xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองมะกันแตกแยกหนัก ทิ้งธรรมเนียม ‘สามัคคีเมื่อมีภัยภายนอก’ รีพับลิกันตามจิก ‘ไบเดน’ อ่อนแอเรื่องรัสเซียบุกยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แต่ไหนแต่ไรมา การเมืองอเมริกันมีขนบธรรมเนียมปฏิบัติในการที่เดโมแครตและรีพับลิกันจะต้องละวางความขัดแย้ง ไม่ว่าจะกำลังห้ำหั่นกันเรื่องอะไรอยู่ก็ตามหากเกิดวิกฤตในต่างแดน แต่สงครามที่ระเบิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครนในขณะนี้กลับกลายเป็นบททดสอบสำคัญซึ่งบ่งชี้ว่า ความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคกำลังทำลายบทบาทของเหล่าสมาชิกรัฐสภาในฐานะหุ้นส่วนนโยบายการต่างประเทศของทำเนียบขาว

สัปดาห์นี้ พวก ส.ส. พรรครีพับลิกันพยายามฉีกหน้าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยการทวีตภาพผู้นำสหรัฐฯ ขณะเดินลงจากโพเดียมหลังประกาศแซงก์ชันรัสเซีย พร้อมแคปชันว่า “นี่คือภาพความอ่อนแอบนเวทีโลก” ตอกย้ำภาษิตที่ว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องภายในที่ไม่ควรแพร่งพรายต่อคนนอก” กลายเป็นเพียงภาพจำของอเมริกาในยุคที่เคยมีการแตกแยกน้อยกว่านี้ ก่อนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในอัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย

การขาดความเป็นเอกภาพได้รับการตอกย้ำจากการที่พวกวุฒิสมาชิกใช้เวลา 1 เดือนเต็มโดยเปล่าประโยชน์ในการตกลงกันเกี่ยวกับร่างกฎหมายลงโทษเศรษฐกิจรัสเซียและอัดฉีดเงินช่วยยูเครนป้องกันประเทศ

นักการเมืองทุกฝักฝ่ายในทั้ง 2 สภาต่างกระทุ้งให้ไบเดนตอบโต้วลาดิมีร์ ปูติน อย่างรุนแรง กรณีที่รัสเซียแสดงความก้าวร้าวต่อยูเครนที่เป็นพันธมิตรของอเมริกา แต่น่าสังเกตว่า ขณะที่สมาชิกรีพับลิกันหลายคนพยายามโจมตีว่า ไบเดน “อ่อนปวกเปียก” ในวิกฤตยูเครน ก็มีข้อเรียกร้องไม่ให้อเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แครี่ คูเปอร์แมน ผู้จัดทำโพลของเดโมแครต ชี้ว่า คองเกรสสยกเลิกการวางความเป็นปฏิปักษ์ภายในประเทศเอาไว้ก่อน เพื่อนำเสนอความเป็นเอกภาพต่อสายตาคนนอกไปเสียแล้ว ซึ่งถือเป็นแนวโน้มเลวร้ายเพราะทำให้อเมริกาดูอ่อนแอ ทำลายประชาธิปไตยของประเทศ และทำให้ปูตินได้ใจ

ดักกลาส เชิน ที่ร่วมกับคูเปอร์แมนเขียนหนังสือชื่อ “อเมริกา: ยูไนต์ ออร์ ดาย” ซึ่งกล่าวถึงความแตกแยกภายในที่กำลังบ่อนทำลายนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา สำทับว่า สมาชิกคองเกรสหลายคนยุติบทบาทดั้งเดิมของรัฐสภาในด้านนโยบายการต่างประเทศ

แม้ไบเดน ยืนยันชัดเจนว่า ไม่มีแผนส่งทหารอเมริกันเข้าไปในยูเครน แต่สมาชิกรีพับลิกันบางคนฉวยจังหวะที่คนกังวลกันว่า ความขัดแย้งในยุโรปจะลุกลาม ผลักดันแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่เจ้าตัวที่ยังถือเป็นผู้นำรีพับลิกันทางพฤตินัย ถึงขั้นยกย่องปูตินเป็น “อัจฉริยะ” จากการรับรอง 2 เขตที่แยกตัวจากยูเครนซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่า เป็นสัญญาณบ่งชี้การบุกยูเครน

พวกนักการเมืองกระแสหลักในรีพับลิกันยังคงคาดหวังให้อเมริกาแสดงความแข็งแกร่งบนเวทีโลกในงานประชุมด้านความมั่นคงที่เมืองมิวนิก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่าสำหรับฝ่าย “อเมริกาต้องมาก่อน” กลับผลักดันจุดยืนการสนับสนุนลัทธิโดดเดี่ยวตัวเอง

พอล โกซาร์ ส.ส.รีพับลิกันจากแอริโซนา ทวีตข้อความเสียดสีว่า “เราควรเรียกตัวเองว่ายูเครนนะ บางทีจะสามารถดึงนาโต้มาร่วมปกป้องพรมแดนของเรา”

แต่รีพับลิกันบางคนยังคงวิจารณ์แสดงความเห็นอย่างระมัดระวังและหนักแน่นมากกว่า ตัวอย่างเช่น มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา ที่โจมตีว่า การถอนตัวสุดโกลาหลจากอัฟกานิสถานทำให้ปูตินมีความมั่นใจมากขึ้น ขณะที่ ลินด์ซีย์ เกรแฮม พันธมิตรของทรัมป์ แต่เป็นพวกอนุรักษนิยมดั้งเดิมในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ กล่าวหาไบเดน “แอบร่วมมือ” กับปูติน

สำหรับคนอเมริกันนั้น ส่วนใหญ่ (54%) สนับสนุนการตัดสินใจของไบเดนในการเสริมกำลังขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในด้านตะวันออก ทั้งนี้ จากผลสำรวจของควินนิเปียกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจยังบอกว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามทางทหารต่ออเมริกา

ในส่วนของพวกสมาชิกเดโมแครตนั้น พวกเขาบันยะบันยังการวิจารณ์ทำเนียบขาว ขณะที่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับมือวิกฤตยูเครนของคณะบริหารไม่ได้ลดน้อยลง เพียงแต่มีน้ำเสียงกลางๆ มากกว่า

เมื่อวันพุธ (23) แนนซี เปโลซี ประธานสภาล่าง หยิบยกคำถามต่างๆ ที่อ้างว่า มาจากพวก ส.ส. ซึ่งรวมถึงคำถามเกี่ยวกับบทบาทของกองทหารอเมริกันในยุโรปตะวันออก

เธอตั้งปุจฉาว่า สิ่งที่จะต้องมาทำความตกลงกันคือ ประธานาธิบดีได้รับอนุญาตให้ทำอะไรได้บ้าง ในขอบเขตแค่ไหน ในพื้นที่ใด และในกรอบเวลาใด โดยที่เธอยอมรับว่าทั้งหมดเหล่านี้เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการทะเลาะโต้แย้งกัน

(ที่มา : เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น