“NT-บิทคับ” จับมือสร้างแพลตฟอร์มบริการด้านสุขภาพให้ “สปสช.” คาดสิ้นปีนี้จะดำเนินการในเฟสแรก พร้อมเริ่มเชื่อมโยงระบบได้ในบางส่วน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านสาธารณสุขให้ครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบบริการร่วมกัน ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นของทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีบทบาทในการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้ประชาชน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่มีบทบาทในการดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนด้านการสื่อสารและบริการดิจิทัลให้ประเทศ และบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก หนึ่งในกลุ่มบริษัทบิทคับ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน แถวหน้าของประเทศไทย โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการจัดการฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูง และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือผู้ให้ข้อมูลได้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณูปการในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคม และจิตใจของประชาชนให้เกิดขึ้น
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า การร่วมลงนาม (เอ็มโอยู) ของ NTกับ สปสช. และบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มโครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ แก่ประชาชน โดยทาง สปสช. ให้การสนับสนุนข้อมูล นโยบาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
ส่วน NT จะให้การสนับสนุนการใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G และ 5G คลาวด์คอมพิวติ้ง ไซเบอร์ซิเคียวริตี และดาต้า เซ็นเตอร์ และทางบิทคับ เวิลด์ เทค พัฒนา ดิจิทัล เฮลท์ ไอดี และระบบนำร่อง เฮลท์ แพลตฟอร์ม ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันการใช้ระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในโครงการนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานบริการให้ประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่าย เช่น ระบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันเข้ารับบริการ เป็นต้น และนำไปสู่การพัฒนาระบบเฮลท์ ดิจิทัล ไอดี ที่มีความแม่นยำ และเกิดการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพประชาชน และการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ อันเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการวางโยบายด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบบริการต่างๆ ในอนาคต อย่างเช่น เทเลเฮลท์ และเทเลเมดดิซีนที่ให้บริการแแก่ประชาชน
นายวิชัย ทองแตง ประธานบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบิทคับมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่า 1,600 คน ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลด้านสุขภาพ และเฮลท์ ดิจิทัล ไอดี ของคนไทย และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยทางกระทรวงสาธารณสุขมีฐานข้อมูลอยู่ แต่ยังไม่ได้ถูกรวมเก็บให้เป็นระบบ และมีความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยคาดว่าในสิ้นปีนี้จะดำเนินการในเฟสแรก พร้อมเริ่มเชื่อมโยงระบบได้ในบางส่วน