เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) บริษัทหัวเว่ย ซึ่งออกมาปรากฏตัวครั้งแรกนับแต่เดินทางกลับบ้านหลังถูกกักตัวในแคนาดาเกือบ 3 ปี แถลงว่าผลจากการกดดันของอเมริกา ทำให้บริษัทมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและรับมือความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น โดยปี 2021 ที่ผ่านมา สามารถทำกำไรสุทธิทุบสถิติ แม้ยอดขายลดลงก็ตาม
เมิ่ง บุตรสาวคนโตของ เริ่น เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับวอชิงตัน จากการที่เธอถูกกักตัวในแคนาดาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อรอส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ในข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวเว่ย พยายามขายอุปกรณ์ให้อิหร่านซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการแซงก์ชันของอเมริกา
หลังจากนั้น คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาตรการจำกัดการค้าต่อหัวเว่ย ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมและผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ของโลก หลายระลอกตลอดปี 2019 และ 2020 โดยอ้างข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ และมาตรการเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความสามารถของหัวเว่ยในการออกแบบชิป รวมถึงการจัดซื้อชิ้นส่วนจากผู้ค้าภายนอก ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัท
เมิ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับจีนในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา หลังทำข้อตกลงกับอัยการสหรัฐฯ เพื่อยุติคดีที่เธอถูกกล่าวหา
เมื่อวันจันทร์ (28 มี.ค.) เมิ่ง ในฐานะซีเอฟโอของหัวเว่ย แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยเผชิญความกดดันอย่างหนักหน่วง แต่ตลอดกระบวนการนี้ทำให้พนักงานสามัคคีกันมากขึ้น ขณะที่บริษัทมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถรับมือความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น
เมื่อถูกถามว่า ทำอะไรบ้างนับจากเดินทางกลับบ้านเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เมิ่งตอบว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปมากและเธอพยายามเรียนรู้และไล่ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
ทั้งนี้ มาตรการแซงก์ชันของวอชิงตันยังคงส่งผลกดดันธุรกิจของหัวเว่ยหนักหน่วง โดยรายรับตลอดปี 2021 ที่ผ่านมาลดลง 29% เหลือ 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่กระนั้นกำไรสุทธิกลับทะยานขึ้นทำสถิติถึง 76% เป็น 17,800 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยหลักคือยอดขายมือถือราคาต่ำ “ออเนอร์” และธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ภายใต้ความกดดันของอเมริกา รวมถึงความพยายามในการลดต้นทุน
เมิ่ง แจงว่า รายรับที่ลดลงเป็นผลจากการแซงก์ชันของอเมริกาต่อธุรกิจสมาร์ทโฟน และเสริมว่า การระบาดของโควิด ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการสถานีฐาน 5จีที่ชะลอลง ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ฉุดรายได้ของบริษัท
ทางด้าน กัว ผิง ประธานกรรมการวาระปัจจุบันของหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้ระบบให้ผู้บริหารระดับท็อปหลายคนหมุนเวียนกันขึ้นตำแหน่งสูงสุดเป็นช่วงๆ กล่าวว่า บริษัทหวังว่า จะค้นพบวิธีทำให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนมีความยั่งยืนและจะเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยเพื่อปฏิวัติวงการไมโครชิป หลังจากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางอย่างได้อันเนื่องมาจากมาตรการแซงก์ชันของอเมริกา
แม้กัวไม่ได้ตอบคำถามว่า หัวเว่ยมีแผนสร้างโรงงานผลิตชิปของตัวเองหรือไม่ แต่เขาย้ำว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) การเชื่อมต่อไวไฟ 6 พลังงานสีเขียว รถยนต์ และคลาวด์คอมพิวติ้ง คือส่วนสำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนถึงโอกาสธุรกิจใหม่ๆ
ส่วนคำถามว่า หัวเว่ยจะได้รับผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชันรัสเซียของอเมริกาหรือไม่นั้น กัวตอบว่า บริษัทกำลังประเมินนโยบายที่เกี่ยวข้อง และยังไม่มีแผนเปิดตัวระบบปฏิบัติการบนมือถือ “ฮาร์โมนี” ในตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากต่างมีคำถามว่า บริษัทจีนอย่างหัวเว่ยสามารถเติมเต็มสุญญากาศจากการที่บริษัทต่างๆ ถอนตัวออกจากรัสเซียเพื่อต่อต้านสงครามในยูเครนหรือไม่
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)