xs
xsm
sm
md
lg

สาธุ! ไบเดนปลอบไม่ต้องกังวลรัสเซียยกระดับเตรียมพร้อมนุก ยันไม่มี 'สงครามนิวเคลียร์'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกา ในวันจันทร์ (28 ก.พ.) กลบกระแสความกังวลต่อภัยคุกคามอันตราย จากคำสั่งเตรียมพร้อมกองกำลังนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในขณะที่สงครามในยูเครนหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และตะวันตกกำลังส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือเคียฟเพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่าชาวอเมริกาควรกังวลเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ หลังประธานาธิบดีปูติน ได้สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย เข้าสู่ "กฎเกณฑ์พิเศษของการปฏิบัติหน้าที่สู้รบ" (special regime of combat duty) ไบเดนตอบคำถามด้วยท่าทีนิ่งๆ ว่า "ไม่"

เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าวอชิงตันไม่เห็นเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงระดับการตื่นตัวของกองกำลังนิวเคลียร์สหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมระดับสูงรายหนึ่ง เสริมว่า เพนตากอนไม่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนใดๆ จากทางฝ่ายรัสเซีย แม้ปูตินได้ออกคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.)

"เพนตากอนยังคงเดินหน้าทบทวน วิเคระาห์และสังเกตการณ์ท่าทีต่างๆ ของรัสเวีย" จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุเช่นกัน

เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) หรือ 4 วันหลังจากมอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครน ปูตินแถลงว่าเขาได้สั่งให้บรรดาผู้บัญชาการทหารของเขา "ให้สั่งการกองกำลังป้องปรามทางนิวเคลียร์ของกองทัพรัสเซียเข้าสู่ปฏิบัติการต่อสู้พิเศษ" อ้างอิงถึงโครงสร้างพื้นฐานอาวุธนิวเคลียร์อันใหญ่โตของประเทศ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เรียกคำสั่งดังกล่าวว่า "อันตราย" และ "ยิ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย" อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ (28 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม เผยว่า พวกเขายังคงอยู่ระหว่างพยายามสรุปว่าจะใช้มาตรการใดตอบโต้คำสั่งดังกล่าว

"ถ้อยคำยั่วยุลักษณะนี้อันตราย และเพิ่มความเสี่ยงของการคำนวณผิดพลาดและควรหลีกเลี่ยง" ไพรซ์กล่าว "เราเห็นพ้องกันมานาน ระหว่างสหรัฐฯ และสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าการใช้นิวเคลียร์จะก่อผลลัพธ์ทำลายล้าง"

ในวันจันทร์ (28 ก.พ.) ไบเดน เป็นเจ้าภาพประชุมทางไกลกับพันธมิตรและคู่หูที่กำลังสนับสนุนยูเครนสู้กับกับรัสเซีย ในสิ่งที่ทำเนียบขาวให้คำจำกัดความว่า "สงครามที่ไม่ชอบธรรมและปราศจากการยั่วยุของรัสเซีย"

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมลับ และในระหว่างการพูดคุย "ทางกลุ่มได้หารือถึงความพยายามร่วมกันในการกำหนดบทลงโทษที่ก่อผลลัพธ์รุนแรงและการชดใช้ราคาแพงที่ทางรัสเซียต้องรับผิดชอบ" แต่ในขณะเดียวกัน ก็พยายามธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ในนั้นรวมถึงพยายามเหนี่ยวรั้งราคาน้ำมันให้ปรับลดลงมา

สหรัฐฯ และนาโต้ยังคงเดินหน้าส่งมอบอาวุธและกระสุนแก่ยูเครน ซึ่ง ไพรซ์ บอกว่าจะช่วยให้เคียฟสู้รบกับยานยนต์หุ้มเกราะและแสนยานุภาพทางอากาศของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธยืนยันรายงานข่าวที่ระบุว่าวอชิงตัน กำลังทำตามอย่างเยอรมนี ด้วยการส่งมอบจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า Stinger ที่สามารถสอยเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบที่บินด้วยความเร็วต่ำแก่ยูเครน หลังจากก่อนหน้านี้ ปฏิเสธมาหลายเดือนว่าไม่มีแผนส่งมอบอาวุธเหล่านี้แก่ยูเครน

ในด้านการประเมินการรุกคืบของกองทัพรัสเซีย เคอร์บี โฆษกเพนตากอนระบุว่าปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงและส่งกำลังบำรุงอื่นๆ รวมถึงการถูกกองทัพยูเครนต้านทานอย่างดุเดือดอย่างที่ไม่คาดหมายไว้ ได้ชะลอการรุกคืบของกองทัพรัสเซีย

"ชัดเจนว่ารัสเซียไม่สามารถรุกคืบได้ตามที่พวกเขาต้องการในวันที่ 5 ของการสู้รบ" เคอร์บีกล่าว "พวกเขาเผชิญกับการก้าวถอยหลัง และเจอการต่อต้าน"

กระนั้นก็ตาม เขาบอกว่าแม้จะมีความก้าวหน้าอย่างช้าๆ แต่รัสเซียยังมีกองกำลังท่วมท้น ที่มุ่งมั่นจะยึดเมืองสำคัญๆ และโค่นล้มรัฐบาลยูเครน "อย่าเข้าใจผิด ปูตินยังคงมีแสนยานุภาพการสู้รบมหาศาลให้ใช้ เขายังไม่ได้เคลื่อนมันทั้งหมดเข้าสู่ยูเครน" อ้างถึงกำลังทหารรัสเซียราว 25% ที่อยู่นอกยูเครนและพร้อมเคลื่อนพล

"พวกเขาประสบปัญหา แต่ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถทึกทักได้ว่าพวกเขาจะประสบปัญหาเช่นนี้ต่อไป พวกเขายังคงต้องการเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงเคียฟ และต้องการยึดกรุงเคียฟ" เขากล่าว

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น