ถึงแม้ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจโลก แต่ไต้หวันยังสามารถประคองตัวอยู่รอดมาได้เพราะมีสิ่งที่ทั้งจีนและอเมริกาขาดไม่ได้ ผู้สังเกตการณ์บางคนระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทเปเป็น “โล่ซิลิคอน” ที่ยับยั้งไม่ให้ปักกิ่งบุกโจมตี ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ไต้หวันอุ่นใจว่า ถึงอย่างไรวอชิงตันคงไม่ปล่อยให้พญามังกรเข้าขย้ำตามอำเภอใจ
จากการที่ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอมปานี (ทีเอสเอ็มซี) มีฐานะครอบงำเหนือการผลิตชิประดับก้าวหน้าที่สุดอยู่ในเวลานี้ หมายความว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาะไต้หวันรายนี้สามารถกุมเทคโนโลยีซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับการทำอุปกรณ์ดิจิทัลและสร้างอาวุธอันล้ำยุคของวันนี้และของวันต่อไปข้างหน้า โดยที่แวดวงอุตสาหกรรมนี้ประเมินเอาไว้ว่า ทีเอสเอ็มซีเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงเช่นนี้ ในปริมาณกว่า 90% ของที่มีการผลิตกันอยู่ทั่วโลกทีเดียว
ทั้งอเมริกาและจีนต่างตระหนักว่า ตนเองต้องพึ่งพิงไต้หวันบนสมรภูมิการชิงตำแหน่งผู้นำโลกที่เข้มข้นดุเดือด
สำหรับวอชิงตันนั้น การปล่อยให้จีนเข้ายึดโรงงานผลิตชิปจะคุกคามต่อความเป็นผู้นำด้านการทหารและเทคโนโลยีของตน เพราะหากปักกิ่งบุก ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันจะไม่เสียหาย ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อการจัดหาชิปให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งของจีนและทั่วโลก กระทั่งถ้าโรงงานชิปเหล่านี้เกิดรอดจากการถูกจีนเข้าครอบครองมาได้ ก็เกือบแน่นอนทีเดียวว่าอุตสาหกรรมชิปของไต้หวันจะถูกตัดขาดจากห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำผลิตภัณฑ์ของพวกเขา
ทั้งอเมริกาและจีนต่างต้องการลดการพึ่งพิงชิปของไต้หวัน โดยวอชิงตันพยายามโน้มน้าวให้ทีเอสเอ็มซีเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในอเมริกา พร้อมเตรียมเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อฟื้นอุตสาหกรรมชิปภายในประเทศ ส่วนปักกิ่งทุ่มทุนมหาศาลเช่นกัน แต่อุตสาหกรรมชิปแดนมังกรยังล้าหลังไต้หวันในหลายด้านและต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะตามทัน
ความสำคัญของโรงงานผลิตชิปที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้บางคนระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันเป็น “โล่ซิลิคอน” ที่ยับยั้งไม่ให้จีนเข้าโจมตี อีกทั้งทำให้ไทเปอุ่นใจว่า จะได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หวัง เหมยฮัว รัฐมนตรีเศรษฐกิจไต้หวัน กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิปเกี่ยวพันลึกซึ้งกับอนาคตของไต้หวันทั้งในแง่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ และสำทับว่า แทนที่จะเรียกว่า โล่ซิลิคอน ควรบอกว่า ไต้หวันมีสถานะที่สำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานโลกจะเหมาะสมกว่า
กระนั้น อันตรายสำหรับไต้หวันคือ ทีเอสเอ็มซีตั้งอยู่บน “วิถีกระสุน” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่ราบแคบๆ ตามแนวชายฝั่งด้านตะวันตกที่หันหน้าเข้าหาจีน โดยห่างจากจุดที่ใกล้จีนที่สุด 130 กิโลเมตร นอกจากนั้น โรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ใกล้หาดสีแดง หรือบริเวณที่นักยุทธศาสตร์การทหารระบุว่า มีแนวโน้มที่จีนจะยกพลขึ้นบก ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่และกลุ่มโรงงานรอบๆ ของทีเอสเอ็มซีในเมืองซินจู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะไต้หวันนั้น อยู่ห่างจากชายฝั่งดังกล่าวเพียง 12 กิโลเมตร
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันได้รับการยืนยันในเดือนกรกฎาคม 2020 เมื่อไต้หวันระดมกำลังพลนับพันนายซ้อมรบโดยสมมติฉากทัศน์เป็นการตอบโต้การโจมตีของจีนในเมืองไถจง ซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรมบนชายฝั่งด้านตะวันตกและเป็นที่ตั้งของ “กิกะแฟบ 15” ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตชิประดับสูงของทีเอสเอ็มซี
เมื่อถามถึงภัยคุกคามต่อโรงงานผลิตชิป กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันตอบว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จีนไม่เคยรามือในการพยายามใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวัน แต่เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ก่อนสำทับว่า ไต้หวันสามารถเผชิญหน้าและจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้
ด้านทีเอสเอ็มซีไม่ได้ตอบคำถามเดียวกันนี้โดยตรง แต่ย้ำว่า อุตสาหกรรมชิปเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่พึ่งพิงการออกแบบ วัตถุดิบ อุปกรณ์ และบริการอื่นๆ จากภูมิภาคต่างๆ และบริษัทเฉพาะทางจำนวนมาก ดังนั้น การร่วมมือระดับโลกจึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้ มากกว่าจะขึ้นอยู่กับบริษัทเดียว หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น
วอชิงตันร้อนรน
ขณะที่จีนคุกคามทางทหารต่อดินแดนมังกรน้อยหนักขึ้น อเมริกายิ่งนั่งไม่ติดเพราะตระหนักดีว่า ต้องพึ่งพิงชิปจากไต้หวันอย่างมาก
มาร์ติน แรสเซอร์ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสและนักวิเคราะห์ข่าวกรองของสำนักงานข่าวกรองกลางของอเมริกา (ซีไอเอ) ชี้ว่า สิ่งที่วอชิงตันกังวลมากคือ ความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้าควบคุมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจอเมริกา ตลอดจนถึงความสามารถของกองทัพอเมริกันในด้านระบบอาวุธ
หนึ่งในการประกาศจุดยืนชัดเจนที่สุดของคณะบริหารของประธานาธิบดีไจ ไบเดน เกี่ยวกับความจำเป็นในการต่อต้านการโจมตีของจีนต่อไต้หวันคือ คำแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันคือเหตุผลสำคัญที่อธิบายว่า เหตุใดความมั่นคงของไต้หวันจึงสำคัญอย่างมากต่ออเมริกา
ทางฝ่ายโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงของอุตสาหกรรมชิป แต่บอกว่า วอชิงตันจะถือว่า ความพยายามในการกำหนดอนาคตของไต้หวันด้วยวิธีการที่ไม่ใช่สันติวิธี เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก
ทว่าเวลาเดียวกันนั้น มีผู้สังเกตการณ์บางคนเตือนว่า ความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมชิปที่ทำให้ไต้หวันมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนนั้น ไม่เพียงพอยับยั้งไม่ให้จีนพยายามใช้กำลังเข้าควบคุมไทเป
วอลเลซ เกร็กสัน อดีตพลโทเหล่านาวิกโยธินและเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยกตัวอย่างการพึ่งพิงกันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งของประเทศต่างๆ ในยุโรป ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 ได้
เกร็กสัน สำทับว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไม่มีทางประนีประนอมในเรื่องไต้หวัน เพราะวางเดิมพันชื่อเสียงเกียรติยศของตัวเองกับการนำไต้หวันกลับมาอยู่ใต้การควบคุมของจีน
การต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องไต้หวันนั้น เดิมพันสำคัญมากอย่างหนึ่งทั้งสำหรับอเมริกาและจีน ก็คือ การเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีการทหารและพลเรือนระดับสูงเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์วิจัยและวินิจฉัยทางการแพทย์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับโควิด-19
ชิประดับก้าวหน้าที่สุด ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดในการแข่งขันด้านอาวุธระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คือชิปขนาด 10 นาโนเมตรและขนาดเล็กกว่านั้นไปอีก อันเป็นภาคส่วนที่ไต้หวันครอบงำตลาดอยู่ อุปกรณ์ขนาดแผ่นจิ๋วๆ พื้นที่แค่สองสามตารางมิลลิเมตรเหล่านี้ บรรจุเอาไว้ด้วยส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนนิกส์เป็นหลายพันล้านชิ้น
สิ่งที่อเมริกากังวลมากคือ การเสียเปรียบในการแข่งขันเพื่อใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการพัฒนาอาวุธ เอไอจะช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ รวมทั้งยังถูกคาดหมายว่า จะปฏิวัติรูปแบบการทำสงคราม แต่ทั้งนี้ เอไอต้องอาศัยเซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้า
ทางด้านจีนก็มีเดิมพันสูงเช่นกัน เพราะถ้าไม่ได้ชิปจากไต้หวัน อุตสาหกรรมในประเทศอาจพังพินาศ รายงานจากสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ออกมาในเดือนตุลาคม 2020 ระบุว่า ดีมานด์เซมิคอนดักเตอร์ของจีนมีสัดส่วนถึง 60% ของดีมานด์จากทั่วโลก และกว่า 90% ของเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในจีนมาจากการนำเข้าหรือผลิตในท้องถิ่นโดยซัปพลายเออร์ต่างชาติ
ส่วนไต้หวันนั้นเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ สินค้าส่งออกไปจีนในช่วงไตรมาสแรกปีที่แล้วเกือบครึ่งคือเซมิคอนดักเตอร์ หรือเพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันปี 2020
รายงานเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วจากบอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป และสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริการะบุว่า การสูญเสียผลผลิตจากไต้หวันเพียงปีเดียวอาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศหยุดชะงัก
แม้ขณะนี้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกายังครอบงำในหลายด้านผ่านการเป็นผู้นำในการวิจัย พัฒนา และออกแบบ และกวาดรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของทั่วโลกที่คาดว่าอยู่ที่ 452,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ทว่า อเมริกาได้ถ่ายโอนการผลิตชิปขั้นสูงส่วนใหญ่ไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวัน
ขณะที่ไต้หวันมีศักยภาพการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงสุดถึง 92% ของศักยภาพการผลิตทั่วโลก ส่วน 8% ที่เหลือเป็นของเกาหลีใต้
ความท้าทายสำหรับจีน
พวกผู้วางแผนเศรษฐกิจของจีนตระหนักถึงความเสี่ยงนี้เป็นอย่างดีและกำหนดให้ความเป็นอิสระด้านเซมิคอนดักเตอร์เป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรก ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทท้องถิ่นเข้ารับผิดชอบอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมดตั้งแต่วัตถุดิบ การวิจัย การออกแบบชิป การผลิตและบรรจุหีบห่อ
เป้าหมายดังกล่าวถือเป็นความท้าทายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกสำหรับชิปซับซ้อนอย่างยิ่งและเกี่ยวข้องกับวัสดุและสารเคมีมากมาย อุปกรณ์ไฮเทคกว่า 50 ชนิด และซัปพลายเออร์หลายพันรายทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย
รายงานการตรวจสอบความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานของอเมริกาที่จัดทำโดยคณะบริหารของไบเดนเมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า ปักกิ่งอัดฉีดเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมชิปท้องถิ่นถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโรงงานใหม่ 60 แห่ง ที่ขณะนี้หลายแห่งขาดทุนยับ ล้มละลาย ผิดนัดชำระหนี้ และยุบโครงการไปแล้ว
ผู้คร่ำหวอดในวงการชิปจากอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และไต้หวันลงความเห็นว่า แม้จีนได้รับเทคโนโลยีจากต่างชาติและอัดฉีดเงินให้โครงการที่มีอนาคตดีกว่า แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่า จีนจะประสบความสำเร็จในการผลิตชิปขั้นสูงที่ต้องใช้กระบวนการผลิตซับซ้อนที่สุด
นอกจากนั้น จีนยังมีปัญหาขาดแคลนคนเก่ง และต้องรับสมัครวิศวกรและเทคโนโลยีจากไต้หวัน เกาหลีใต้ และอเมริกา แต่ความพยายามนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จชัดเจน ตรงข้ามกับบริษัทอย่างทีเอสเอ็มซีที่มีทีมผู้เชี่ยวชาญขนาดใหญ่รับผิดชอบกระบวนการต่างๆ
อดีตนาวาเอกฉาง ชิง ที่ปัจจุบันเป็นนักวิชาการของโซไซตี ฟอร์ สเตรทเตอจิก สตัดดีส์ในไทเป ชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมชิปไต้หวัน ดังนั้น ถ้ามีการบุกไต้หวันจริง กองทัพคอมมิวนิสต์จะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อปกป้องบุคลากรในภาคเทคโนโลยีของไต้หวัน
อย่างไรก็ดี ขณะที่ทั้งอเมริกาและจีนทุ่มยกระดับอุตสาหกรรมชิปของตนเอง ไทเปประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ว่า จะไม่ยอมให้ตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ตกไปเป็นของชาติอื่น
ปัจจุบัน ทีเอสเอ็มซีได้เริ่มทดลองผลิตชิปขั้นสูงสุดระดับ 3 นาโนเมตร รวมทั้งเปิดตัวหน่วยวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตชิปเจเนอเรชันต่อไป ขนาด 2 นาโนเมตร
นอกจากนั้น นับจากขณะนี้จนถึงปี 2025 บริษัทท้องถิ่นและต่างชาติยังมีแผนลงทุน 108,000 ล้านดอลลาร์ในโรงงานและอุปกรณ์ผลิตชิปในแดนมังกรน้อย ซึ่งเมื่อสัมฤทธิผลตามเป้าหมายจะทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันเหลือคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเพียงไม่กี่รายเท่านั้น
(ที่มา : รอยเตอร์)