(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Kazakhstan becomes toxic graveyard for US diplomacy
By MK BHADRAKUMAR
12/01/2022
ขณะที่กระแสลมทางการเมืองในคาซัคสถานเกิดเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน ห้องแล็บชีวภาพแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ อัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ และมีมาตรการรักษาความมั่นคงด้านชีวภาพในระดับสูง ก็อาจจะกลายเป็นความน่าอับอายขายหน้าครั้งใหญ่ของวอชิงตัน
กระทรวงสาธารณสุขของคาซัคสถานออกคำประกาศแบบไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ฉบับหนึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีเนื้อหามุ่งปฏิเสธรายงานทางสื่อสังคมที่ระบุว่า “ห้องแล็บชีวภาพของฝ่ายทหาร” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ถูกยึดเอาไว้โดย “กลุ่มบุคคลที่ไม่มีการระบุว่าเป็นใคร”
ตามรายงานของสำนักข่าวทาสส์ (Tass news agency) ของรัสเซียเมื่อวันอาทิตย์ (9 ม.ค.) สื่อสังคมมีการคาดเดากันว่าพวกผู้ชำนาญการซึ่งใส่ชุดป้องกันสารเคมีชีวภาพพรักพร้อม กำลังปฏิบัติงานอยู่ใกล้ๆ ห้องแล็บแห่งนี้ เนื่องจากมี “จุลชีพก่อโรคที่มีอันตรายรั่วไหลออกมา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1385177)
ขณะที่เอกสารแถลงข่าวซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขคาซัค ใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังเพื่ออธิบายสร้างความกระจ่าง โดยกล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง สถานที่แห่งนี้กำลังได้รับการพิทักษ์คุ้มครองอยู่แล้ว”
รายงานที่ดูลึกลับเป็นปริศนานี้ เหมือนเป็นสปอตไลต์ฉายให้เห็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมีผลกระทบอย่างสูงต่อสุขภาพของสาธารณชน เวลาเดียวกันก็เผยให้เห็นถึงการแตกแขนงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นจริงจัง
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เมื่อเป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหรัฐฯกำลังพยายามจัดตั้งและค่อยๆ พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในด้านการวิจัยทางชีวภาพ กับพวกอดีตสาธารณรัฐโซเวียตหลายต่อหลายแห่ง มอสโกก็ได้กล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นภัยคุกคามรัสเซีย
สถานดำเนินการวิจัยทางชีวภาพเหล่านี้ เริ่มแรกทีเดียวถูกจัดวางเอาไว้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันว่า โครงการลดทอนภัยคุกคามทางชีวภาพ นันน์-ลูการ์ (Nunn-Lugar Biological Threat Reduction Program) ของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งป้องกันไม่ให้ความรู้ความเชี่ยวชาญ, วัสดุต่างๆ, เครื่องมืออุปกรณ์, ตลอดจนเทคโนโลยีทั้งหลาย ที่สามารถสร้างคุณูปการให้แก่การพัฒนาอาวุธชีวภาพได้ เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายออกไป
ทว่ามอสโกมีความสงสัยข้องใจว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นมา มันกลับเป็นเรื่องตรงกันข้ามเสียมากกว่า –กล่าวคือในความเป็นจริงแล้ว เพนตากอนกำลังให้ความอุปถัมภ์, ให้ความสนับสนุนทางการเงินอย่างเหลือเฟือ, และจัดหาความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ห้องแล็บเหล่านี้ ซึ่ง “สหรัฐฯกำลังใช้สร้างศักยภาพความสามารถด้านชีวภาพในทางการทหารขึ้นมา ภายใต้หน้าฉากอำพรางว่าเป็นการวิจัยในทางสันติ”
ในเดือนตุลาคม 2018 พลตรีอีกอร์ คิริลลอฟ (Igor Kirillov) ผู้บัญชาการของกองทหารพิทักษ์ป้องกันทางด้านรังสี, เคมี, และชีวภาพ (Radiological, Chemical and Biological Defense Troops) ของรัสเซีย ได้ออกมาแถลงข่าวอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยมีการเปิดโปงให้เห็นถึงแบบแผนเครือข่ายห้องแล็บเพนตากอนที่กำลังถูกจัดตั้งขึ้นมาหลายต่อหลายแห่ง ในบริเวณใกล้ๆ ชายแดนของรัสเซียและจีน ทั้งนี้แบบแผนดังกล่าวนี้สามารถวินิจฉัยกันได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นแต่อย่างใด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.timesofisrael.com/russia-claims-us-running-secret-biological-weapons-lab-in-georgia/)
ความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างสหรัฐฯกับคาซัค
การจับมือเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างสหรัฐฯกับคาซัคสถานในแวดวงนี้ สามารถสาวย้อนหลังไปจนถึงปี 2003 ทีเดียว ส่วนการที่คาซัคสถานกลายเป็น “จุดร้อน” อันน่าสนใจมากๆ สำหรับการเฝ้าติดตามการปรากฏขึ้นของโรคติดเชื้อทั้งหลาย ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสภาพทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ของประเทศนี้ ตลอดจนการที่คาซัคสถานมีสัตว์สปีชี่ส์ที่สามารถกลายเป็น “เจ้าบ้าน” ของโรคติดเชื้อได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ คาซัคสถานยังสามารถรักษาโครงสร้างพื้นฐาน และเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อแบบเป็นชั้นๆ หลายๆ ชั้น ที่มีมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าซาร์แล้ว เอาไว้ได้
โครงการวิจัยทั้งหลายที่ได้รับเงินทุนจากสหรัฐฯเหล่านี้ มีศูนย์รวมอยู่ที่การศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับการคัดสรรตัวก่อโรคระบาดร้ายแรงต่างๆ รวมทั้งพวกโรคที่ระบาดจากสัตว์สู่คน อันได้แก่ แอนแทร็คซ์, กาฬโรค, ทูลาเรเมีย (tularemia หรือ โรคไข้กระต่าย), ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกที่มีฤทธิ์ก่อโรคสูง, บรูเซลโลซิส (brucellosis), ฯลฯ โครงการเหล่านี้ให้เงินทุนแก่พวกนักวิจัยในคาซัคสถาน ขณะที่พวกผู้ประสานงานโครงการในสหรัฐฯและในสหราชอาณาจักรคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและชี้นำนักวิจัยเหล่านี้ในการพัฒนาและทดสอบพิสูจน์สมมุติฐานต่างๆ ของพวกเขา
ห้องแล็บชีวภาพในเมืองอัลมาตีที่ถูกระบุเอาไว้ในรายงานของสำนักข่าวทาสส์นั้น มีนามที่ไม่ส่อให้เห็นวี่แววกิจกรรมจริงๆ ของมันเลยว่า “ห้องปฏิบัติการอ้างอิงส่วนกลาง” (Central Reference Laboratory ใช้อักษรย่อว่า CRL) ได้รับการวางแผนจัดตั้งขึ้นมาในตอนแรกเริ่มเลยตั้งแต่เมื่อปี 2013 โดยที่สหรัฐฯใช้เงินลงทุนเป็นจำนวน 102 ล้านดอลลาร์ทีเดียวสำหรับห้องแล็บที่มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางชีวภาพแห่งนี้ เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยตัวก่อโรคร้ายแรงที่สุดบางชนิด ซึ่งมีศักยภาพที่อาจนำมาใช้ในการโจมตีแบบการก่อการร้ายทางชีวภาพได้
แทนที่จะไปตั้งสถานวิจัยแห่งใหม่ขึ้นมาบนที่ดินห่างไกล อย่างในรัฐเนวาดา ของสหรัฐฯเอง เพนตากอนกลับจงใจเลือกเอาสถานที่ใกล้ๆ เมืองอัลมาตี มาเป็นจุดเก็บรวบรวมเชื้อที่ต้องใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยระดับสูง และมาเป็นจุดศึกษาพวกเชื้อโรคซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด อย่างเช่น กาฬโรค, แอนแทร็คซ์, และอหิวาต์
เหตุผลที่ถูกระบุสำหรับการตัดสินใจเช่นนี้ก็คือ ห้องแล็บแห่งนี้จะเป็นผู้ว่าจ้างพวกนักวิจัยผู้มีความรู้ความสามารถชาวคาซัค ด้วยเงื่อนไขการจ้างที่น่าพึงพอใจ และนำเอาพวกเขาออกมาจากท้องถนน พูดกันง่ายๆ ก็คือว่า ลดทอนแรงจูงใจที่จะทำให้พวกเขาขายความชำนิชำนาญและบริการทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขาแก่กลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างๆ ซึ่งอาจนำเอาไปใช้ทำอาวุธชีวภาพ
ทว่า ห้องแล็บ CRL ซึ่งในเวลานี้ก็ยังดำเนินงานอยู่ ถูกผูกติดเอาไว้กับความร่วมมือเชิงสถาบัน ระหว่างรัฐบาลคาซัค กับ สำนักงานการลดทอนภัยคุกคามด้านกลาโหมของสหรัฐฯ (US Defense Threat Reduction Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดเพนตากอน ที่มีภารกิจในการพิทักษ์ป้องกัน “ผลประโยชน์ต่างๆ ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในสภาพแวดล้อมที่ภัยคุกคามระดับทั่วโลกกำลังวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับปรปักษ์ทั้งหลายของเรา และเพื่อจัดหาจัดทำหนทางแก้ไขคลี่คลายภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง (weapons of mass destruction หรือ WMD) ในยุคของการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจใหญ่ๆ”
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักงานของสหรัฐฯแห่งนี้ได้ที่ https://www.dtra.mil/)
ทำไมต้องเป็นคาซัคสถาน?
อันที่จริงแล้ว เยอรมนีก็มีการทำความตกลงทำนองเดียวกันนี้กับฝ่ายคาซัคเหมือนกัน โดยอยู่ในความดูแลของ เครือข่ายเยอรมัน-คาซัคเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพและความมั่นคงทางชีวภาพ (German-Kazakh Network for Biosafety and Biosecurity) เครือข่ายแห่งนี้อยู่ในการบริหารจัดการร่วมของ สถาบันจุลชีววิทยา แห่งกองทัพเยอรมนี (Bundeswehr Institute of Microbiology) ที่เป็นหน่วยงานวิจัยทางการทหาร ในด้านชีวภาพการแพทย์เพื่อการป้องกันประเทศ ของกองทัพเยอรมนี
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ German-Kazakh Network for Biosafety and Biosecurity ได้ที่ ttps://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpubh.2021.649393/full)
ทำไมคาซัคสถานจึงเนื้อหอมใครๆ ก็อยากได้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้? คำตอบตรงๆ ง่ายๆ ก็คือ ประเทศนี้เปิดช่องทางชนิดที่หาได้ยากยิ่งจากที่อื่นๆ ในการเข้าถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชาวรัสเซียและชาวจีน เพื่อนำมาใช้เป็น “ตัวอย่างการศึกษา” ในเวลาดำเนินการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับตัวก่อโรคฤทธิ์ร้ายแรงที่มีศักยภาพนำมาใช้งานในสงครามชีวภาพ ทั้งนี้คาซัคสถานมีเส้นพรมแดนยาวเหยียด 13,364 กิโลเมตร ซึ่งติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ทั้ง รัสเซีย, จีน, คีร์กิซสถาน, อุซเบกิสถาน, และ เติร์กเมนิสถาน
จีนน่ะไม่สนใจใยดีกับเรื่องทั้งหมดนี้เลยหรือ? ตรงกันข้ามเลย นิตยสาร “ปักกิ่งรีวิว” (Beijing Review) เคยเสนอรายงานข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์คาซัค ที่ บีบีซี มอนิเตอริ่ง (BBC Monitoring) นำมาเผยแพร่ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความกังวลสนใจของจีนในเรื่องนี้
(ดูเพิ่มเติม รายงานของปักกิ่งรีวิว ได้ที่ http://www.bjreview.com/World/202005/t20200526_800207420.html)
(บีบีซี มอนิเตอริ่ง เป็น หน่วยงานในสังกัด บีบีซี ทำหน้าที่ติดตามและแปลรายงานข่าวที่มีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนของทั่วโลก -ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/BBC_Monitoring))
เช่นเดียวกับรัสเซียที่จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนี่เอง ยังมีนักวิจารณ์ผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวรัสเซียผู้หนึ่ง ในสังกัด แอสทิวต์นิวส์ (Astute News) เขียนเอาไว้ว่า ห้องแล็บชีวภาพเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วคือฐานทางทหารของเพนตากอน และเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปสืบสวนสอบสวน
นักวิจารณ์ผ่านสื่อผู้นี้เน้นย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของคาซัคสถาน “เวลานี้มีงานหลักๆ คือเรื่องโปรแกรมวิจัยต่างๆ ของเพนตากอน” นี่แหละ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://astutenews.com/2021/11/the-us-is-preparing-a-biological-time-bomb-in-kazakhstan/)
ยังไงกัน ทำไมคาซัคสถานที่เป็นรัฐสมาชิกรายหนึ่งของ องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organisation หรือ CSTO) จึงได้ออกนอกลู่นอกทางด้วยความประพฤติเช่นนี้ได้? เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการอธิบายกันสักหน่อย
(องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน หรือ CSTO เป็นองค์การพันธมิตรทางทหารนำโดยรัสเซีย รัฐสมาชิกประกอบด้วย รัสเซีย, คาซัคสถาน, อาร์เมเนีย, เบลารุส, คีร์กิซสถาน, ทาจิกิสถาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Collective_Security_Treaty_Organization#Member_state)
ห้องแล็บทางชีวภาพเหล่านี้ คือตัวอย่างที่มีชีวิตของความชั่วร้ายบางอย่างที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว มันเป็นความย้อนแย้ง มันเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนรู้แต่ไม่มีใครต้องการจะพูดถึง นั่นก็คือ การที่หน่วยข่าวกรองอเมริกันสามารถแทรกเข้าไปแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางในหมู่ชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครองคาซัคสถานแต่กำลังเสื่อมทรามลงทุกที
การแทรกเข้าไปได้เช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีๆ แล้ว แต่เป็นไปอย่างล้ำลึกเพิ่มขึ้นมากในระยะหลังๆ มานี้ ขณะที่ความเป็นผู้นำแบบ “เข้าไปยุ่งเกี่ยวรู้เห็นโดยตรง” ของ นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) อดีตประธานาธิบดีที่ปัจจุบันอายุ 81 ปีแล้ว เริ่มผ่อนคลายหละหลวม และสมาชิกในครอบครัวตลอดจนพวกบริษัทบริวารของเขาก็เริ่มหาช่องทำมาหากินเสริม (แน่นอนล่ะ โดยที่ท่านผู้เฒ่าหัวหน้าตระกูลยังคงเฝ้ามองอยู่ด้วยสายตาอันเมตตา) –นี่เป็นอะไรบางอย่างคล้ายๆ กับช่วงปีที่ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) เป็นผู้ปกครองรัสเซีย
น่าเศร้าใจที่ว่า เรื่องราวดำเนินไปตามรอยทางอันชั่วร้ายที่แสนคุ้นเคย พวกชนชั้นนำคาซัคนั้นมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นสุดๆ แม้กระทั่งเมื่อวัดด้วยมาตรฐานของเอเชียกลาง โดยที่พวกเขานิยมที่จะเก็บรักษาสิ่งที่พวกเขาปล้นชิงประเทศชาติมาได้เอาไว้ในแหล่งหลบภัยในโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่พวกเขาต้องยินยอมอ่อนข้อชนิดหมดน้ำยาให้แก่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เรื่องก็เป็นไปอย่างง่ายๆ เช่นนี้แหละ
(ดูเพิ่มเติมเรื่องความร่ำรวยและทรัพย์สินที่อยู่ในโลกตะวันตกของพวกนาซาร์บาเยฟ ได้ที่ https://www.rferl.org/a/kazakhstan-nazarbayev-family-wealth/31013097.html)
มอสโกเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด
แน่นอนที่สุดอยู่แล้วว่า มอสโกรู้สึกได้ถึงความหมางเมินไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวคาซัคที่กำลังสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และการที่ฐานะของนาซาร์เยฟ ซึ่งถือเป็นเพื่อนมิตรสนิทสนมคนหนึ่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กำลังแสดงอาการง่อนแง่นคลอนแคลน
แต่รัสเซียนั้นไม่ได้เข้าไปแทรกแซง (และต่อไปในอนาคต ก็น่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงเช่นกัน) นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯเปิดการปฏิบัติการของตนผ่านพวกนายหน้าผู้ทรงอำนาจทั้งหลาย ซึ่งให้ “บังเอิญ” เหลือเกินที่นายหน้าเหล่านี้คือสมาชิกในครอบครัวตลอดจนลูกน้องบริวารของท่านหัวหน้าตระกูลผู้ชรา
พิจารณาจากประเพณีการยึดถือความผูกพันทางครอบครัวทางตระกูลเอาไว้อย่างเหนียวแน่นในพื้นที่ส่วนนั้นของโลกแล้ว บางทีมอสโกอาจรู้สึกว่าตนเองจำเป็นต้องละเอียดรอบคอบและตัดสินใจที่จะเก็บคำแนะนำของตนเอาไว้กับตัวเอง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่เพิ่มเข้ามาอีกประการหนึ่ง ได้แก่ความหวั่นกลัวที่ว่าสหรัฐฯอาจบงการชักนำพวกกลุ่มพลังชาตินิยมสุดขั้ว (แบบเดียวกับที่ได้กระทำในยูเครน) ให้ทำอันตรายแก่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์รัสเซียที่มีจำนวนมากถึง 3.5 ล้านคนทีเดียว (เท่ากับ 18% ของประชากรคาซัคสถาน) แต่อยู่ในภาวะที่แสนเปราะบาง
เหนือสิ่งอื่นใดเลย คือข้อเท็จจริงที่ว่า พวกลูกน้องบริวารของนาซาร์บาเยฟ เป็นผู้กุมจุดสำคัญๆ ของอำนาจรัฐเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกกลไกด้านความมั่นคง ซึ่งนี่ทำให้วอชิงตันกลายเป็นฝ่ายที่มีความได้เปรียบอย่างชัดเจน
แต่แล้วสิ่งต่างๆ กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นาซาร์บาเยฟอาจจะยังคงมีอิทธิพลเหลือตกค้างอยู่บ้าง ทว่าไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะช่วยชีวิตชนชั้นนำซึ่งคอยเกื้อกูลส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โตกาเยฟ ที่โดยอาชีพแล้วเป็นนักการทูตที่เก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยชอบเป็นข่าวดัง ในที่สุดก็แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา
ความเคลื่อนไหวของโตกาเยฟที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาด มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ การที่เขาเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) แทนที่ นาซาร์บาเยฟ และการปลด คาริม มาซิมอฟ (Karim Masimov) ออกจากการเป็นประธานของหน่วยข่าวกรองที่ทรงอำนาจยิ่งของประเทศ (และนับจากนั้นมา มาซิมอฟยังถูกจับกุมพร้อมกับผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ ที่มิได้มีการระบุชื่อ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนในข้อหาความผิดฐาน “เป็นกบฎ”)
(เรื่องโตยาเยฟขึ้นเป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาตแทนที่นาซาร์บาเยฟ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1384173)
(เรื่องมาซิมอฟถูกปลดและถูกจับ ดูเพิ่มเติมได้ท่ https://www.rt.com/russia/545442-kazakhstan-security-chief-arrested-treason/)
แน่นอนทีเดียวว่า วอชิงตันมีอะไรอยู่มากมายที่จะต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับคาซัคสถาน เพราะสิ่งซึ่งเกิดขึ้นมา มันเหมือนกับเป็นงานที่ยังไม่ยุติเสร็จสิ้น จนกว่า “การปฏิวัติสี” จะสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง และนำเอาผู้ปกครองที่ฝักใฝ่ตะวันตกขึ้นสู่อำนาจ แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยูเครน ความปั่นป่วนวุ่นวายที่ปรากฏออกมาในเวลานี้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความพยายามก่อการปฏิวัติสีที่ประสบความล้มเหลว และก็เลยส่งผลสะท้อนถอยหลัง
ไม่เหมือนกับในอัฟกานิสถาน สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และเพนตากอน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถ “อพยพ” พวกผู้สมรู้ร่วมคิด” ของตนออกมาได้ และกระแสเหตุการณ์อันไหลเชี่ยวกรากก็ทำให้พวกชนชั้นผู้ปกครองในวอชิงตันรู้สึกช็อก
คาซัคสถานนั้นถือว่าเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง (มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือมีขนาดเท่ากับประมาณ 2 ใน 3 ของอินเดีย) แต่จำนวนประชากรเบาบาง (18 ล้านคน) ขณะที่กองทหารขององค์การซีเอสทีโอ ที่เข้าไปช่วยนั้นก็ติดอาวุธยุทธภัณฑ์ชั้นดี นำโดยนายพลผู้แข็งแกร่งที่ผ่านศึกใหญ่มาแล้ว ซึ่งก็รวมทั้งการปราบปรามการก่อความไม่สงบในแคว้นเชชเนีย
กองทหารรัสเซียที่ร่วมอยู่ในกองกำลังของซีเอสทีโอ นำเอาระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เลียร์-3 (Leer-3 electronic warfare system) อันก้าวหน้าล้ำยุคมาด้วย ระบบดังกล่าวนี้ มีทั้งพวกอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) รุ่น ออร์ลัน-10 (Orlan-10) ที่ได้รับติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์พิเศษแบบเฉพาะเจาะจง, พวกเครื่องมือในการรบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์, และอื่นๆ ขณะเดียวกันยังมีการสั่งปิดพรมแดนด้วย
คำสั่งที่กองทหารรัสเซียได้รับมอบหมายคือ การเข้าพิทักษ์ปกป้อง “ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ต่างๆ” ทั้งนี้สันนิษฐานได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวนี้ย่อมรวมถึงพวกห้องแล็บที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากเพนตากอนในคาซัคสถาน
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)