ประธานาธิบดีมุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้มีคำสั่งอภัยโทษให้แก่อดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ซึ่งต้องโทษจำคุกกว่า 20 ปีในคดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยระบุว่า เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ
กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ระบุในคำแถลงวันนี้ (24 ธ.ค.) ว่า พัค วัย 69 ปี อยู่ในกลุ่มนักโทษ 3,094 คน ที่จะได้รับการอภัยโทษ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธ.ค. โดยการอภัยโทษให้แก่อดีตผู้นำหญิงรายนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้สังคมก้าวข้ามความขัดแย้งเดิมๆ และเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ภายในชาติ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“เราควรที่จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการละทิ้งความเจ็บปวดในอดีต ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจับมือและร่วมแรงร่วมใจกันเพื่ออนาคต มากกว่าจะมาต่อสู้กันเองและยึดติดกับอดีต” ประธานาธิบดีมุน แจอิน ระบุในคำแถลง
“ในกรณีของอดีตประธานาธิบดีพัค เราเห็นว่าสุขภาพของเธอย่ำแย่ลงมาก หลังจากที่รับโทษจำคุกมาแล้วเกือบ 5 ปี”
พัค ถูกตำรวจจับกุมและส่งตัวเข้าเรือนจำในปี 2017 หลังจากรัฐสภาลงมติถอดถอนเธอในความผิดฐานรับสินบนและใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้ชาวเกาหลีใต้นับล้านๆ ออกมาชุมนุมขับไล่ นับเป็นความตกต่ำอย่างเหลือเชื่อสำหรับสตรีที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้เมื่อปี 2013
เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดเกาหลีใต้พิพากษายืนโทษจำคุก พัค เป็นเวลา 20 ปี และเมื่อรวมกับความผิดฐานละเมิดกฎหมายเลือกตั้งเมื่อปี 2016 จะทำให้อดีตผู้นำหญิงต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปี
พัค อ้างว่าตัวเธอเองเป็น “เหยื่อ” การแก้แค้นทางการเมือง และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวนคดีในศาลตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 2017
พัค ซึ่งเป็นบุตรสาวของอดีตผู้นำเผด็จการ พัค จุงฮี เคยชนะศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2012 ด้วยคะแนนโหวตสูงยิ่งกว่าผู้สมัครคนใดๆ ในยุคประชาธิปไตย ทว่า บุคลิกที่เย็นชาและข่าวลืออื้อฉาวเกี่ยวกับตัวเธอ บวกกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คะแนนนิยมของเธอลดฮวบในช่วงปีหลังๆ
การที่ พัค ทำผิดกฎหมายโดยการอนุญาตให้ “ชอย ซุนซิล” เพื่อนหญิงคนสนิทเข้ามาก้าวก่ายการบริหารประเทศ ฝ่าฝืนระเบียบราชการ และเรียกรับเงินสินบนหลายล้านดอลลาร์จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ๆ รวมถึง “ซัมซุง” กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนเกาหลีใต้นับล้านตัดสินใจออกมาขับไล่ผู้นำหญิงรายนี้
พัค ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนในเดือน ธ.ค. ปี 2016 และพ้นจากตำแหน่งอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินรับรองมติของรัฐสภาในเดือน มี.ค. ปี 2017
ที่มา : AP, AFP