จอห์นสัน แถลงยอมรับเป็นครั้งแรกต่อที่ประชุมสภาสามัญชน (สภาผู้แทนราษฎร) ของอังกฤษ เมื่อวันพุธ (12 ม.ค.) ว่า ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่จัดขึ้นในสวนของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเป็นทั้งที่พักและสำนักงานนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2020 ขณะที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์และกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด พร้อมกับระบุว่า เข้าใจดีที่ประชาชนโกรธเกรี้ยวไม่พอใจตนอย่างรุนแรง
เขายังบอกอีกว่า เสียใจกับการกระทำดังกล่าว แต่ตอนนั้นคิดว่าเป็นการไปร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เพราะเขาลงไปที่สวนหลัง 6 โมงเย็นเพื่อขอบคุณเจ้าหน้าที่และอยู่ในปาร์ตี้เพียง 25 นาทีก่อนกลับไปทำงานต่อ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป เขาคิดว่า ควรบอกให้ทุกคนกลับเข้าไปทำงาน
คำแก้ต่างของจอห์นสัน เรียกเสียงโห่ฮาจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านในสภา โดยผู้นำพรรคฝ่ายค้านหลักทุกคนต่างเรียกร้องให้เขาลาออก นอกจากนั้น ดักกลาส รอสส์ ผู้นำของพรรคอนุรักษนิยมในสกอตแลนด์ และเป็นสมาชิกชั้นนำคนแรกในพรรครัฐบาลที่กล่าวไม่อ้อมค้อมว่า จอห์นสันควรลาออกทันที ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีอาวุโสบางคนยังโพสต์สนับสนุนจอห์นสันบนโซเชียลมีเดีย
สกายนิวส์รายงานว่า รอสส์เตรียมยื่นหนังสือไม่ไว้วางใจจอห์นสันเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ตามระเบียบของพรรคอนุรักษนิยม ต้องมีสมาชิกพรรคที่อยู่ในรัฐสภาอย่างน้อย 54 คน จากทั้งหมด 360 คนในเวลานี้ ยื่นหนังสือแสดความไม่ไว้วางใจต่อประธาน “คณะกรรมาธิการ 1922” ของพรรค เพื่อให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจหัวหน้าพรรค
ด้าน เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำของพรรคแรงงาน ที่เป็นฝ่ายค้านสำคัญ กล่าวว่า ประชาชนซึ่งส่งให้จอห์นสันกวาดชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2019 จากคำสัญญาในการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปนั้น ตอนนี้ต่างคิดว่า จอห์นสันเป็นจอมหลอกลวง
ทั้งนี้ คนอังกฤษพากันเดือดดาลหลังจากไอทีวี นิวส์รายงานว่า จอห์นสัน และแครี่ ภรรยาของเขาไปร่วมสังสรรค์กับเจ้าหน้าที่ 40 คนในสวนของดาวนิ่งสตรีท หลังจาก มาร์ติน เรย์โนลด์ เลขานุการส่วนตัวของจอห์นสัน ส่งคำเชิญทางอีเมลขอให้ผู้ร่วมงาน “นำเหล้ามาเอง” ขณะที่เลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์อ้างว่า นายกรัฐนตรีไม่เห็นอีเมลดังกล่าว
ประชาชนจำนวนมาก รวมถึงสมาชิกรัฐสภาบางคนวิจารณ์ว่า กฎล็อกดาวน์ของรัฐบาลทำให้พวกเขาไม่สามารถไปเยี่ยมสมาชิกครอบครัวที่กำลังจะเสียชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบรรยากาศในดาวนิ่งสตรีทเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมปีที่แล้ว
ชาวอังกฤษคนหนึ่งโจมตีว่า จอห์นสันเสียสิทธิทางศีลธรรมในการเป็นผู้นำประเทศแล้ว เนื่องจากผู้มีสิทธิออกเสียงไม่เชื่ออีกต่อไปว่า คนที่ปกครองประเทศจะพูดความจริง
ชายหนุ่มอีกคนสำทับว่า ปฏิกิริยาความเคืองแค้นสะท้อนค่านิยมที่เป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษที่เชื่อในความยุติธรรม และไม่ยอมรับการใช้สองมาตรฐานโดยเด็ดขาด
สมาชิกบางคนในพรรคอนุรักษนิยมของจอห์นสัน บอกว่า คำตอบของนายกรัฐมนตรีในวันพุธต่อความโกรธเคืองที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนจะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเขา
ขณะที่แอนดรูว์ กิมสัน ผู้เขียนชีวประวัติจอห์นสัน ฟันธงว่า จอห์นสันไม่ใช่คนประเภทที่จะยอมลาออกง่ายๆ เว้นแต่ถูกสภาบีบออกเท่านั้น
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)