องค์การนิรโทษกรรมสากล (amnesty international) ในวันอังคาร (29 มี.ค.) ประณามอาชญากรรมสงครามในยูเครน ท่ามกลางจำนวนพลเรือนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกราน พร้อมโยงสถานการณ์กับสงครามซีเรีย ขณะที่ยูเครนอ้างว่ามีประชาชนเสียชีวิตในมาริอูโปล แล้วมากกว่า 5,000 คน ในขณะที่เมืองแห่งนี้ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมเลวร้าย อันเนื่องจากการปิดล้อมของกองกำลังรัสเซีย
"สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน เป็นการซ้ำรอยในสิ่งที่เราพบเห็นในซีเรีย" แอกเนส กาลามาร์ด เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากลบอกกับเอเอฟพี ทั้งนี้ เธอกล่าวในโยฮันเนสเบิร์ก ระหว่างเปิดเผยรายงานประจำปีของกลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มนี้ ในด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก
"เราเลยเถิดไปเกินกว่าการโจมตีไม่เลือกหน้า เราอยู่ท่ามกลางการโจมตีโดยจงใจเล่นงานโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน" เธอกล่าว พร้อมกล่าวหารัสเซียเปลี่ยนแนวกันชนด้านมนุษยธรรมเป็นกับดักแห่งความตาย "ที่นี่ เรากำลังเห็นแบบเดียวกัน ในสิ่งที่รัสเซียทำในซีเรีย"
แมรี สตรัทเทอร์ ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปตะวันออกขององค์การนิรโทษกรรมสากล เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว โดยกล่าวระหว่างแถลงแยกกันในปารีส ระบุว่า พวกนักวิจัยในยูเครน "มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้กลยุทธ์เดียวกันกับที่เคยใช้ในซีเรียและเชเชน" ในนั้นรวมถึงการโจมตีพลเรือนและใช้อาวุธหวงห้ามภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบมาริอูโปล ที่ถูกปิดล้อม กับเมืองอเลปโป ของซีเรีย ที่ถูกกระหน่ำโจมตีโดยกองกำลังประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ภายใต้การสนับสนุนทางอากาศจากรัสเซีย กาลามาร์ด ระบุว่า จากการสังเกตการณ์ขององค์การนิรโทษกรรมสากล ในเวลานี้ มันยกระดับสู่อาชญากรรมสงครามแล้ว
รัฐบาลสหรัฐฯ บอกระบุสัปดาห์ที่แล้วว่าข้อมูลสาธารณะ และข่าวกรองที่พวกเขารวบรวมมา รวมกันเป็นหลักฐานที่หนักแน่นว่ากองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
คำกล่าวหาขององค์การนิรโทษกรรมสากล มีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่ยูเครนรายหนึ่งเปิดเผยกับเอเอฟพี ว่าแค่ในเมืองมาริอูโปลเพียงแห่งเดียว มีประชาชนถูกฝังแล้วมากกว่า 5,000 คน
กาลามาร์ด กล่าวโทษความโอหังของรัสเซียในการเผชิญหน้ากับระบบนานาชาติที่เป็นอัมพาต และความเฉยเมยอย่างน่าละอายของสถาบันต่างๆ ในนั้นรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีชื่อที่เหมาะสมกว่านี้ นั่นก็คือคณะมนตรีความไม่มั่นคงแห่งสหประชาชาติ" เธอกล่าว พร้อมระบุว่า สถาบันแห่งนี้ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการดำเนินการอย่างพอเพียงยามเผชิญความโหดร้ายป่าเถื่อนในที่ต่างๆ อย่างเช่น พม่า อัฟกานิสถาน และซีเรีย
เธอเรียกร้องว่า "ไม่ควรมีความเป็นกลาง" ยามที่ต้องจัดการกับรัสเซีย
ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ประเทศในแถบแอฟริกา ราว 20 ชาติ ปฏิเสธใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวกับรัสเซีย ในมติในเรียกร้องรัสเซียหยุดยิง
"หนึ่งในชาติทรงอิทธิพลทางการทูตของทวีป จุดยืนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของแอฟริกาใต้ อ่อนแอ ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และมองเพียงระยะสั้น" กาลามาร์ด กล่าว "แอฟริกาจำเป็นต้องมีบทบาท ในการฟื้นฟูสถาบันและระบบพหุภาคีระดับโลกต่างๆ ในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญผลกระทบหนักหน่วงจากความขัดแย้ง จากราคาข้าวสาลี และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเช่นกัน"
(ที่มา : เอเอฟพี)