รัสเซียแถลงว่า ภายในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) นี้ จะจัดทำวิธีการในทางปฏิบัติเพื่อให้พวกบริษัทต่างชาติของบรรดาประเทศ “ไม่เป็นมิตร” สามารถจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิลตามเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาของแดนหมีขาวได้ พร้อมย้ำว่าจะไม่ส่งสินค้าพลังงานสำคัญชนิดนี้ให้ยุโรปใช้ฟรีๆ แน่นอน หลังจากกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมทำตามเงื่อนไขนี้ของมอสโก จนทำให้เกิดความหวั่นกลัวกันว่าพวกประเทศอียูจะต้องเจอปัญหาก๊าซขาดแคลน
คำสั่งซึ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ให้คิดราคาก๊าซรัสเซียซึ่งส่งให้พวก “ประเทศไม่เป็นมิตร” เป็นสกุลเงินรูเบิล นอกจากทำให้ราคาก๊าซในตลาดทะยานแล้ว ยังทำให้ค่าเงินรัสเซียพุ่งขึ้นมาอย่างแรง หลังจากหล่นลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่านับแต่ที่ฝ่ายตะวันตกประกาศใช้มาตรการแซงก์ชันสุดโหดเพื่อเล่นงานรัสเซียจากการยกทัพบุกรุกรานยูเครน
ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกรัสเซียขึ้นบัญชีดำ “ไม่เป็นมิตร” ด้วยนั้น ระหว่างการประชุมซัมมิตผู้นำอียูเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (25) ยังไม่สามารถหาจุดยืนร่วมเกี่ยวกับเงื่อนไขเรื่องนี้ของปูติน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางรัสเซีย รัฐบาลเครมลิน และรัฐวิสาหกิจก๊าซปรอม ซึ่งส่งออกก๊าซป้อนสนองความต้องการของยุโรปถึง 40% จะต้องเสนอแผนการรับชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลต่อประธานาธิบดีปูติน ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้
ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย แถลงในวันอังคาร (29) ว่า รูปแบบต่างๆ ในการชำระเงินที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องของรัสเซียกำลังพัฒนากันอยู่ ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเส้นตาย 31 มี.ค. โดยที่ระบบนี้มุ่งจะให้ผู้ซื้อก๊าซยุโรปและผู้ซื้อระหว่างประเทศสามารถใช้งานได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย และคุ้มค่าใช้จ่าย
ก่อนหน้านั้น เขากล่าวย้ำว่า “เราจะไม่ส่งก๊าซให้พวกเขาใช้ฟรีๆ เรื่องนี้แน่นอน” พร้อมกับพูดต่อไปด้วยว่า “ในสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ คงเป็นไปได้ยากและไม่เหมาะที่จะทำการกุศล (กับลูกค้าในยุโรป)”
ในบทสัมภาษณ์ที่ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (28) ทางสถานีโทรทัศน์ PBS ของสหรัฐฯ ผู้สื่อข่าวได้ถาม เปสคอฟ ว่ารัสเซียจะหยุดส่งก๊าซให้แก่ชาติที่ไม่ยอมจ่ายเงินใช่หรือไม่ ซึ่งโฆษกหมีขาวตอบชัดเจนว่า “ถ้าไม่จ่าย ก็ไม่มีก๊าซ”
อย่างไรก็ตาม เปสคอฟย้ำว่ารัสเซีย “ยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย” ว่าจะตอบโต้อย่างไรหากพวกชาติยุโรปไม่ยอมจ่ายค่าก๊าซเป็นรูเบิล
ด้าน วาเลนตินา มาตวิเยนโก ประธานสภาสหพันธ์ หรือสภาสูงของรัสเซีย บอกว่า มอสโกเตรียมพร้อมเอาไว้แล้วถ้าหากยุโรปปฏิเสธที่จะซื้อพลังงานของรัสเซีย โดยรัสเซียสามารถที่จะส่งไปขายยังตลาดทางเอเชียก็ได้ นอกเหนือจากทางเลือกอื่นๆ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวทาสส์
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจากกลุ่ม G7 ซึ่งได้แก่ แคนาดา สหรัฐฯ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น พร้อมใจกันปฏิเสธเงื่อนไขของรัสเซียเรื่องการจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ตามคำยืนยันจากโรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการปกป้องสภาพอากาศของเยอรมนี
“กลุ่ม G7 เห็นตรงกันว่า นี่คือการละเมิดข้อตกลงที่มีอยู่เดิมอย่างชัดแจ้ง” ฮาเบ็ค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมทางไกล
บรรดารัฐมนตรีพลังงาน G7 ยังเน้นด้วยว่า “ข้อตกลงที่มีการเจรจาเสร็จสิ้นไปแล้วถือว่ามีผลตามนั้น และทุกบริษัทจะต้องปฏิบัติตาม การบังคับให้จ่ายเป็นรูเบิลจึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเราขอเรียกร้องให้ทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องจงอย่าได้ทำตามข้อเรียกร้องของปูติน”
อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาขายส่งก๊าซในเนเธอร์แลนด์และอังกฤษขยับขึ้นสูงสุดถึง 20% เมื่อวันจันทร์ (28)
รัสเซียส่งออกก๊าซไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 155,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีที่ผ่านมา และอียูตั้งเป้าที่จะลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในปีนี้ ก่อนจะหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียโดยสิ้นเชิงภายในปี 2027
สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (25) ว่าจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวน 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรให้แก่สหภาพยุโรปภายในปีนี้
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่าโรงงานก๊าซ LNG ของสหรัฐฯ เองมีการผลิตแบบเต็มศักยภาพอยู่แล้ว ดังนั้นปริมาณก๊าซส่วนเสริมที่จะส่งให้ยุโรปคงจะต้องดึงมาจากก๊าซที่สหรัฐฯ ส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนั้นปริมาณดังกล่าวก็เป็นแค่ส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ของยุโรป
ยุโรปจะเสียหายร้ายแรง
ในบรรดาประเทศอียูด้วยกัน การตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ของปูติน ก่อให้เกิดความหวั่นกลัวมากเป็นพิเศษในเยอรมนี ชาติเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและก็เป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยก๊าซรัสเซียอย่างมากมาย โดยเห็นกันว่าหากการส่งก๊าซรัสเซียมายังเยอรมนีเกิดการสะดุดติดขัด จะส่งผลกระทบหนักทั้งต่ออุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
ถ้าไม่มีก๊าซจากรัสเซีย เศรษฐกิจเยอรมนีจะเผชิญ “ความเสียหายอย่างมหึมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงถ้าหากมีหนทางใดๆ ที่จะหลีกเลี่ยงได้” ลีออนฮาร์ด เบิร์นบอม ซีอีโอของบริษัทผลิตไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ E.ON บอกกับทีวีเยอรมนี โดยระบุว่า เยอรมนีจำเป็นต้องใช้เวลา 3 ปีทีเดียวจึงจะสามารถเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งก๊าซรัสเซียได้
ในกรณีที่เกิดการติดขัดขึ้นมา เขาอธิบายว่าทางผู้กำกับตรวจสอบเครือข่ายก๊าซของเยอรมนีจะให้ความสำคัญแก่การทำความร้อนของครัวเรือนมากกว่าการใช้ในทางอุตสาหกรรม ดังนั้นพวกโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาล อย่างเช่น ผู้ผลิตเหล็กกล้า จะต้องแบกรับความเสียหายเป็นรายแรกๆ ถ้าเกิดการตัดลดก๊าซ
ด้าน มาร์คุส เคร็บเบอร์ ซีอีโอของ RWE กิจการสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และเป็นลูกค้ารายหนึ่งของก๊าซปรอม บอกว่า เยอรมนีจะสามารถรับมือได้เพียงช่วงเวลาสั้นมากๆ เท่านั้น ถ้าการนำเข้าก๊าซรัสเซียต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ข้อมูลจากองค์การ โครงสร้างพื้นฐานก๊าซยุโรป แสดงให้เห็นว่า สถานที่เก็บก๊าซของอียูเวลานี้มีก๊าซอยู่เพียงแค่ราว 26% ของจำนวนเต็ม ตัวเลขนี้ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความลำบากในการหาผู้จัดส่งพลังงานรายอื่นๆ มาแทนที่รัสเซีย
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเจนซีส์)