ค่าเฉลี่ยรายวันเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์โอมิครอนกำลังอ่อนแอลงทั่วประเทศ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อปกินส์ พบว่าเคสผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันในวันเสาร์ (19 ก.พ.) อยู่ที่ระดับเกิน 100,000 คนเล็กน้อย ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 800,850 คนของวันที่ 16 มกราคม หรือราวๆ 5 สัปดาห์ก่อน
ในนิวยอร์ก จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมากกว่า 50% ในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด
นายแพทย์โธมัส รุสโซ ศาสตราจารย์และหัวหน้าฝ่ายโรคติดเชื้อของสถาบันการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจาค็อบส์ แห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล กล่าวว่า "ผมคิดว่าอิทธิพลของจำนวนที่ลดลงก็คือ โอมิครอนเริ่มไม่เหลือคนให้แพร่เชื้อแล้ว"
ค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนคนไข้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ลดลงจากระดับ 146,534 คนในวันที่ 20 มกราคม เหลือ 80,185 คนในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ
พวกเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขระบุว่า พวกเขารู้สึกมีความหวังว่าตัวเลขจะลดลงมากกว่านี้ในอนาคตข้างหน้า และประเทศแห่งนี้กำลังปรับเปลี่ยนจากโรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งอัตราป่วยมีความคงที่กว่าและคาดเดาการระบาดได้ อย่างไรก็ตาม หลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับยอดเข้ารับฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ยังคงต่ำกว่าที่คาดหมาย และข้อวิตกดังกล่าวอาจถูกซ้ำเติมจากความเคลื่อนไหวยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ
นายแพทย์วิลเลีม ชาฟเนอร์ จากสถาบันการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ระบุในวันอาทิตย์ (20 ก.พ.) ว่าจำนวนที่ลดลงของเคสผู้ติดเชื้อและคนไข้โควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่น่ายินดี และเห็นพ้องว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันหมู่
"นี่คืออีกด้านหนึ่งของเหรียญโอมิครอน" เขากล่าว "ในสิ่งแย่ๆ คือมันสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้คนจำนวนมากและทำให้พวกเขาป่วยเล็กน้อย ในสิ่งดีๆ ก็เช่นกัน คือมันสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้คนจำนวนมากและทำให้พวกเขาป่วยเล็กน้อย และเพราะด้วยสิ่งนี้ มันจึงก่อภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติมากมาย"
อย่างไรก็ตาม ชาฟเนอร์ บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะ "ชูป้ายข้อความว่าภารกิจประสบความสำเร็จแล้ว" โดยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เขาบอกว่าตนเองคงจะสบายใจมากกว่านี้หากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงลดลงต่อไปอีกเดือนหรือสองเดือน
เจ้าหน้าที่ในหลายรัฐปรับลดข้อจำกัดต่างๆ ที่กำหนดออกมาเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบอกว่าพวกเขากำลังเลิกมองโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในฐานะวิกฤตด้านสาธารณสุข และเปลี่ยนสู่นโยบายมุ่งเน้นด้านการป้องกันแทน
ระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (18 ก.พ.) สเปนเซอร์ ค็อกซ์ ผู้ว่าการรัฐยูทาห์ แถลงว่ารัฐแห่งนี้จะเปลี่ยนผ่านสู่สิ่งที่เขาเรียกว่าต้นแบบ "รัฐยั่งยืน" ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายน โดยทางรัฐยูทาห์จะปิดจุดตรวจเชื้อทั้งหลาย เว้นระยะการรายงานจำนวนเคสโดควิด-19 นานๆ ครั้ง และแนะนำประชาชนให้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเองในการจัดการกับความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
"ขอผมชี้แจงให้เข้าใจว่า นี่ไม่ใช่จุดจบของโควิด-19 แต่มันเป็นจุดจบหรืออาจเป็นจุดเริ่มต้น ของการปฏิบัติกับโควิด-19 เหมือนกับที่เราปฏิบัติกับไวรัสระบบทางเดินหายใจตามฤดูกาลอื่นๆ" ผู้ว่าการรัฐจากรีพับลิกันกล่าว
แพทย์หญิงเอมี กอร์ดอน โบโน แพทย์ปฐมภูมิในเมืองแนชวิลล์ ให้ความเห็นว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาลดความพยายามฉีดวัคซีนประชาชน แต่ยิ่งต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า โดยเธอชี้ให้เห็นว่าในช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2021 ครั้งที่วัคซีนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง สหรัฐฯ กระตือรือร้นที่จะประกาศว่าปลอดโควิด-19 แล้ว แต่ทันใดนั้นก็เกิดระลอกการแพร่ระบาดของเดลตา และตามมาด้วยโอมิครอน
โบโน กล่าวว่าสหรัฐฯ ควรใช้แนวทางรับมือกับโควิด-19 แบบเดียวกับรับมือกับภัยเฮอร์ริเคนตามฤดูกาล "คุณจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่กับไวรัสและคุณจำเป็นต้องเรียนรู้จากมัน"
ในบัฟฟาโล รุสโซ สันนิษฐานถึงผลลัพธ์ความเป็นไปได้ 2 กรณี หนึ่งคือสหรัฐฯ ประสบกับฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่เงียบเชียบ เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังคงแข็งแกร่ง และในกรณีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลงและตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะพุ่งทะยานในช่วงหลายเดือนของฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลของไข้หวัด แต่เขาหวังว่าระลอกการแพร่ระบาดนี้จะไม่รุนแรง
ส่วกรณีที่สอง ซึ่งเป็นหนึ่งในความกังวลของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขคนอื่นๆ ก็คือมันมีวิวัฒนาการเกิดตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆและสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อโอมิครอนและจากการฉีดวัคซีน เขากล่าว
(ที่มา : เอพี)