ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จำเป็นต้องตระหนักว่านาโต้คือพันธมิตรนิวเคลียร์ จากคำเตือนของรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสในวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) หลังผู้นำเครมลินโอ้อวดเกี่ยวกับคลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซีย ระหว่างโจมตียูเครน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เชื่อว่าปฏิบัติการรุกรานของรัสเซียมีเป้าหมายที่แท้จริงคือยึดกรุงเคียฟ และขับไล่ประธานาธิบดียูเครน
นาโต้ ระบุว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่ครอบครองโดยเหล่าชาติสมาชิกอย่างฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ คือองค์ประกอบสำคัญในแสนยานุภาพโดยรวมสำหรับการป้อมปรามและป้องกันตนเอง
ในขณะที่ส่วนของเครมลิน ปูตินได้ตอกย้ำว่ารัสเซียยังคงเป็นหนึ่งในมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างที่เขาเปิดฉากรุกรานยูเครนในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) พร้อมกับเตือนว่าการโจมตีโดยตรงต่อรัสเซีย จะนำมาซึ่งการทำลายล้าง
"วลาดิมีร์ ปูติน ต้องเข้าใจเช่นกันว่าพันธมิตรแอตแลนติกคือพันธมิตรนิวเคลียร์" ฌอง-อีฟส์ เลอ ดริอาน รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว TF1 พร้อมให้คำสัญญาว่ายุโรปจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอันน่าตื่นตะลึง ซึ่งจะแทงเข้าขั้วหัวใจของรัสเซีย
เลอ ดริอาน บอกว่าฝรั่งเศสกำลังศึกษาคำร้องขอความช่วยเหลือต่างๆ จากยูเครน ในนั้นรวมถึงความช่วยเหลือด้านการทหาร "พวกเขาส่งมอบรายการให้เรา (ยุทโธปกรณ์ทางทหาร) เราอยู่ในกระบวนการของการศึกษา ในความพยายามตอบสนองต่อคำร้องขอของพวกเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
ขณะเดียวกัน เลอ ดริอาน ยังพูดจาโจมตี ปูติน อย่างเจ็บปวด โดยให้คำจำกัดความเขาว่า "พวกชอบดูถูกและเผด็จการ"
อีกด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาเตือนในวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ว่าปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย มีเป้าหมายคือยึดกรุงเคียฟ และขับไล่พวกผู้นำของประเทศ โดยทหารรัสเซียกำลังรุกคืบจาก 3 ด้าน ภายใต้การสนับสนุนของการทิ้งระเบิดทางอากาศ
เจ้าหน้าที่รายนี้เผยว่า กองทัพรัสเซียเปิดฉากโจมตีด้วยการยิงขีปนาวุธราว 100 ลูกในช่วง 2 ชั่วโมงแรก ส่วนใหญ่เล็งเป้าหมายไปยังที่ตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร เช่นเดียวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดหนักและกลาง 75 เที่ยว
ขั้นแรกของการโจมตีมุ่งเน้นไปที่เมืองสำคัญๆ และเพนตากอนคาดหมายว่ารัสเซียจะเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามรายนี้กล่าว "ทุกความตั้งใจของพวกเขาอยู่บนพื้นฐานของการเด็ดหัวรัฐบาล และจัดตั้งแนวทางการปกครองของพวกเขาเอง"
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกด้วยว่าทหารรัสเซียข้ามชายแดนทางบกเข้าสู่ยูเครนแล้ว แต่ไม่ได้ระบุจำนวน "สิ่งที่เรากำลังเห็นคือขั้นแรกของการรุกรานขนานใหญ่" เจ้าหน้าที่กล่าว "เราไม่เคยเห็นความเคลื่อนไหวรูปแบบนี้มาก่อน จากรัฐชาติหนึ่งไปยังรัฐชาติหนึ่ง นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนว่าไม่ใช่ในขนาดและขอบเขตเช่นนี้"
การรุกรานกระตุ้นให้วอชิงตันย้ายกองกำลังหลายพันนายไปยังยุโรป แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุในวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ว่าในขณะที่สหรัฐฯ ประกาศปกป้อง "ทุกตารางนิ้ว" ของดินแดนนาโต้ แต่จะไม่มีทหารอเมริกาเข้าสู้รบกับรัสเซียในยูเครน
ปฏิบัติการรุกรานของรัสเซียเริ่มต้นจาก 3 ด้าน โดยมีเป้าหมายยึดศูนย์กลางที่มีประชากรพักอาศัยอยู่หนาแน่น ด้านแรกเกี่ยวข้องกับทหารที่เคลื่อนพลจากไครเมียซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย มุ่งหน้าสู่เมืองเคอร์ซอนทางใต้ของยูเครน
ด้านที่ 2 คือการรุกรานจากเบลารุสเข้าสู่ทางภาคกลางค่อนไปทางเหนือของยูเครน มุ่งหน้าสู่กรุงเคียฟ ในนั้นรวมถึงการจู่โจมที่ได้รับการสนับสนุนจากฝูงบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี ถล่มสนามบินกอสตอเมล แถบชานเมืองทางเหนือของเมืองหลวงยูเครน
ทหารพลร่มของรัสเซียเข้ายึดควบคุมสนามบินกอสตอเมล หลายชั่วโมงหลังการสู้รบ แต่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประกาศว่าพวกเขาจะถูกปิดล้อมและบดขยี้
พวกนักวิเคราะห์ทางทหารระบุว่า สนามบินแห่งนี้อาจกลายเป็นจุดสำคัญสำหรับรัสเซีย สำหรับบินลำเลียงกำลังพลเข้าไปเสริมเพิ่มเติม ในการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการยึดกรุงเคียฟ
"หากมอสโกสามารถยึดมันได้ และเดินหน้าสู่เป้าหมายอำนาจทางอากาศที่เหนือกว่า แน่นอนว่าพวกเขาจะใช้สนามบินแห่งนี้ในฐานะจุดเริ่มต้นของการโจมตีกรุงเคียฟ" มิชาเอล โฮโรวิตช์ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของบริษัทที่ปรึกษา เล เบ็ค อินเตอร์เนชันแรล เขียนบนทวิตเตอร์
ขณะเดียวกัน เพนตากอนแถลงว่าสหรัฐฯ จะส่งทหาร 7,000 นายเข้าไปยังยุโรปเพิ่มเติม "พวกเขาจะเข้าประจำการในเยอรมนี เพื่อรับประกันความอุ่นใจแก่พันธมิตรนาโต้ ป้องปรามการรุกรานของรัสเซีย และเตรียมพร้อมให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่างๆ ในภูมิภาค" เจ้าหน้าที่เพนตากอนรายหนึ่งกล่าว พร้อมระบุว่าคาดหมายว่ากำลังพลเหล่านี้จะออกเดินทางไม่กี่วันข้างหน้า
กองกำลังพลเพิ่มเติม 7,000 นายนี้ ทำให้ทหารที่สหรัฐฯ ส่งเข้าประจำการในยุโรปมีจำนวนเพิ่มเป็น 12,000 นาย
(ที่มา : เอเอฟพี)