xs
xsm
sm
md
lg

12 หน่วยงานภาครัฐ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล กับ 12 หน่วยงานภาครัฐ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์


วันนี้ (17 มี.ค.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี (ผ่านระบบ ZOOM) ผู้บริหารองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศ 12 หน่วยงาน นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้แทนกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนาม ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข พร้อมด้วย องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ 12 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ "โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล" เพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างกัน อาทิ ข้อมูลการรักษา การแพ้ยา และการทำหัตถการของผู้ป่วย เป็นต้น นำไปสู่การพัฒนาเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่าน เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้สำเร็จ จะสามารถขยายฐานข้อมูลไปยังพื้นที่อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 12 หน่วยงาน ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างข้อมูลสาธารณสุขขนาดใหญ่ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนทุกภูมิภาคในประเทศไทยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเที่ยงธรรม ตลอดจนได้รับการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัย

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่พิเศษ มีความหลากหลายของกลุ่มประชากรทั้งคนไทย และต่างชาติ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การคมนาคมและการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จึงจําเป็นอย่างยิ่งต้องมีหน่วยบริการด้านสาธารณสุขที่หลากหลาย ซึ่งกรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาลในสังกัด ภายใต้การดูแลของสำนักการแพทย์ 11 แห่ง และมีศูนย์บริการสาธารณสุข ภายใต้การดูแลของสำนักอนามัย 69 ศูนย์ นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ราชการกรุงเทพมหานคร ยังมีนโยบายที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการดูแลสุขภาพของประชาชน ตลอดจนการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง ตลอดมา กรุงเทพมหานครจึงเชื่อว่าการเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงาน ภายใต้เทคโนโลยีดิจิทัลในครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพและคุณภาพในการให้บริการทางด้านการแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และวางแผนการแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบที่ดี และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไปได้












กำลังโหลดความคิดเห็น