xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวกรองเคียฟชี้! รัสเซียกำลังคิดแยกยูเครนเป็นสอง เหมือนเกาหลี 'เหนือ-ใต้'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัสเซียกำลังพิจารณา "สมมติฐานเกาหลี" สำหรับยูเครน และแยกประเทศแห่งนี้ออกเป็น 2 ซีก หลังจากล้มเหลวในการยึดกรุงเคียฟ และโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้บัญชาการข่าวกรองทางทหารของยูเครนระบุในวันอาทิตย์ (27 มี.ค.)

รายงานที่เผยแพร่บนบัญชีเทเลแกรมของกระทรวงกลาโหมยูเครน ระบุ นายพลคีรีโล บูดานอฟ หัวหน้ากรมข่าวกรองแห่งกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย "จะพยายามกำหนดเส้นกั้นแยกประเทศของเรา ระหว่างภูมิภาคที่ไม่อยู่ภายใต้การยึดครองกับที่อยู่ภายใต้ยึดครอง"

บูดานอฟ กล่าวต่อว่า "มันมีความพยายามสร้างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในยูเครน หลังจากชัดเจนแล้วว่าเขาไม่อยู่ในจุดที่สามารถกลืนเราทั้งประเทศ"

ในทางเทคนิคแล้ว 2 ชาติเกาหลียังคงอยู่ระหว่างสงคราม หลังความขัดแย้งช่วงปี 1950-53 ยุติลงด้วยข้อตกลงสงบศึกโดยปราศจากสนธิสัญญาสันติภาพใดๆ ผนึกความแตกแยกในคาบสมุทรเกาหลีด้วยเขตแดนหวงห้ามด้านความมั่นคง พื้นที่ตามแนวชายแดนความกว้าง 4 กิโลเมตร และยาว 248 กิโลเมตร ซึ่งเรียกกันว่าเขตปลอดทหาร (DMZ)

หลังจากความขัดแย้งลากยาวมากว่า 4 สัปดาห์ รัสเซียล้มเหลวยังไม่สามารถยึดเมืองหลักใดๆ ของยูเครน และมอสโกส่งสัญญาณในวันศุกร์ (25 มี.ค.) ว่าพวกเขากำลังลดความทะเยอทะยานลง หันไปมุ่งเน้นคุ้มกันภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันอกของยูเครน ดินแดนที่พวกกบฏฝักใฝ่รัสเซียสู้รบกับทหารยูเครนมานานกว่า 8 ปี

"พวกผู้รุกรานพยายามรวมยึดดินแดนที่ยึดครองให้เป็นองค์การกึ่งรัฐเดี่ยว ซึ่งจะไม่ยอมรับเอกราชของยูเครน" บูดานอฟกล่าว "เราพบเห็นแล้วในความพยายามสร้างอำนาจรัฐคู่ขนานในดินแดนยึดครองและบีบบังคับประชาชนให้เลิกใช้สกุลเงินยูเครน"

ผู้นำท้องถิ่นรายหนึ่งในดินแดนที่ประกาศตัวว่าเป็นสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ บอกว่าภูมิภาคแห่งนี้จะจัดทำประชามติเข้าร่วมรัสเซีย แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในไครเมีย ตามหลังรัสเซียเข้ายึดแหลมของยูเครนแห่งนี้ในปี 2014

ชาวไครเมียลงคะแนนอย่างท่วมท้นสนับสนุนประชามติแยกตัวจากยูเครนและเข้าร่วมรัสเซีย การลงประชามติที่เกือบทั่วโลกไม่ยอมรับ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ปฏิเสธเช่นกันที่จะพูดถึงการทำประชามติใดๆ ในภาคตะวันออกของยูเครน "ทุกประชามติจอมปลอมใดๆ ในดินแดนที่ถูกยึดครองชั่วคราวเป็นโมฆะ และไม่มีผลทางกฎหมาย"

บูดานอฟ กล่าวด้วยว่ารัสเซียกำลังพยายามจัดตั้งแนวกันชนทางบกเชื่อมกับไครเมีย แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัสเซียล้มเหลวในการยึดเมืองมาริอูโปล

เมืองแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลอาซอฟ ถูกทหารรัสเซียปิดล้อมมานานกว่า 3 สัปดาห์และโดนทิ้งบอมบ์ถล่มต่อเนื่อง แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ในมาริอูโปล ปฏิเสธเส้นตายของกองกำลังรัสเซีย ที่ขอให้พวกผู้ปกป้องเมืองยอมวางอาวุธ

(ที่มา : อัลจาซีราห์)


กำลังโหลดความคิดเห็น