เอกสารก่อนตีพิมพ์ใหม่ 2 ฉบับ เพิ่มเติมหลักฐานชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจก่ออาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงเท่าตัวกลายพันธุ์เดลตา และก่อความเสี่ยงน้อยกว่าสำหรับติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ผลการศึกษาหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันพุธ (22 ธ.ค.) ในฐานะเอกสารการศึกษาทางวิชาการ (Working Paper) ของบรรดานักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ในสหราชอาณาจักร ระบุจากการศึกษาวิจัยในสกอตแลนด์ พบว่า โอมิครอนก่อความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดลงจากตัวกลายพันธุ์เดลตาถึง 2 ใน 3
ส่วนเอกสารอีกฉบับที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ medrxiv.org เมื่อวันอังคาร (21 ธ.ค.) บ่งชี้ว่าคนที่ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนมีความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่ำกว่าการติดเชื้อเดลตาถึง 80% แต่ครั้งที่คนไข้รายหนึ่งๆ ถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว ความเสี่ยงอาการรุนแรงนั้นไม่ต่างกัน จากผลการศึกษาวิจัยในแอฟริกาใต้
ทั้ง 2 การศึกษาวิจัยยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น และยังไม่ผ่านการตรวจสอบทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์
ผลการศึกษาในสกอตแลนด์ ประกอบด้วยข้อมูลของเคสผู้ติดเชื้อโอมิครอน 23,840 ราย และเคสผู้ติดเชื้อเดลตา 126,511 คน ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 19 ธันวาคม โดยพวกนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์และสำนักงานสาธารณสุขสกอตแลนด์ จับตาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางสุขภาพของบรรดาผู้ติดเชื้อโอมิครอนเปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อเดลตา ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อโอมิครอนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 15 ราย ส่วนติดเชื้อเดลตา เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 856 คน
"แม้จำนวนเคสผู้ติดเชื้อเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ผลการศึกษาถือว่าเป็นข่าวดี จำนวนคนหนุ่มสาวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลงถึง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์เดลตา มันบ่งชี้ว่าโอมิครอนก่ออาการเบากว่าสำหรับคนมากมาย" เจมส์ ไนสมิท ผู้อำนวยการสถาบันโรซาลินด์ แฟรงคลิน และศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าว
"ผลการศึกษานี้มีความแม่นยำ แต่ยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น (เนื่องจากมันอาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีข้อมูลและผลการศึกษาต่างๆรายงานเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า) ดังนั้น จึงควรเน้นย้ำว่านักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้บางส่วนบอกว่าโอมิครอนก่ออาการเบากว่าในบางครั้ง" เขากล่าว "แม้ลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 2 ใน 3 ถือว่ามาก แต่โอมิครอนยังสามารถก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงในคนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เพราะฉะนั้นหากโอมิครอนยังคงเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงเวลาไม่กี่วัน มันอาจทำให้มีประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากมายมากกว่าเดลตา"
งานวิจัยพบว่า เคสโอมิครอนมีความเป็นไปได้ที่จะก่อการติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน มากกว่าคนที่ติดเชื้อเดลตา ถึง 10 เท่า ข้อมูลยังเผยอีกว่า การรับวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโอมิครอนแบบแสดงอาการถึง 57% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาหลังฉีดเข็ม 2 มาอย่างต่ำ 25 สัปดาห์
"ข้อมูลระดับชาติเบื้องต้นเหล่านี้บ่งชี้ว่า โอมิครอนก่อความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับเดลตา นอกเหนือจากมอบประสิทธิภาพการป้องกันเดลตาที่ยอดเยี่ยมแล้ว วัคซีนเข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นยังช่วยมอบประสิทธิภาพการป้องกันเพิ่มเติมอย่างมากมายต่อความเสี่ยงติดเชื้อโอมิครอนแบบแสดงอาการ" พวกนักวิจัยระบุในเอกสาร
ส่วนเอกสารอีกฉบับเกี่ยวข้องข้อมูลเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 161,328 รายทั่วแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคมถึง 6 ธันวาคม ซึ่งพวกนักวิจัยจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ มหาวิทยาวิทวอเตอร์สแรนด์และมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ พบว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อโอมิครอน มีที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.5% ในช่วงเวลาดังกล่าว ผิดกับผู้ติดเชื้อเดลตา ซึ่งมีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วน 12.8%
ในข้อมูลเบื้องต้นอีกชุดจากสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนมีความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษ ลดลงพอสมควรเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา ในรายงานฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์โดยคณะทำงานตอบสนองโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ในวันพุธ (22 ธ.ค.)
การศึกษานี้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลเคสผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการยืนยันผ่านการตรวจแบบ PCR ทุกรายในอังกฤษ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคมถึง 14 ธันวาคม ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกสำหรับโมเดลโรคติดเชื้อ ศูนย์วิเคราะห์โรคติดต่อระหว่างประเทศเอ็มอาร์ซี สถาบันจามัล และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ
ผลการศึกษาคาดหมายว่าความเสี่ยงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วันหรือนานกว่านั้น จากการติดเชื้อโอมิครอน ต่ำกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา ราวๆ 40% ถึง 45% "เราพบหลักฐานว่าโอมิครอนก่อความเสี่ยงน้อยลงต่อการติดเชื้อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อเดลตา ในค่าเฉลี่ยของเคสทั้หมดระหว่างช่วงเวลาของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้" รายงานเน้นย้ำ อย่างไรก็ตาม "การติดเชื้อจำนวนมากก็อาจนำมาซึ่งการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมากเช่นกัน"
ในผลการศึกษาเน้นย้ำด้วยว่า บุคคลที่ติดเชื้อโอมิครอน หลังจากเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว มีความเสี่ยงล้มป่วยอาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลลดลง 50% ถึง 60% เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้
รายงานเน้นอีกว่าความเสี่ยงติดเชื้อโอมิครอนและเดลตาถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ในระดับที่พอๆ กัน สำหรับบุคคลที่เคยมีผลตรวจออกมาเป็นบวกและบุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม สะท้อนว่าประสิทธิภาพของวัคซีนกับตัวกลายพันธุ์โอมิครอนนั้นลดลงเมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์เดลตา
"อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับคนฉีดวัคซีนแล้ว ถือว่าต่ำกว่าคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนเป็นอย่างมาก" รายงานระบุ
โดยรวมแล้ว "ผลการศึกษานี้ที่พบว่าการเคยติดเชื้อมาก่อนช่วยลดความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลราว 2 ใน 3 บ่งชี้ว่าโอมิครอนก่ออาการเบากว่าหากคุณมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง" ไนสมิท ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย แสดงความคิดเห็น
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)