บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปในวันจันทร์ (21 มี.ค.) มีความเห็นแตกต่างกันว่าจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซียหรือไม่และอย่างไร ลงโทษกรณีที่มอสโกรุกรานยูเครน ด้วยเยอรมนีแสดงจุดยืนคัดค้าน โดยบอกว่าทางกลุ่มพึ่งพิงน้ำมันของรัสเซียมากเกินกว่าจะตัดสินใจแบนนำเข้าน้ำมันจากประเทศแห่งนี้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และบรรดาผู้นำพันธมิตรยุโรปหารือกันเกี่ยวกับสงคราม "อันโหดร้าย" ของรัสเซีย ในยูเครน เมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) เริ่มต้นสัปดาห์อันสำคัญในเหตุเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับมอสโก ที่จะได้เห็น ไบเดน เดินทางเยือนโปแลนด์ หลังเข้าร่วมประชุมซัมมิตนาโต้และอียู
ไบเดน เป็นเจ้าภาพนัดหารือทางโทรศัพท์ ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง กับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส โอลาฟ โชล์ซ นายกรัฐมตรีเยอรมรี มาริโอ ดรากิ นายกรัฐมนตรีอิตาลี และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางตอบโต้ร่วมกัน จากการเปิดเผยของทำเนียบขาว
"พวกผู้นำหารือกันเกี่ยวกับความกังวลร้ายแรงของพวกเขาต่อกลยุทธ์อันโหดเหี้ยมของรัสเซียในยูเครน ในนั้นรวมถึงการโจมตีใส่พลเรือน" ทำเนียบขาวระบุในถ้อยแถลง "พวกเขาเน้นย้ำว่ายังคงให้การสนับสนุนยูเครน ในนั้นรวมถึงมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ชาวยูเครนผู้กล้าหาญ ซึ่งกำลังปกป้องประเทศตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวยูเครนหลายล้านคนที่หลบหนี"
ในวันพุธ (23 มี.ค.) ไบเดน จะออกเดินทางในโปรแกรมเยือนต่างประเทศที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะร่วมประชุมซัมมิตนาโต้และอียู ในบรัสเซลส์ วันพฤหัสบดี (24 มี.ค.) จากนั้นจะพบปะกับ อันเดรจ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ ในวันเสาร์ (26 มี.ค.)
สงครามรัสเซียกำลังเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ และตะวันตกได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เล่นงานมอสโกหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ฉุดค่าเงินรูเบิลดำดิ่งและสั่นคลอนตลาดทุน พร้อมกับไล่ล่าลงโทษเหล่าผู้สนับสนุนผู้มั่งคั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
อียูและพันธมิตรได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียหนักหน่วงอยู่ก่อนแล้ว ในนั้นรวมถึงอายัดทรัพย์ธนาคารกลางรัสเซีย
การปิดล้อมและทิ้งระเบิดถล่มเมืองมาริอูโปลของรัสเซีย ซึ่ง โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู เรียกมันว่า "อาชญากรรมสงครามใหญ่หลวง" ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้พวกเขาต้องลงมือหนักหน่วงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเล็งเป้าเล่นงานภาคพลังงานของรัสเซีย แบบที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรดำเนินการเป็นตัวเลือกที่เห็นต่างกันภายใน 27 ชาติสมาชิกอียู ซึ่งพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 40% ของปริมาณก๊าซธรรมชาตินำเข้าทั้งหมด
ผูัแทนทูตรายหนึ่งของอียูบอกว่ามีความหวังอยู่บ้างว่าในเดือนมิถุนายน อียูอาจพบแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ มากพอที่จะสามารถพิจารณาอย่างจริงจังในการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับกรอบเวลา และบางประเทศในอียูอาจมีเป้าหมายที่ต่างออกไปอยู่ในใจ
เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์แย้งว่าอียูต้องพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย และไม่สามารถตัดขาดตนเองจากพลังงานของรัสเซียในตอนนี้
"คำถามเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าน้ำมัน ไม่ใช่คำถามว่าเราต้องการหรือไม่ต้องการทำมัน หรือไม่ แต่คำถามที่แท้จริงก็คือ เราพึ่งพิงน้ำมันของรัสเซียมากแค่ไหน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีบอกกับผู้สื่อข่าว "เยอรมนีนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียปริมาณมาก และยังมีรัฐสมาชิกอื่นๆ ที่ไม่สามารถหยุดนำเข้าน้ำมันได้ชั่วข้ามคืน" เธอกล่าว พร้อมระบุว่า อียูควรหันมามุ่งเน้นทำงานด้านลดการพึ่งพิงพลังงานของมอสโกแทน
บรรดาผู้แทนทูตบอกว่าเหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีของรัสเซียในยูเครน หรือการทิ้งระเบิดถล่มกรุงเคียฟอย่างหนัก อาจกระตุ้นให้อียูเดินหน้ามาตรการแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ตาม พวกเขาเตือนว่าพลังงานเป็นหนึ่งในภาคที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุดสำหรับการคว่ำบาตร และแต่ละประเทศของอียูล้วนแต่มีเส้นตายของตนเอง
ขณะที่บรรดาประเทศในแถบบอลติกต้องการคว่ำบาตรแบนนำเข้าน้ำมัน แต่เยอรมนี อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพึ่งพิงแก๊สจากรัสเซีย ตีกลับข้อเสนอ สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงอยู่ก่อนแล้ว
ในส่วนของมอสโกเอง เตือนว่ามาตรการคว่ำบาตรลักษณะดังกล่าวอาจกระตุ้นให้พวกเขาปิดท่อลำเลียงก๊าซที่ป้อนไปยังยุโรป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในความเคลื่อนไหวแบนนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)