ซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ แสดงความเสียใจในวันเสาร์ (26 มี.ค.) ที่ความขัดแย้งต่างๆ ในตะวันออกกลางไม่ได้รับความสนใจ ผิดกับการสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งทางตะวันตกมุ่งมั่นแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันและเห็นอกเห็นใจเคียฟอย่างเต็มกำลัง
"ความทุกข์ทรมานที่เราพบเห็นในยูเครน และที่ทุกคนกำลังพูดถึงกันในเวลานี้ เป็นความทุกข์ทรมานที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ประสบมานานหลายปี และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น" ชีค โมฮัมเมด บิน อับดุลราห์มัน อัล ทานี รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์บอกกับที่ประชุมโต๊ะกลม ณ เวทีสัมมนาประจำปีในโดฮา
"เราไม่เคยเห็นโลกตอบสนองจัดการกับความทุกข์ทรมานเหล่านี้" เขากล่าว เท้าความถึง "ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่มีกับคนซีเรีย กับคนปาเลสไตน์ กับชาวลิเบีย กับชาวอิรัก หรือกับชาวอัฟกานิสถาน"
ซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ 2 ชาติผู้มั่งคั่งทางพลังงาน มีความใกล้ชิดกับตะวันตก แต่ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียด้วยเช่นกัน และทั้ง 2 ชาติไม่ได้มีจุดแข็งกร้าวหรือต่อต้านมอสโก นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว
ยุโรปและสหรัฐฯ หวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อช่วยตะวันตกลดพึ่งพิงอุปทานจากรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ซาอัด อัล-คาบี รัฐมนตรีทางพลังงานของกาตาร์ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (24 มี.ค.) ว่าการชดเชยก๊าซธรรมชาติในตลาดยุโรปนั้น "เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ"
รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์แสดงความหวังว่าความขัดแย้งของยูเครน จะเป็นเสียงปลุกสำหรับทุกคนในประชาคมนานาชาติ "ให้หันมามองภูมิภาคของเรา และใส่ใจกับประเด็นต่างๆ ในความมุ่งมั่นในระดับเดียวกับที่เราพบเห็นระหว่างรัสเซียกับยูเครน"
มีประชาชนหลายแสนคนเสียชีวิตในเยเมน ทั้งทางตรงและทางอ้อม และอีกหลายคนต้องไร้ถิ่นฐาน ผลจากความขัดแย้งที่ลากยาวนานหลายปี ในสิ่งที่สหประชาชาติเคยเรียกว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมเลวร้ายของโลก
สงครามในซีเรีย ประมาณการว่ามีประชาชนเสียชีวิตแล้วเกือบ 500,000 นาย และอีกหลายล้านคนต้องไร้ถิ่นฐาน นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้น อันมีจุดเริ่มต้นจากการปราบปรามโหดเหี้ยมผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2011
ในการปราศรัยผ่านวิดีโอต่อที่ประชุมสัมมนาในโดฮาเมื่อวันเสาร์ (26 มี.ค.) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เรียกร้องกาตาร์ ให้เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ ชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปของรัสเซีย อันเนื่องจากความขัดแย้ง "อนาคตของยุโรป ต้องพึ่งความพยายามของพวกคุณ" เขาบอกกับผู้ร่วมประชุม ซึ่งในนั้นรวมถึง ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
ผู้นำยูเครนเปรียบเทียบสงครามในประเทศของเขากับความขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งรัสเซียเข้าแทรกแซงในปี 2015 ที่ช่วยเปลี่ยนกระแสสงครามให้เข้าทางของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
อย่างไรก็ตาม เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย ดูเหมือนจะสนับสนุนจุดยืนของกาตาร์ โดยบอกว่า "การมีส่วนร่วมของประชาคมโลก ในตอนนั้นกับตอนนี้ ต่างกันโดยสิ้นเชิง" พระองค์กล่าว
"ความเป็นหนึ่งเดียวกันข้ามแอตแลนติกในตอนนี้ มันน่ายกย่อง แต่คุณจำเป็นต้องสื่อสารกับประเทศที่เหลือของประชาคมโลกให้ดีกว่านี้" รัฐมนตรีต่างประเทศของซาอุดีอาระเบียกล่าว
(ที่มา : เอเอฟพี)