xs
xsm
sm
md
lg

Explainer เกิดอะไรขึ้นใน ‘คาซัคสถาน’ จากประเทศที่ดูดีมีเสถียรภาพสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพภายในห้างขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในเมืองอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน ซึ่งถูกปล้นชิง ระหว่างการประท้วงที่มีชนวนเหตุจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิงของทางการ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (ภาพถ่ายในวันอาทิตย์ 9 ม.ค.)
มีคนตายไปแล้วหลายสิบชีวิต และอีกหลายพันคนถูกจับกุมคุมขังที่คาซัคสถานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างเกิดความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในชาติเอเชียกลางแห่งนี้ นับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเมื่อช่วงทศวรรษ 1990

กองกำลังความมั่นคงทำท่าสามารถทวงยึดท้องถนนสายต่างๆ ของเมืองสำคัญที่สุดของประเทศกลับคืนไปได้ตั้งแต่วันศุกร์ (7 ม.ค.) หนึ่งวันภายหลังที่ทหารพลร่มรัสเซียเดินทางไปถึงเพื่อช่วยปราบปรามสิ่งที่บางฝ่ายเรียกว่าเป็น “การลุกฮือ” ขณะที่บางฝ่ายบอกว่าเป็น “การก่อจลาจล”

เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น ลองมาดูภาพรวมอย่างย่อๆ เกี่ยวกับคาซัคสถาน ระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองของประเทศนี้

คาซัคสถานตั้งอยู่ตรงไหน และทำไมประเทศนี้จึงถูกมองว่ามีความสำคัญ?

คาซัคสถาน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียและจีน รวมทั้งยังมีพรมแดนร่วมกับอดีตสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตอีก 3 แห่ง คือชาติที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง โดยที่มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งพวกไฮโดรคาร์บอน อย่างน้ำมันปิโตรเลียม และสินแร่โลหะหลากชนิดอย่างอุดมสมบูรณ์ ประเทศนี้จึงสามารถดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศเป็นจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ที่เป็นเอกราชในปี 1991

มองในทางยุทธศาสตร์ คาซัคสถานคือจุดเชื่อมตลาดอันใหญ่โตและขยายตัวรวดเร็วของจีนและเอเชียใต้ เข้ากับตลาดของรัสเซียและยุโรป ทั้งโดยทางถนน ทางรถไฟ รวมทั้งโดยผ่านท่าเรือแห่งหนึ่งในทะเลแคสเปียน ประเทศนี้พูดถึงตัวเองว่าเป็น “หัวเข็มขัด” ที่โดดเด่นในโครงการการค้า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” อันมหึมาของจีน

คาซัคสถานยังเป็นผู้ผลิตแร่ยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยที่ความไม่สงบในสัปดาห์ที่แล้วส่งผลทำให้ราคาโลหะที่เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชนิดนี้พุ่งขึ้นไป 8% นอกจากนั้น ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก โดยผลิตได้ประมาณ 85.7 ล้านตันในปี 2021 และเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับ 10 ของโลก

ไม่เพียงเท่านั้น คาซัคสถานคือประเทศที่มีการขุดเหมืองบิตคอยน์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของพื้นพิภพ ตามหลังสหรัฐอเมริกาเท่านั้น “แฮชเรต” (hashrate) ของบิตคอยน์ ซึ่งเป็นมาตรวัดกำลังของพวกเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อสายเข้าไปในเครือข่ายของบิตคอยน์ ลดฮวบลงไปกว่า 10% ทีเดียว หลังจากคาซัคสถานปิดอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ ทั้งนี้ ตามข้อมูลของบริษัทำเหมืองคริปโต BTC.com

อาคารสาขาแห่งหนึ่งในเมืองอัลมาตี ของธนาคาร ฮาลิค แบงก์ ซึ่งถูกเผาวอด ในช่วงการประท้วงที่กลายเป็นการก่อเหตุรุนแรง (ภาพถ่ายในวันอาทิตย์ 9 ม.ค.)
ทำไมผู้คนจึงเดือดดาลถึงขั้น “ลุกฮือ” หรือ “ก่อจลาจล”?

“การลุกฮือ” หรือ “จลาจล” คราวนี้ เริ่มต้นขึ้นในลักษณะเป็นการประท้วงของผู้คนทางภาคตะวันตกที่ร่ำรวยด้วยน้ำมันของประเทศ เพื่อคัดค้านเรื่องที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการควบคุมราคาสูงสุดของก๊าซบิวเทนและก๊าซโพรเพน ซึ่งมักเรียกขานกันว่า “เชื้อเพลิงเพื่อการสัญจรตามท้องถนนของคนจน” สืบเนื่องจากมันมีราคาถูก ทั้งนี้ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคมเป็นต้นไป

การปฏิรูปครั้งนี้ซึ่งมุ่งหมายที่จะผ่อนคลายภาวะขาดแคลนน้ำมัน กลับส่งผลในทางลบอย่างรวดเร็วเมื่อราคาของเชื้อเพลิงพุ่งขึ้นไปกว่าเท่าตัว การประท้วงยิ่งแพร่ขยายออกไปเรื่อยๆ โดยอาศัยความรู้สึกไม่พอใจในหมู่ประชาชนวงกว้างอยู่แล้ว ทั้งจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเรื้อรังในภาครัฐ ความไม่เสมอภาคทางรายได้ และภาวะลำบากเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกจากวิกฤตโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ถึงแม้เป็นชาติร่ำรวยที่สุดในเอเชียกลางเมื่อวัดจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร ทว่าครึ่งหนึ่งของผู้คนในคาซัคสถาน - ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก - ยังคงพำนักในเขตชนบท โดยบ่อยครั้งทีเดียวอยู่กันตามชุมชนที่โดดเดี่ยวห่างไกล และเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ด้วยความยากลำบาก

ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลของประเทศทำให้พวกชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ร่ำรวยขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ ชาวคาซัคสามัญชนจำนวนมากกลับรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ประมาณการกันว่าประชาชนราว 1 ล้านคนจากประชากรทั้งสิ้น 19 ล้านคน มีระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าเส้นยากจน

อัตราเงินเฟ้อเวลานี้ทะยานขึ้นไปอยู่ที่เกือบๆ 9% ต่อปี สูงที่สุดในรอบระยะเวลากว่า 5 ปี และเร่งให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 9.75%

ใครคือผู้รับผิดชอบบริหารประเทศเวลานี้?

คัสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ วัย 68 ปี ที่ภูมิหลังพื้นเพเป็นนักการทูตมืออาชีพ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2019 โดยให้สัญญาจะสืบต่อพวกนโยบายโปรธุรกิจอย่างเต็มที่ของ นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนก่อนซึ่งครองอำนาจในคาซัคสถานมายาวนาน แต่ นาซาร์บาเยฟ ที่เคยเป็นสมาชิกกรมการเมืองในยุคสหภาพโซเวียต และเป็นผู้นำของคาซัคสถานมาเกือบๆ 30 ปี ยังคงถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าคือผู้กุมอำนาจตัวจริงอยู่เบื้องหลัง

โตยาเยฟ อาศัยการประท้วงระลอกนี้ - ซึ่งในบางที่บางแห่งพุ่งเป้าหมายเล่นงานสัญลักษณ์ต่างๆ ของยุคนาซาร์บาเยฟ รวมทั้งรูปปั้นของเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่ตามที่สาธารณะหลายแห่ง - มาปลดอดีตประธานาธิบดีวัย 81 ปีผู้นี้ ออกจากตำแหน่งสำคัญที่ยังเหลืออยู่ของเขา นั่นคือประธานของสภาความมั่นคงซึ่งมีอำนาจมาก

ตั้งแต่การประท้วงปะทุขึ้นมา นาซาร์บาเยเฟยังไม่เคยปรากฏตัวหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชนเลย และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการลุกฮือหรือการจลาจลครั้งนี้จะบั่นทอนอิทธิพลบารมีอันเอกอุของเขาลงไปแค่ไหน ทั้งนี้เขาและครอบครัวยังคงมีบทบาทอย่างมากทั้งในวงการเมืองและวงการธุรกิจ

โตกาเยฟ ยังปลดหลานชายของนาซาร์เยฟ ที่ชื่อ ซามัต อาบิช ออกจากตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเบอร์ 2 ของกองกำลังความมั่นคง อนึ่ง ดาริกา ลูกสาวคนโตของ นาซาร์บาเยฟ ซึ่งเคยเป็นประธานของวุฒิสภา และปัจจุบันก็ยังคงมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอยู่ ในอดีตที่ผ่านมาเคยได้รับการจับตามองว่าเป็นไปได้ที่เธอจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในอนาคต

รถโดยสารที่ถูกเผาในเมืองอัลมาตี ระหว่างการประท้วง (ภาพถ่ายในวันอาทิตย์ 9 ม.ค.)
ลู่ทางอนาคตทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของคาซัคสถานในปี 2020 อยู่ที่ 9,122 ดอลลาร์ สูงกว่าของ ตุรกี และ เม็กซิโก เล็กน้อย แต่ยังคงต่ำลงมาเยอะจากระดับที่ประเทศนี้เคยขึ้นไปจุดสูงสุดที่เกือบๆ แตะ 14,000 ดอลลาร์เมื่อปี 2013

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลโตกาเยฟ ออกแพกเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าเท่ากับ 6% ของจีดีพีของประเทศ เพื่อช่วยเหลือพวกธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถผ่านพ้นโรคระบาดใหญ่โควิด-19

ขณะที่ธนาคารโลกทำนายว่า อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของคาซัคสถานในปี 2021 อยู่ที่ 3.5% และจะขยับขึ้นเป็น 3.7% ในปีนี้ และขึ้นไปที่ 4.8% ในปี 2023 เวิลด์แบงก์เสนอให้ คาซัคสถาน ออกมาตรการที่เพิ่มการแข่งขันภายในประเทศ และจำกัดบทบาทของพวกรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ในระบบเศรษฐกิจ แก้ไขความไม่เสมอภาคทางสังคม และสร้างสนามแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ให้ความเท่าเทียมแก่คู่แข่งขันต่างๆ มากยิ่งขึ้น

สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ

พวกประเทศตะวันตกและกลุ่มสิทธิต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์คาซัคสถานมานานแล้วในประเด็นที่ว่า มีระบบการเมืองแบบเผด็จการรวบอำนาจ ไม่อดทนอดกลั้นต่อผู้ที่เห็นต่างจากทางการ ลดทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และขาดไร้การเลือกตั้งที่มีความเสรีและยุติธรรม ถึงแม้ในเวลาเดียวกันนั้นก็มองเห็นด้วยว่า คาซัคสถานมีการกดขี่น้อยกว่า และแปรปรวนผันผวนต่ำกว่าพวกเพื่อนบ้านที่เป็นอดีตสาธารณรัฐในโซเวียตด้วยกัน

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) แถลงว่า การประท้วงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่พวกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ “กดขี่ปราบปรามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวาง” พร้อมกับเรียกร้องให้คาซัคสถานปลดปล่อยพวกที่ถูกจับกุมคุมขังตามอำเภอใจทั้งหมด และให้สอบสวนพฤติกรรมล่วงละเมิดของรัฐซึ่งเกิดขึ้นมาในอดีต

ขณะที่รัฐบาลคาซัคสถานและรัสเซียกล่าวหาว่า การก่อความรุนแรงครั้งนี้เป็นฝีมือของ “ผู้ก่อการร้าย” โจรติดอาวุธที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีทั้งในประเทศและนอกประเทศ

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น