xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย! ข้อเสนอให้สหรัฐฯเปิด‘สงครามจำกัดขอบเขต’กับจีน เพื่อช่วยไต้หวัน ของ อดีตนักยุทธศาสตร์เพนตากอน ‘เอลบริดจ์ โคลบี้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


เรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ชั้นใหม่ คือ ไทป์ 075 (Type-075) ลำแรกของจีน  ขณะเตรียมออกฝึกในทะเล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2020  ได้รับการเผยแพร่ภาพทางสื่อสังคม “เว่ยปั๋ว” เรือประเภทนี้จะมีบทบาทสำคัญหากจีนยกกำลังข้ามช่องแคบบุกยึดไต้หวัน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ex-Pentagon strategist Elbridge Colby bells the dragon
By DAVID P. GOLDMAN
17/01/2022

อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนากองกำลัง เอลบริดจ์ โคลบี้ เขียนหนังสือเล่มใหม่ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก ยืนยันว่าสหรัฐฯสามารถเปิดการสู้รบทำ “สงครามแบบจำกัดขอบเขต” กับจีน แต่แทบไม่ได้ให้เหตุผลหนักแน่นอะไรแก่ผู้อ่านที่จะทำให้เชื่อถือเขา

หนังสือเรื่อง “The Strategy of Denial: American Defense in an Age of Great Power Conflict” (ยุทธศาสตร์แห่งการปฏิเสธ: กลาโหมอเมริกันในยุคของความขัดแย้งสู้รบระหว่างมหาอำนาจใหญ่) เขียนโดย เอลบริดจ์ โคลบี้ (Elbridge Colby) อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนากองกำลัง (Former Deputy Assistant Secretary of Defense for Strategy and Force Development) [1] ซึ่งได้รับการประโคมป่าวร้องกันมากมายและได้รับคำยกย่องอย่างกว้างขวางนั้น เป็นหนังสือที่สร้างความผิดหวัง – ไม่ใช่แค่น่าผิดหวังด้วยซ้ำไป แต่หนังสือเล่มนี้คือการมุ่งหลบเลี่ยงปัญหาอย่างสะเปะสะปะและน่ากลัวอันตราย โดยชี้ชวนให้พากันไถลลงจากเนินลื่นๆ มุ่งหน้าสู่สงคราม

โคลบี้อ้างว่าสหรัฐฯสามารถที่จะสู้รบกับจีนโดยทำสงครามที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ยังไม่ใช่การทำสงครามอย่างเต็มพิกัด แต่แทบไม่ให้เหตุผลอะไรเลยที่จะทำให้เชื่อถือเขา พวกเราที่อ่านเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี 1914 และรู้สึกสั่นกลัวกับอาการเลอะเลือนของพวกผู้นำยุโรปในเวลานั้น ขณะที่พวกเขากระทำสิ่งต่างๆ ซึ่งกลายเป็นการเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมา และถามตัวพวกเราเองว่า “พวกเขากำลังคิดอะไรกันอยู่ หรือว่าพวกเขากำลังเดินละเมอขณะนอนหลับ?” อย่างที่ คริสโตเฟอร์ คลาร์ก (Christopher Clark) [2] พูดเอาไว้ พวกผู้นำยุโรปในตอนนั้นเหล่านี้กำลังฝันอะไรกันอยู่? พวกเขามองไม่เห็นร่องรอยอะไรเลยหรือว่า จะเกิดอะไรติดตามมาจากการกระทำของพวกเขา?

เอลบริดจ์ โคลบี้ อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนากองกำลัง เสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะสู้รบกับจีนใน “สงครามแบบจำกัดขอบเขต” ไม่จำเป็นต้องเป็นสงครามเต็มพิกัด (ภาพจากเฟซบุ๊ก)
หนังสือเล่มนี้ของ โคลบี้ ช่วยให้เราเข้าใจความเลอะเลือนของพวกผู้นำเมื่อปี 1914 ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนเกินไปแล้ว

โคลบี้ เสนอว่า กลุ่มพันธมิตรนำโดยอเมริกัน สามารถนำเอายุทธศาสตร์แห่งการปฏิเสธ (strategy of denial) มาใช้กับจีนได้ โดยจะขัดขวางบั่นทอนความสามารถของจีนในการยกทัพข้ามช่องแคบไต้หวันที่มีความกว้างเพียงแค่ 80 ไมล์ เพื่อบุกเกาะไต้หวัน มันช่างเหมือนกับพวกหนูในนิทานที่พูดกันว่า จะเอากระดิ่งไปผูกคอแมวได้ยังไง

ในหนังสือเล่มนี้ โคลบี้บอกว่า “พวกกองกำลังเพื่อการป้องกัน ซึ่งปฏิบัติการด้วยทัศนคติของกองกำลังที่ยืดหยุ่นและกระจายตัว รวมทั้งมีความสามารถสู้รบทำศึกในแบบต่างๆ คละเคล้าผสมผสานกัน อาจจะใช้วิธีการต่างๆ หลายหลากเพื่อลดความเฉียบคมว่องไวของการรุกรานของจีนในน่านฟ้าและในท้องทะเลรอบๆ ไต้หวัน”

สหรัฐฯและพันธมิตรของตนอาจจะ “หาทางทำให้พวกเรือขนส่งและเครื่องบินขนส่งของจีนไม่สามารถใช้งานได้ หรือถูกทำลายไปเลย ก่อนที่เรือและเครื่องบินเหล่านั้นจะออกจากท่าเรือของจีนหรือสนามบินของจีน ฝ่ายป้องกันยังอาจพยายามหาทางขัดขวางการทำงานของท่าเรือแห่งหลักๆ, ทำให้ส่วนประกอบหลักๆ ในการควบคุมบังคับบัญชาของจีนกลายเป็นอัมพาต ... และทันทีที่กองกำลังของจีนเข้าสู่ช่องแคบไต้หวัน สหรัฐฯและพวกกองกำลังเพื่อการป้องกัน ก็สามารถใช้วิธีการที่หลากหลายมาทำให้เรือขนส่งและเครื่องบินขนส่งของจีนใช้การไม่ได้หรือถูกทำลาย”

แต่ โคลบี้ กลับละเลยไม่พูดถึงวิธีการต่างๆ ที่เราอาจจะนำมาใช้ตรงนี้ได้ โดยปล่อยให้ขึ้นอยู่กับจินตนาการของพวกเราเอง

จากนั้นหนังสือเล่มนี้ก็ตามมาด้วยการสรุปเกี่ยวกับสงครามที่ เกตตี้สเบิร์ก (Gettysburg), พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 แห่งสวีเดน (Charles XII of Sweden), สงครามกรุงทรอย (Trojan War), การบุกเกาะโอกินาวาของกองทัพอเมริกัน, แนวมายิโนต์ (Maginot Line) ของฝรั่งเศส, ตลอดจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างอื่นๆ ของประวัติศาสตร์สงคราม –ทว่าแทบไม่มีอะไรกล่าวถึงลักษณะของการสู้รบทำสงครามที่น่าจะเกิดขึ้นมาในวันนี้เอาเลย

มันไม่ใช่เป็นเพราะ โคลบี้ ให้คำตอบที่ผิดๆ อะไรนักหรอก หากแต่เนื่องจากเขาล้มเหลวไม่ได้ตั้งคำถามที่ตรงประเด็นเกี่ยวกับเจตนาของจีนและสมรรถนะทางเทคโนโลยีของจีน แทนที่จะทำเช่นนั้น เขากลับเสนอเรื่องราวกว้างๆ ทั่วๆ ไปที่ลอกเลียนคนอื่นมา ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความคลุมเครือมากกว่าจะสร้างความกระจ่างให้แก่ประเด็นทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่

กล่าวโดยสรุป โคลบี้ วาดภาพให้เห็นว่า จีนเป็นมหาอำนาจนักขยายอาณาเขต ซึ่งกระหายที่จะดูดกลืนดินแดน โดยมีการยกตัวอย่างสิ่งที่กล่าวหาว่าเป็นการวางแผนของจีนในการฮุบดินแดนของฟิลิปปินส์และไต้หวันในวาระโอกาสต่างๆ ราวๆ 5-6 ครั้ง –ราวกับว่าจีนมีความสนใจในฟิลิปปินส์พอๆ กับที่สนใจไต้หวันอย่างนั้นแหละ

แต่ยุทธศาสตร์ของจีนไม่ใช่เป็นการเล่นเกมหมากกระดานซึ่งเป้าหมายคือการมุ่งขยายอำนาจเช่นนั้นหรอก จีนนะไม่ได้เป็นรัฐประชาชาติ หากแต่เป็นจักรวรรดิ ซึ่งภาษาจีนกลางก็เป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย และการมี “มณฑลกบฎ” (อย่างที่ปักกิ่งระบุว่าไต้หวันเข้าข่ายนี้) สักแห่งหนึ่งขึ้นมา กลายเป็นการสร้างแบบอย่างให้แก่ผู้คนจำนวนมาก

กองเรือของจีนที่จุดชนวนการวิวาททางการทูตเมื่อปีที่แล้ว หลังจากไปจอดที่แนวปะการังนอกชายฝั่งฟิลิปปินส์เป็นเวลาหลายสัปดาห์
จีนต้องการที่จะเข้าควบคุมฟิลิปปินส์จริงๆ หรือไม่ ยังอาจที่จะถกเถียงอภิปรายกันต่อไปได้ แต่สำหรับไต้หวันแล้ว การบูรณาการไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ให้ได้ในท้ายที่สุด ถือเป็นเหตุผลแห่งการดำรงคงอยู่ประการหนึ่ง (raison d’état) ของจีน เป็นประเด็นสำคัญระดับเป็นตายซึ่งจีนพร้อมจะรบเพื่อให้ได้มา ถ้าหากต้องทำเช่นนั้น

ใครๆ อาจระลึกถึงคติพจน์ของ เคลาเซอวิทซ์ (Clausewitz) [3] ที่ว่า สงครามคือการต่อเนื่องของการเมืองที่อยู่ในรูปแบบวิธีการอื่นๆ แต่ โคลบี้ นั้นไม่ได้เอ่ยถึงการเมืองเลย ไม่มีตรงไหนเลยที่เขาอ้างอิงถึงนโยบายจีนเดียว (One China policy) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการที่ ริชาร์ด นิกสัน ไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งเมื่อปี 1972

จีนตามที่ โคลบี้ บรรยายเอาไว้นั้น เป็นเพียงวัตถุขนาดใหญ่ๆ ที่เป็นนักฮุบอาณาเขต ซึ่งไม่สนใจใยดีหรอกว่าตนเองจะกลืนกินไต้หวัน หรือฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม หรือมาเลเซีย แน่นอนทีเดียว ช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา จีนวางท่าเป็นรัฐจักรวรรดิที่มีอำนาจเหนือประเทศอื่นๆ ตามแนวชายแดนของตน รวมทั้งเวลานี้การข่มเหงรังแกฟิลิปปินส์และเวียดนามของจีนก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามขึ้นในเอเชียตะวันออก

ทว่าไต้หวันนั้นต้องถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไป พฤติการณ์ก้าวร้าวยืนกรานของจีนในทะเลจีนใต้ เป็นการปฏิบัติตามคติพจน์ที่ว่า “เชือดคอไก่ให้ลิงดู” ถ้าสหรัฐฯปรารถนาที่จะสู้รบเพื่อพวกเกาะปะการังไร้คนพำนักอาศัยในทะเลจีนใต้ ปักกิ่งก็ได้แสดงท่าทีอย่างถนัดชัดเจนออกมาแล้ว และจะยิ่งต่อสู้อย่างเต็มเหนี่ยวกว่านั้นมากมายนักในกรณีของไต้หวัน

โคลบี้ ไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่า ทำไมจีนจึงพร้อมเสี่ยงภัยเพื่อเข้ารุกรานไต้หวัน ข้อเท็จจริงที่พึงตระหนักก็คือว่า ตราบใดท่ฝ่ายตะวันตกยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบายจีนเดียว การที่ไต้หวันจะรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินใหญ่ในท้ายที่สุด ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

พวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตก เสนอการศึกษาออกมามากมายในเรื่องปัญหาทางประชากรของจีน แต่อันที่จริงแล้วไต้หวันมีปัญหาด้านนี้ที่เลวร้ายกว่านักหนา ด้วยอัตราเจริญพันธุ์โดยรวมเท่ากับสตรีแต่ละคนมีลูกเพียง 1 คน ไต่หวันจะขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในชั่วเวลา 1 รุ่นอายุ และจะต้องนำเข้าคนมาจากแผ่นดินใหญ่

แต่ถ้าฝ่ายตะวันตกยกเลิกนโยบายจีนเดียว และหันมาส่งเสริมสนับสนุนอธิปไตยของไต้หวัน –ตัวอย่างเช่น ด้วยการพยายามทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ซึ่งจีนไม่สามารถรุกรานได้— จีนก็จะเปิดฉากโจมตีก่อนที่ฝ่ายตะวันตกจะพยายามเสริมกำลังป้องกันอย่างแข็งแกร่งให้เกาะแห่งนี้ และดำเนินตามทางเลือกแห่งการใช้กำลังเข้าจัดการกับไต้หวัน ก่อนที่มันจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ตรงจุดนี้มีข้อเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงทีเดียวกับเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จะระเบิดขึ้นมาในปี 1914 ความพยายามของฝ่ายอเมริกันในการปฏิเสธไม่ให้จีนเข้าถึงไต้หวันได้ น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ทำนองเดียวกับที่รัสเซียดำเนินการระดมพลซึ่งจุดชนวนให้เกิดมหาสงครามคราวนั้นขึ้น ทั้งนี้ตามเนื้อหาในหนังสือซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันอย่างสูงของ คริสโตเฟอร์ คลาร์ก

ถ้าฝ่ายหนึ่งดำเนินการระดมพลเพื่อเตรียมเข้าสู่สงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องกระทำบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียเปรียบถึงขั้นกลายเป็นความวิบัติหายนะ – และนี่เองคือความเป็นไปของการที่พวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่ “เดินละเมอ” (ตามคำของ คลาร์ก) เข้าสู่สงครามซึ่งพวกเขาไม่ได้มีความต้องการและก็ไม่สามารถชนะได้

ทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าร่วมการสวนสนาม ในโอกาสครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้งกองทัพ ณ ฐานฝึกทหารในเขตปกครองตนเองมองโกเลียนใน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2017
ความได้เปรียบทางด้านเทคของจีน

เกี่ยวกับการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการทหาร โคลบี้ พูดเอาไว้เพียงแค่นี้ว่า “แต่การที่ฝ่ายเข้าโจมตีจำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างสำหรับเข้าสู่การครองฐานะครอบงำทางนาวีและทางอากาศ ก่อนที่จะดำเนินการรุกรานทางทะเลได้ มาถึงวันนี้ก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้อย่างเฉียบพลันมากขึ้นไปอีก ภายใต้สิ่งที่เรียกขานกันว่า ‘ระบบโจมตีอย่างแม่นยำซึ่งมีการพัฒนาไปอย่างเต็มที่แล้ว’ (mature precision-strike regime)

วลีนี้หมายถึงความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ในความสามารถทางการทหารสมัยใหม่ ที่จะเข้าโจมตีได้อย่างแม่นยำต่อเป้าหมายต่างๆ รวมทั้งพวกเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ ณ พิสัยทำการที่กว้างไกลขึ้นกว่าเดิมมาก และภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น”

ดูเหมือน โคลบี้ กำลังวาดภาพเครื่องบิน เอฟ-18 ฮอร์เนต หรือ เรือดำน้ำของอเมริกัน กำลังเลือกโจมตีใส่ขบวนยานยกพลของจีน ขณะที่พวกมันแล่นตะบึงข้ามช่องแคบไต้หวันมุ่งหน้าสู่ไทเป ดูเหมือนเขาทึกทักเอาว่าจีนจะไม่จมกองเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน หรือรบกวนระบบหาตำแหน่งจีพีเอสและการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมของอเมริกัน หรือทำลายฐานทัพอเมริกันที่เกาะกวมด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล หรือทำให้ทรัพยากรทางทหารของไต้หวันกลายเป็นอัมพาตด้วยการใช้ขีปนาวุธจำนวนมหาศาลระดมถล่ม ตรงกันข้าม จีนจะเพียงแค่สู้รบในสงครามขอบเขตจำกัดตามกฎเกณฑ์ที่ทางวอชิงตันยินยอมเท่านั้น

ผมเชื่อว่า นี่คืออาการหลงผิดแท้ๆ

สิ่งที่ขาดหายไปอย่างสิ้นเชิงจากการนำเสนอของ โคลบี้ ก็คือ การปฏิวัติในเทคโนโลยีทางการทหารในช่วงหลังสงครามเย็น หรืออันที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่มีแม้กระทั่งการถกเถียงอภิปรายอย่างมีสาระใดๆ เกี่ยวกับบทบาทตัดสินชี้ขาดของเทคโนโลยีทางการทหาร

ต้องถือเป็นการไร้ความรับผิดชอบสำหรับการถกเถียงอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับจีน โดยที่แรกสุดไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องดุลทางเทคโนโลยีเสียก่อน

เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) และ โจนาห์ กลิค-อุนเทอร์แมน (Jonah Glick-Unterman) ตีพิมพ์เผยแพร่บทสรุปว่าด้วยดุลทางการทหาร ซึ่งเป็นผลงานที่น่ายกย่องนับถือ ให้แก่ ศูนย์เบลเฟอร์ (Belfer Center) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อเรื่องว่า The Great Military Rivalry: China vs the US (คู่ปรปักษ์ยิ่งใหญ่ทางการทหาร จีน VS สหรัฐฯ) โดยในเนื้อหาพูดเอาไว้ทั้ง ขีปนาวุธ, ปัญญาประดิษฐ์, และสมรรถนะไฮเทคอย่างอื่นๆ ของจีน

พวกเขาเตือนว่า “ถ้าหากในอนาคตอันใกล้นี้มี “สงครามขอบเขตจำกัด” เกิดขึ้นที่ไต้หวัน หรือตามพื้นที่ชายขอบของจีนแล้ว สหรัฐฯน่าที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ –หรือต้องเลือกเอาระหว่างการพ่ายแพ้ กับการก้าวขึ้นบันไดขั้นสูงขึ้นไปอีกสู่สงครามที่กว้างใหญ่ยิ่งขึ้น”

โคลบี้ กล่าวขอบคุณผลงานพวกนี้เอาไว้ในหน้ากิตติกรรมประกาศ จึงน่างงงวยที่เขากลับละเลยประเด็นเหล่านี้ในหนังสือของเขา

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นตัวตัดสินผลลัพธ์ของสงครามมาหลายครั้งแล้ว ทหารของปรัสเซียที่ใช้ปืนยาว ดรัยเซอ แบบบรรจุทางด้านท้ายปืน (Dreyse breechloader) สามารถทำให้ข้าศึกบาดเจ็บล้มตายได้เกือบเป็น 5 ต่อ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับที่ฝ่ายทหารออสเตรียซึ่งใช้ปืนยาวแบบบรรจุทางปากกระบอกปืน (muzzle-loader) ทำได้ ในการสู้รบกันที่ โคนิกกราตซ์ (Königgrätz) เมื่อปี 1866

อีก 4 ปีต่อมา ปืนใหญ่แบบบรรจุท้ายของปรัสเซีย เป็นปัจจัยได้เปรียบที่เอื้ออำนวยให้พวกเขามีชัยชนะเหนือกองทัพฝรั่งเศส ขณะที่ เรดาร์ เป็นตัวช่วยอังกฤษให้อยู่รอดมาได้จากสงครามทางอากาศที่ถูกเยอรมนีถล่มโจมตีในปี 1940

เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินติดตอร์ปิโดของญี่ปุ่น จมเรือรบขนาดใหญ่ๆ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าของอังกฤษในการสู้รบที่ทะเลจีนใต้ทางตอนเหนือของมลายา (ที่เวลานั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) เมื่อเดือนธันวาคม 1941 เป็นการทำลายฐานะครอบงำเหนือกว่าใครๆ ในการทหารในเอเชียของอังกฤษ

ขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของรัสเซีย สอยเครื่องบินรบอเมริกันไป 100 ลำในสงครามยมคิปปูร์ปี 1973 (the 1973 Yom Kippur War) และบางทีอิสราเอลอาจต้องปราชัยไปแล้ว หากไม่ได้รับอาวุธเพิ่มเติมแบบฉุกเฉินจากสหรัฐฯ

ในปี 1982 ด้วยการผสมผสานระบบอิเล็กทรอนิกส์การบินของอเมริกัน ซึ่งก็รวมถึงเรดาร์แบบดูจากข้างบนลงข้างล่าง กับโดรนของอิสราเอล ทำให้ฝ่ายอิสราเอลสามารถพลิกกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยทำลายเครื่องบินรัสเซียไปเกือบๆ 100 ลำ เหนือน่านฟ้าหุบเขาเบกา (Beqaa Valley)

มีความเป็นไปได้อย่างมาก –ในทัศนะของผมแล้ว มีความน่าจะเป็นสูงมาก —ที่ว่า เมื่อเกิดการสู้รบกับจีนตรงบริเวณใกล้ๆ ชายฝั่งของแดนมังกรขึ้นมา สหรัฐฯจะตกอยู่ในฐานะอันไม่น่าอิจฉาเลย แบบเดียวกับที่กองทัพออสเตรีย ณ สมรภูมิโคนิกกราตซ์, กองทัพฝรั่งเศสที่ซีดาน (Sedan), หรือ กองทัพอังกฤษที่สิงคโปร์ เคยประสบมา

ทำนองเดียวกับอังกฤษ แนวสมรภูมิของสหรัฐฯนั้นยาวเหยียดสุดกู่เนื่องจากประกอบด้วยฐานทัพในต่างประเทศมากกว่า 700 แห่งเพื่อการสำแดงแสนยานุภาพในตลอดทั่วโลก และก็เลยทำให้สหรัฐฯมีความคุ้นเคยที่จะทำการสู้รบในศตวรรษที่ 21 แบบเดียวกับการทำสงครามอาณานิคม สหรัฐฯมีการเตรียมตัวที่ย่ำแย่เมื่อต้องต่อกรกับปรปักษ์ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีอย่างละเอียดอ่อนซับซ้อน แถมยังมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นการสู้รบในบ้านที่สายการส่งกำลังบำรุงสั้น

แน่นอนล่ะ ในทางทฤษฎีอเมริกาสามารถนำเอาขีปนาวุธต่อสู้เรือ (ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธต่อสู้เรือพิสัยไกลของล็อกฮีด Lockheed’s Long Range Anti-Ship Missile) เข้าไปในไต้หวัน, วางทุ่นระเบิดในช่องแคบไต้หวัน, หรือนำเอาพวกอาวุธประเภทต่อต้านการเข้าถึง/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area-denial weapons) ชนิดอื่นๆ เข้าไปประจำการในไต้หวัน

แต่การทึกทักเอาว่าจีนจะนั่งทับมือตัวเองเอาไว้ และเฝ้ามองดูสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมานั้น คือการฝันเพ้อเท่านั้นเอง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ จีนจะตอบโต้ด้วยวิถีทางเดียวกับที่เยอรมนีและออสเตรียกระทำ เมื่อรัสเซียประกาศระดมพลเตรียมทำสงครามเมื่อปี 1914

สงครามรบกับจีนในขอบเขตจำกัด?

โคลบี้ ทึกทักว่า ไต้หวันน้อยๆ ผู้วีระอาจหาญจะสู้รบจนตัวตาย และเหล่าพันธมิตรของอเมริกาก็ยินดีเสี่ยงต่อการต้องทำสงครามกับจีน ด้วยการเข้าร่วมความพยายามในการปิดล้อมจีนของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไต้หวันกำหนดให้คนหนุ่มของตนเข้ารับราชการทหารเพียงแค่คนละ 4 เดือนเท่านั้น

เอดเวิร์ด ลุตต์วัค (Edward Luttwak) นักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกัน ทวีตเอาไว้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2021 ดังนี้ “ถ้าถูกโจมตี ไต้หวันต้องได้รับการปกป้องจากชาวไต้หวันด้วยการสนับสนุนจากต่างแดน ไม่ใช่ได้รับการปกป้องจากชาวอเมริกาขณะที่ชาวไต้หวันเฝ้าเล่นวิดีโอเกม ถ้าดำเนินการได้ก็ควรเอาพวกเครื่องแบบสวยงามมาขายเอาเงินสดเพื่อใช้สำหรับการฝึกทหารเข้มข้นช่วงสั้นๆและครอบคลุมทุกๆ คน เพื่อให้สามารถป้องกันในระดับท้องถิ่น ในทุกหนทุกแห่งด้วยยูเอวี (UAVs อากาศยานไร้นักบิน หรือ โดรน) และขีปนาวุธแบบพกพา”

แต่ไต้หวันจงใจที่จะรักษาระดับการติดอาวุธของตนให้ต่ำกว่ำขีดที่จำเป็นต้องมีถ้าหากจะปฏิบัติการต้านทานจีนได้อย่างจริงจัง เนื่องจากฝ่ายทหารของไต้หวันไม่ได้มีความตั้งใจที่จะออกมาต้านทานอย่างจริงจังอะไรนักหรอก

คำถามแรกเลยที่ โคลบี้ ควรจะต้องถามก็คือ อเมริกาจะตอบโต้อย่างไร ถ้าจีนจมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันโดยที่มีคนอเมริกันเป็นพันๆ สูญเสียชีวิต

“สงครามแบบจำกัดขอบเขต” โคลบี้ ประกาศเอาไว้ “โดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ เราอาจจะมองว่า มันเป็นสงครามที่พวกนักรบจัดตั้งกฎ ยอมรับและเห็นชอบกับกฎต่างๆ ทั้งภายในการสู้รบขัดแย้งนี้ และเกี่ยวกับการสิ้นสุดของการสู้รบขัดแย้งนี้ รวมทั้งยอมรับหรือแสวงหาทางให้มีการยอมรับว่าการก้าวล่วงออกไปจากกฎเหล่านั้นจะเท่ากับการบานปลายขยายตัว โดยน่าที่จะก่อให้เกิดการแก้เผ็ดหรือการตอบโต้ที่กลายเป็นการบานปลายขยายตัว”

ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไงเสียเขาก็เป็นนักกฎหมาย ไม่ได้เป็นทหาร ลูกเล่นกลเม็ดที่เขามั่นอกมั่นใจ ก็คือการจัดวางกฎที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ

การที่สหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนใดๆ ที่เข้าร่วมสู้รบด้วย จะสามารถมีชัยในการสู้รบกับจีนในสงครามจำกัดขอบเขตได้ จะต้องทำให้ได้ในเงื่อนไขทั้ง 3 ประการนี้ ได้แก่ 1) สงครามนี้ต้องยังคงอยู่ในขอบเขตจำกัดทั้งในเรื่องวิธีการทำสงครามและจุดมุ่งหมายของสงคราม 2) สหรัฐฯต้องสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองของตนจากการปฏิบัติการภายในข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ และ 3) ปักกิ่งต้องยินยอมลดระดับการสู้รบหรือยุติการสู้รบตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯยอมรับได้

ทว่าสงครามย่อมไม่ใช่การตอบโต้ปะทะกันด้วยข้อสรุปทางกฎหมาย จีนสามารถที่จะขยายสงคราม “จำกัดขอบเขต” ที่ทำกับสหรัฐนด้วยวิธีการต่างๆ นับสิบ โดยยังไม่ถึงกับเป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่กระนั้นก็สร้างความเสียหายอย่างเลวร้ายให้แก่สหรัฐฯ อย่างเช่น การทำลายเครือข่ายดาวเทียมของอเมริกา และการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งยวด

ประวัติศาสตร์ของการสงครามทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นมา ล้วนแล้วแต่คัดค้านความคิดจินตนาการที่ว่า กองทัพสหรัฐฯและกองทัพจีนสามารถที่จะเล่นเกมที่ทุกอย่างบานปลายขยายตัวออกไปอย่างช้าๆ เป็นขั้นเป็นตอนในแบบของสุภาพบุรุษ อเมริกาชนะสงครามเย็นได้ไม่ใช่เป็นเพราะว่าอเมริกาวางตัวเพื่อเอาชนะในสงครามจำกัดขอบเขต (ที่จริงแล้ว อเมริกาเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามแบบจำกัดขอบเขตครั้งเดียวที่อเมริกากระโจนเข้าไปร่วม นั่นคือ ในเวียดนาม) แต่เป็นเพราะว่าอเมริกาพิสูจน์ให้รัสเซียเห็นในช่วงทศวรรษ 1980 ว่า ฝ่ายตะวันตกสามารถยังความปราชัยให้รัสเซียได้ในการทำสงครามแบบแผนกันแบบเต็มพิกัด

ยูเอสเอส แบร์รี เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีชั้นอาร์ลีจ์-เบิร์กของสหรัฐฯ ขณะออกปฏิบัติการท้าทายจีนในทะเลจีนใต้ เมื่อปี 2020
ทำนองเดียวกับอังกฤษในเอเชียเมื่อปี 1941 สหรัฐฯเวลานี้มีกองทัพซึ่งรู้วิธีการในการสู้รบทำสงครามอาณานิคม ทว่าไม่ใช่ในการสู้รบทำสงครามไฮเทคกับอภิมหาอำนาจอีกรายหนึ่ง เมื่อตอนที่ โคลบี้ ป่าวร้องสนับสนุนให้ทำสงครามจำกัดขอบเขตนั้น เขาหมายถึงสงครามชนิดที่ฝ่ายทหารสหรัฐฯรู้เป็นอย่างดีว่าจะต้องรบยังไง

มีการเสนอความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการนำเอากองทัพที่คุณมีอยู่ไปเข้าทำสงคราม แต่ว่านี่เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ บางครั้งทางเลือกที่ถูกต้องก็คือการไม่เข้าทำสงครามใดๆ ทั้งสิ้น กองทัพสหรัฐฯนั้นอยู่ในสภาพกลวงใน นายทหารระดับนายพลทุกๆ คนที่รับราชการอยู่ในเวลานี้ ต่างได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งจากการทำสิ่งต่างๆ ในทางที่ผิดพลาดทั้งสิ้น

สหรัฐฯมีความมุ่งมั่นผูกพันกับเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีลดน้อยลงไปอย่างเห็นชัด งบประมาณด้านการพัฒนาเทคของรัฐบาลกลางหล่นลงมาเหลือแค่ 0.27% ของจีดีพีในปี 2019 จาก 0.8% เมื่อปี 1984 เวลานี้เพนตากอนซื้อระบบอย่างเดียวกันเลยจากพวกบริษัทรับเหมารับจ้างทางการทหาร โดยที่เป็นระบบซึ่งตนเองทำเอาไว้เมื่อ 1 ช่วงอายุที่แล้ว และนายทหารระดับสูงได้กลายเป็นนักล็อบบี้ระดับทดลองงาน ให้แก่อุตสาหกรรมกลาโหม

สหรัฐฯอยู่อย่างสบายเรื่อยเฉื่อยกับความสำเร็จในสงครามเย็นของเรามาเป็นเวลา 30 ปี แต่เวลาเดียวกันนั้นจีนกลับอุทิศทรัพยากรมากมายมหาศาลให้แก่การป้องกันไม่ให้เราสามารถสำแดงแสนยานุภาพต่อแนวชายฝั่งของพวกเขาได้

สหรัฐฯจะต้องใช้เงินถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาด้านไฮเทค และเวลาอีกหลายๆ ปีทีเดียว จึงจะสามารถตอบโต้กับขีปนาวุธ, การทำสงครามไซเบอร์, และสมรรถนะเชิงรุกอย่างอื่นๆ ของจีนได้ สหรัฐฯจำเป็นต้องมีแนวทางเข้าสู่ปัญหาอย่างมีวิสัยทัศน์ ซึ่งพวกรัฐมนตรีกลาโหมเฉกเช่น แฮโรลด์ บราวน์ (Harold Brown) และ เจมส์ ชเลซิงเกอร์ (James Schlesinger) นำมายังเพนตากอน รวมทั้งต้องได้รับการค้ำชูสนับสนุนในฐานะเป็นเป้าหมายยิ่งใหญ่ระดับชาติประการหนึ่ง ระดับเดียวกับโครงการอะปอลโล (Apollo Program) ในยุคประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ และโครงการริเริ่มเพื่อการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative) ในยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เคยได้รับมา

อย่าได้คาดหวังว่าจะค้นพบวิสัยทัศน์ประเภทนี้จากพวกองค์การคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเศษเนื้อจากเพนตากอนหรือพวกบริษัทรับเหมารับจ้างด้านกลาโหม มันจะสามารถเกิดขึ้นมาได้จากประธานาธิบดีของสหรัฐฯสักคนหนึ่งที่เป็นผู้มีความศรัทธาแรงกล้าในเรื่องการฟื้นฟูชุบชีวิตประเทศชาติขึ้นมาใหม่เท่านั้น

ถ้าคุณต้องการสันติภาพ จงเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสงคราม ถ้าคุณต้องการสงคราม –และเป็นสงครามที่คุณต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้— ก็จงยั่วยุปรปักษ์ผู้ทรงอำนาจสักรายหนึ่งโดยที่คุณไม่ได้มีการเตรียมตัวให้พร้อม นั่นแหละคือสิ่งที่มายาภาพเรื่องสงครามจำกัดขอบเขตของ โคลบี้ จะพาสหรัฐฯไป สหรัฐฯจำเป็นต้องก้าวถอยหลังกลับมา, พิจารณาทบทวน, และเตรียมพร้อม

วิจารณ์หนังสือเรื่อง: The Strategy of Denial: American Defense in an Age of Great Power Conflict, by Elbridge Colby. Yale University Press, 2021.

วิจารณ์หนังสือที่เผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ชิ้นนี้ เป็นฉบับสั้นของวิจารณ์หนังสือที่เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ของ Law&Liberty สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ https://lawliberty.org/book-review/can-we-contain-the-dragon/)

หมายเหตุผู้แปล

[1] เอลบริดจ์ เอ. โคลบี้ (Elbridge A. Colby) ดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนากองกำลัง ในคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากตำแหน่งนี้เขาเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านยุทธศาสตร์กลาโหม, การพัฒนากองกำลัง, และการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ ให้แก่ สำนักงานรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายนโยบาย (OSD Policy) ช่วงระหว่างปี 2017 ถึงต้นปี 2018 โคลบี้ รับหน้าที่เป็น ผู้นำร่วมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาการชี้นำการวางแผนทางยุทธศาสตร์หลักของทางกระทรวง, การจัดทำยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติ (National Defense Strategy) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2018, และโฟกัสที่งานการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจสำคัญของทางกระทรวง ตลอดจนงานการรักษาความได้เปรียบทางการทหารของเหล่าทัพต่างๆ ของสหรัฐฯในยุคที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น โคลบี้ ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาคำชี้นำการวางแผนด้านกลาโหม และฉากทัศน์เพื่อการวางแผนด้านกลาโหม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นตัวแทนระดับนำด้านนโยบายคนหนึ่งของกระบวนการทบทวนโครงการและงบประมาณ และกระบวนการสนับสนุนการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

โคลบี้ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และวิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยเยล

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.defense.gov/About/Biographies/Biography/Article/1230279/elbridge-a-colby/)

[2] คริสโตเฟอร์ คลาร์ก (Christopher Clark) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่พำนักอยู่ในอังกฤษและเยอรมนี เขาเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ และเป็นศาสตราจารย์รีเจียสทางประวัติศาสตร์ (Regius Professor of History) คนที่ 22 ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ งานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดเล่มหนึ่งของเขาคือ The Sleepwalkers: How Europe Went to War in 1914 ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ปี 2012 และฉบับภาษาเยอรมันตีพิมพ์ปี 2013 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Christopher_Clark

[3]คาร์ล ฟ็อน เคลาเซอวิทซ์ (Carl von Clausewitz) ปี 1780 – 1831 นายพลชาวปรัสเซีย สมัยที่ยังไม่ได้เกิดประเทศเยอรมนี เขาได้รับยกย่องว่าเป็นนักทฤษฎีการทหารผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Carl_von_Clausewitz


กำลังโหลดความคิดเห็น