‘ประชามติ’ จากชาวยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนออกมาย้ำข้อเรียกร้องขอเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย พร้อมประกาศกร้าวว่ายูเครนไม่มีทางยอมแพ้และยกเมืองต่างๆ ให้แก่รัสเซียโดยง่าย เว้นแต่จะถูก “ทำลายย่อยยับ” ขณะเดียวกัน บอกด้วยว่า การทำข้อตกลงประนีประนอมกับรัสเซียเพื่อยุติสงครามจะต้องผ่านกระบวนการ “ประชามติ” รับรองจากชาวยูเครนเสียก่อน

ในขณะที่รัสเซียออกมาแถลงแก้ต่างกรณีการทิ้งระเบิดโจมตีห้างสรรพสินค้าในกรุงเคียฟจนมีคนเสียชีวิต 8 ศพ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับบรรดาผู้นำยุโรปเพื่อหาวิธีตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของมอสโกที่นับวันจะยิ่งทวีความโหดร้าย และยังคงไม่สะดุ้งสะเทือนต่อมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก

แม้ตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้นำยูเครนยังประกาศเสียงแข็งว่าประชาชนของเขาจะไม่ยอมยกกรุงเคียฟ เมืองคาร์คีฟทางตะวันออก รวมถึงเมืองท่ามาริอูโปลที่กำลังโดนถล่มอย่างหนักหน่วงให้แก่รัสเซียง่ายๆ

“ยูเครนจะไม่ปฏิบัติตามคำขาดของรัสเซีย... เว้นแต่เราจะโดนทำลายย่อยยับไปเสียก่อน” เซเลนสกี กล่าวท้าทาย

หลังจากปฏิบัติการทางทหารในยูเครนยืดเยื้อมานานร่วมเดือนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ล่าสุดรัสเซียเริ่มยกระดับการโจมตีทั้งทางอากาศและทะเล โดยมีการส่งเครื่องบินออกปฏิบัติภารกิจกว่า 300 รอบในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ในความพยายาม “อย่างถึงที่สุด” ที่จะพลิกเกมและบุกทะลวงแนวต้านของยูเครนให้ได้ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ

ทางการยูเครนได้ประกาศเคอร์ฟิว 35 ชั่วโมงในกรุงเคียฟตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันจันทร์ (21) หลังมีการยิงโจมตีห้างสรรพสินค้า Retroville ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากขีปนาวุธ โดยผู้สื่อข่าว AFP ในพื้นที่รายงานว่า เห็นร่างผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ศพถูกคลุมด้วยผ้าสีดำอยู่ที่พื้น

รัสเซียอ้างว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บ “จรวด” และ “เครื่องกระสุน” ของฝ่ายยูเครน

กองทัพปูติน กำลังเผชิญข้อครหาหนักขึ้นเรื่อยๆ ว่าตั้งใจยิงโจมตีพลเรือน รวมถึงที่มาริอูโปลซึ่งกำลังเผชิญหายนะด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ประชาชนเกือบ 350,000 คนยังคงติดอยู่ภายในเมืองโดยปราศจากทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่ง โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ชี้ว่าเข้าข่ายเป็น “อาชญากรรมสงคราม”

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตแล้ว 925 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 75 คน นับตั้งแต่ปฏิบัติการรุกรานเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ขณะที่ฝ่ายยูเครนอ้างตัวเลขคนตายสูงยิ่งกว่านั้นมาก โดยเจ้าหน้าที่มาริอูโปล ระบุว่า เฉพาะที่เมืองแห่งนี้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงถล่มแบบไม่เลือกหน้าเกิน 2,000 คนเข้าไปแล้ว

รัสเซียยื่นคำขาดให้ทหารยูเครนในมาริอูโปลวางอาวุธยอมแพ้ภายใน 5.00 น.ของวันจันทร์ (21) แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากฝ่ายเคียฟ ซึ่งอ้างว่าศพชาวยูเครนที่นอนก่ายกองตามท้องถนนทำให้พวกเขายิ่งมีใจฮึดสู้มากขึ้นอีก

“วันนี้มาริอูโปลกำลังปกป้องกรุงเคียฟ ดนิโปร และโอเดสซา” โอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยูเครน ระบุ

มาริอูโปลเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ เพราะเป็นช่องทางบกที่จะช่วยเชื่อมกองกำลังรัสเซียจากไครเมียทางตะวันตกเฉียงใต้เข้ากับกองกำลังที่อยู่ทางภาคเหนือและตะวันออก

ยูเครนและรัสเซียเคยส่งผู้แทนมาเจรจากันหลายครั้งผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่อาจฝ่าทางตันเพื่อยุติการสู้รบได้

เซเลนสกี ย้ำว่า การพูดคุยโดยตรงระหว่างเขากับ ปูติน “ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม” คือสิ่งจำเป็น

“ผมเชื่อว่าจนกว่าเราจะได้พบกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย คุณไม่มีทางเข้าใจแจ่มแจ้งว่าพวกเขาพร้อมจะทำอะไรบ้างเพื่อยุติสงคราม และจะทำอะไรบ้างหากฝ่ายเราไม่พร้อมที่จะประนีประนอม” เซเลนสกี กล่าว

“ตัวผมเองพร้อมที่จะพบกับประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับดินแดนที่ถูกยึดครอง แต่ผมเชื่อมั่นว่าคงจะยังหาทางออกกันไม่ได้ในทันที” เซเลนสกี ระบุ

ผู้นำยูเครนชี้ว่ามีเงื่อนไขหลายประการที่จะต้องเกิดขึ้นก่อน ได้แก่ การหยุดยิง ถอนทหาร และการันตีความมั่นคงให้แก่ยูเครน นอกจากนี้ การทำข้อตกลงประนีประนอมใดๆ ก็ตามกับรัสเซียเพื่อยุติสงครามจะต้องผ่าน “ประชามติ” ของชาวยูเครนเสียก่อน

“ประชาชนต้องมีโอกาสได้พูดและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประนีประนอม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างบ้างนั้นขึ้นอยู่กับการพูดคุยและความเข้าใจระหว่างยูเครนกับรัสเซีย”

เซเลนสกี ระบุว่า ประเด็นที่อาจจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการประชามติ ได้แก่ เรื่องดินแดนที่ถูกยึดครองโดยทหารรัสเซีย เช่น ไครเมีย รวมถึงการที่ประเทศต่างๆ จะการันตีความมั่นคงให้แก่ยูเครน เพื่อทดแทนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

ผู้นำยูเครนยังยอมรับอีกครั้งว่า ยูเครนตระหนักดีว่าคงจะไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้

“เราเข้าใจว่าพวกเขาไม่ต้องการต่อสู้กับรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่สามารถรับเราเข้าไปได้ เราก็คงต้องยอมทำใจและบอกว่า โอเค... งั้นก็ขอการการันตีอื่นๆ”

ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น