xs
xsm
sm
md
lg

ชมคลิป รัสเซียส่งทหารพลร่มเข้าคาซัคสถานช่วยปราบ ‘จลาจลต้านรัฐบาล’ ที่ ‘ต่างชาติ’ ยุยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารพลร่มรัสเซียเดินขึ้นเครื่องบินขนส่งทหารเพื่อมุ่งหน้าไปยังคาซัคสถาน ณ สนามบินนอกกรุงมอสโก เมื่อวันพฤหัสบดี (6 ม.ค.) (ภาพเผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย)
รัสเซียส่งทหารพลร่มเข้าไปในคาซัคสถานวันพฤหัสบดี (6 ม.ค.) เพื่อช่วยปราบปรามการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ภายหลังความรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายแผ่กระจายออกไปทั่วอดีตสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตแห่งนี้



ตำรวจแถลงว่าได้สังหารผู้ก่อจลาจลหลายสิบคนในเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศเอเชียกลางรายนี้ ขณะที่โทรทัศน์ของรัฐบาลรายงานว่า มีสมาชิกกองกำลังความมั่นคงเสียชีวิตไป 13 คน โดยที่มี 2 คนซึ่งศพอยู่ในสภาพถูกตัดศีรษะ

ที่พำนักของประธานาธิบดีแห่งหนึ่งในเมืองอัลมาตี รวมทั้งสำนักงานนายกเทศมนตรีของนครแห่งนี้ต่างถูกจุดไฟเผาผลาญ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของรอยเตอร์รายงาน โดยที่เมื่อถึงตอนบ่ายวันพฤหัสบดี (6) ท่าอากาศยานของเมืองนี้ซึ่งถูกพวกผู้ประท้วงยึดไว้ก่อนหน้านี้ ได้ถูกบุคลากรทางทหารเข้าควบคุมเอาไว้อย่างมั่นคงแล้ว ขณะที่ตามถนนหลายสายเห็นซากรถยนต์ที่ถูกพระเพลิงเผาผลาญหลายคัน

ก่อนหน้านั้นของวันเดียวกัน ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะหลายคัน พร้อมกำลังทหารหลายสิบนายได้เคลื่อนเข้าสู่บริเวณจัตุรัสใหญ่ที่สุดของเมืองอัลมาตี โดยสามารถได้ยินเสียงยิงปืนขณะทหารเคลื่อนเข้าไปหาฝูงชน ทั้งนี้ตามรายงานจากที่เกิดเหตุของพวกผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ จากนั้นในเวลาต่อมา จัตุรัสแห่งนี้ดูเหมือนกลับเข้าสู่ความสงบ โดยที่มีผู้ประท้วง 200-300 คนยังคงรวมตัวกันอยู่ แต่ไม่มีทหารอยู่ใกล้ๆ

ซากรถยนต์ถูกเผาเสียหายยับเยิน ตรงบริเวณจัตุรัสใกล้ๆ กับพื้นที่อาคารส่วนราชการใจกลางนครอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน เมื่อวันพฤหัสบดี (6 ม.ค.)

ภาพถ่ายจากวิดีโอของทีวีเอเอฟพีเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2022 แสดงให้เห็นพวกผู้ประท้วงปะทะกับกองกำลังความมั่นคงของคาซัคสถาน ระหว่างการเดินขบวนในเมืองอัลมาตี ที่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ
คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อสังคม และยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยัน แสดงให้เห็นหน่วยทหารออกลาดตระเวนไปตามถนนที่มีหมอกปกคลุมของเมืองอัลมาตีในช่วงกลางดึก มีการยิงอาวุธ ตลอดจนเกิดเหตุปล้นชิงข้าวของกันอย่างกว้างขวาง พวกผู้ประท้วงซึ่งสวมหน้ากาก มีบางคนถือโล่และไม้กระบองที่ดูเหมือนยึดมาจากตำรวจ เดินขบวนฝ่าเข้าไปกลางกลุ่มควันโขมงของแก๊สน้ำตา ตามถนนสายกว้างใหญ่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้สองข้างทาง พร้อมกับที่มีเสียงระเบิดขึ้นมาหลายครั้ง

เวลานี้ทั่วคาซัคสถานถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และขนาดขอบเขตของความรุนแรงเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยืนยันได้ แต่ความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นมานี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับคาซัคสถาน ซึ่งถูกปกครองอย่างเหนียวแน่นมั่นคงเรื่อยมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตโดยผู้นำที่มีนามว่า นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ผู้ซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปี และยังคงครองอำนาจในทางพฤตินัย ถึงแม้ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 3 ปีก่อน

ประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ ผู้เป็นทายาทสืบต่อตำแหน่ง ซึ่งนาซาร์บาเยฟเลือกมากับมือ ร้องขอกำลังทหารช่วยเหลือจากรัสเซียผู้เป็นพันธมิตรเมื่อคืนวันพุธ ทั้งนี้รัสเซียและคาซัคสถานตลอดจนอีกหลายชาติที่เคยเป็นอดีตสาธารณรัฐโซเวียต ยังคงรวมตัวเป็นพันธมิตรทางทหารกันอยู่ โดยมีชื่อองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization - CSTO) โตกาเยฟ ประณามความไม่สงบที่เกิดขึ้นคราวนี้ว่า เป็นฝีมือของพวกผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ และกล่าวหาว่า คนเหล่านี้ยกเข้ากำลังเข้ายึดอาคารสำคัญๆ รวมทั้งยึดอาวุธไปด้วย

รัสเซียแถลงว่าจะหารือกับคาซัคสถานและชาติพันธมิตรอื่นๆ เกี่ยวกับมาตรการต่อไปในการสนับสนุน “การปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย” ของทางการคาซัค พร้อมเรียกการลุกฮือครั้งนี้ว่าเป็นความพยายามซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากต่างชาติในการบ่อนทำลายความมั่นคงของคาซัคสถานโดยใช้กำลัง

ด้านสำนักงานเลขาธิการขององค์การ CSTO ที่นำโดยรัสเซีย แถลงว่า หน่วยหน้าของกำลังทหารพลร่มรัสเซียเข้าไปในคาซัคสถานแล้ว และเริ่มต้นปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

สำนักงานเลขาธิการแห่งนี้บอกว่า ทหารที่รัฐสมาชิกของ CSTO กำลังจัดส่งเข้ามา มีทั้งจากเบลารุส อาร์เมเนีย ทาจิกิสถาน และคีร์กิซสถาน ตลอดจนรัสเซีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทหารเหล่านี้มีจำนวนเท่าใด

สำหรับเหตุการณ์ลุกฮือ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในลักษณะเป็นการประท้วงที่เกิดขึ้นหลายๆ จุดทางภาคตะวันตกของประเทศ เพื่อต่อต้านแผนการขึ้นราคาเชื้อเพลิงในวันขึ้นปีใหม่ ได้โหมฮืออย่างรวดเร็วน่าตื่นใจในวันพุธ (5) เมื่อพวกผู้ประท้วงบุกจู่โจมและจุดไฟเผาอาคารสาธารณะแห่งต่างๆ ในอัลมาตี ตลอดจนเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ พวกเขาพากันตะโกนคำขวัญต่อต้านนาซาร์บาเยฟ และมีอย่างน้อยที่สุดกรณีหนึ่งที่พวกเขากลุ่มหนึ่งพยายามใช้เชือกคล้องรอบๆ รูปปั้นทำด้วยบรอนซ์ของอดีตผู้นำผู้นี้ และพยายามดึงให้มันล้มลงมา

แรกๆ ทีเดียว โตกาเยฟตอบสนองด้วยการปลดคณะรัฐมนตรีของเขาทั้งคณะ ยกเลิกคำสั่งขึ้นราคาเชื้อเพลิง และพยายามวางตัวเองออกห่างจากอดีตประธานาธิบดี รวมทั้งยังปลดนาซาร์บาเยฟออกจากตำแหน่งผู้นำของสภาความมั่นคงที่ทรงอำนาจมาก โดยที่ตัวเขาเองเข้าครองเก้าอี้แทน จากนั้นก็แต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ และปลดหลานชายของ นาซาร์บาเยฟ ออกจากตำแหน่งผู้นำเบอร์ 2 ของคณะกรรมาธิการดังกล่าวด้วย

แต่เมื่อการกระทำเหล่านี้ล้มเหลวไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ฝูงชน ซึ่งพากันกล่าวหาว่าครอบครัวของนาซาร์บาเยฟ และพันธมิตรกอบโกยความมั่งคั่งของชาติที่มาจากน้ำมันและแร่ธาตุต่างๆ ไปอย่างมหาศาล ขณะที่ประเทศซึ่งมีประชากร 19 ล้านคนยังคงลำบากยากจน โตกาเยฟก็ขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย

(ที่มา : รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น