แม้บริษัทตะวันตกอย่างแอปเปิล ไนกี้ เน็ตฟลิกซ์ และเชนเสื้อผ้าแฟชั่นเอชแอนด์เอ็ม พากันทิ้งรัสเซียท่ามกลางการแซงก์ชันของนานาชาติและการประณามประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ทว่า บริษัทจีนกลับยังคงปักหลักในแดนหมีขาวต่อไปอย่างเงียบกริบ หลังได้รับสัญญาณจากปักกิ่งที่งดเว้นไม่เรียกการบุกยูเครนของมอสโกว่าเป็น “การรุกราน”
รัฐบาลจีนที่เพิ่งทำความตกลงเป็นหุ้นส่วนแบบ “ไร้ขีดจำกัด” กับรัสเซียเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้ามอสโกยกทัพบุกยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนมีความสลับซับซ้อน และไม่อาจเข้าใจได้หากพิจารณาแค่เฉพาะส่วน ทั้งนี้ ปักกิ่งระบุว่าการที่สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกขยายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ไปในยุโรปตะวันออกไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งจ่อหน้าบ้านรัสเซีย คือต้นเหตุของวิกฤตนี้ และเรียกร้องทุกฝ่ายหาทางออกด้วยการเจรจา ขณะที่บนโลกออนไลน์ คนจีนสนับสนุนการบุกโจมตีของรัสเซียอย่างท่วมท้น
สัปดาห์ที่แล้ว ตีตี้ ชูสิง ยักษ์ใหญ่แอปเรียกแท็กซี่ของจีน ถูกทัวร์ลงหลังจากประกาศถอนตัวจากรัสเซีย โดยผู้ใช้โซเชียลกล่าวหาว่า ตีตี้ยอมแพ้แรงกดดันของอเมริกาที่กระทำกับรัสเซีย จนที่สุดบริษัทต้องกลับลำ ทว่าไม่ได้อธิบายต้นสายปลายเหตุแต่อย่างใด
ด้าน เลอโนโว ผู้ผลิตพีซีเบอร์หนึ่งของโลก ก็โดนถล่มในจีนเช่นเดียวกัน เมื่อสื่อเบลารุสรายงานโดยไม่เปิดเผยแหล่งข่าวว่า เลอโนโวอาจหยุดจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้รัสเซีย
แดน หวัง นักวิเคราะห์ของกาเวนคัล ดราโกโนมิกส์ อธิบายว่า รัสเซียเป็นตลาดที่เล็กเกินกว่าที่บริษัทจีนส่วนใหญ่จะยอมเสี่ยง เมื่ออาจจะถูกตัดขาดจากตลาดที่พัฒนาแล้วหรือตกเป็นเหยื่อถูกแซงก์ชันเสียเอง
ยกตัวอย่างเช่นตลาดสมาร์ทโฟนรัสเซีย มียอดขายปีที่แล้ว 31 ล้านเครื่อง หรือแค่ 1 ใน 10 ของตลาดจีน ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทวิจัยไอดีซี
อย่างไรก็ดี การเลือกอยู่ในรัสเซียต่อไปอาจทำให้บริษัทจีนได้โอกาสกวาดส่วนแบ่งตลาด แต่จะขายของได้อีกนานแค่ไหนคือคำถามใหญ่กว่า เมื่อพิจารณาถึงการยกระดับมาตรการแซงก์ชันและการจำกัดการส่งออกจากตะวันตก
ในส่วนสมาร์ทโฟนนั้น แบรนด์จีนอย่างเสียวหมี่ และออเนอร์ ต้องขับเคี่ยวกับผู้นำในตลาดรัสเซียคือ ซัมซุง และไอโฟนของแอปเปิล ขณะที่ค่ายรถจีนอย่างเกรต วอลล์ มอเตอร์ และบีวายดี หมายมั่นตลาดรัสเซียมาหลายปี
ทว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนเหล่านี้ใช้ชิปที่บางส่วนออกแบบด้วยเทคโนโลยีของอเมริกา ซึ่งอาจเข้าข่ายการถูกแซงก์ชันขั้นทุติยภูมิ สืบเนื่องจากสหรัฐฯ ใช้กฎที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการวางอำนาจบาตรใหญ่แบบอ้างสิทธินอกอาณาเขตของตนเอง นั่นคือการกำหนดว่า ผลิตภัณฑ์ใดแม้ว่าผลิตขึ้นนอกสหรัฐฯ แต่ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดในอเมริกาในสัดส่วนที่ระบุ จะต้องห้ามไม่ให้จัดส่งแก่ผู้ซื้อที่เป็นเป้าหมายการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ยกเว้นแต่มีใบอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ หัวเว่ย เทคโนโลยี และเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง อินเตอร์เนชันแนล (เอสเอ็มไอซี) สองบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยีสำคัญ เช่น ชิป และอุปกรณ์เครือข่าย คือตัวอย่างของบริษัทจีนที่ตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงานจากมาตรการดังกล่าวนี้ของอเมริกามาแล้ว เนื่องจากยังต้องพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติบางส่วนในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย
นาธาน บุช ที่ปรึกษาด้านกฎหมายการค้าและการกีดกันการค้าของดีแอลเอ ไพเพอร์ ในสิงคโปร์ ชี้ว่า บริษัทจีนจะต้องอาศัยสัญชาตญาณและการวินิจฉัยด้านเทคนิค เพื่อพิจารณาว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต รวมทั้งส่วนประกอบต่างๆ ของมัน เข้าข่ายละเมิดข้อกำหนดที่ซับซ้อนของอเมริกาเหล่านี้หรือไม่
เขาเสริมว่า มีแนวโน้มที่บริษัทจีนจะหยุดพักเพื่อประเมินความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานของตน เนื่องจากลักษณะที่ “ซับซ้อนอย่างเลวร้าย” ของกฎเกณฑ์ของอเมริกา
กระนั้น ตอนนี้ดูเหมือนบริษัทจีนยังพยายามทำธุรกิจในรัสเซียตามปกติ และพร้อมยอมรับผลที่จะเกิดตามมา
วันที่ 2 เดือนนี้ซึ่งเป็นวันที่แอปเปิลประกาศถอนตัวจากรัสเซีย และค่าเงินรูเบิลอ่อนยวบเมื่อเทียบดอลลาร์ คอมเมนเตเตอร์คนหนึ่งถามผ่านบัญชีอินสตาแกรมของเสียวหมี่ รัสเซียว่า บริษัทมีแผนจะขึ้นราคามือถือหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า “ราคาบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเรายังไม่เปลี่ยนแปลง”
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเจนซีส์)