xs
xsm
sm
md
lg

ใจชื้น! US-WHO ข้อมูลตรงกัน เคส 'โอมิครอน' เกือบทั้งหมดป่วยแค่เล็กน้อย ก่ออาการเบากว่าติดเชื้อ 'เดลตา'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานฉบับหนึ่งจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอนกลุ่มแรกๆ ในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดมีอาการเล็กน้อย ส่วนใหญ่แค่ไอหรือน้ำมูกไหล สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่บอกว่า แม้โอมิครอนจะแพร่เชื้อง่ายกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตา และลดประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ก่ออาการเบากว่า

การค้นพบของซีดีซีที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (10 ธ.ค.) มอบเบาะแสในเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ซึ่งเวลานี้พบแล้วอย่างน้อย 25 รัฐทั่วอเมริกา แม้พวกผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปอย่างชัดเจนว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของมันในประเทศแห่งนี้จะออกไปในทิศทางไหน

รายงาน 5 หน้าของซีดีซีเป็นการสังเกตอาการคนไข้ 43 รายในสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอมิครอน โดยมากกว่าครึ่งเป็นคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 18 ถึง 39 ปี และในนั้นมีที่ป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงคนเดียว

ข้อมูลของซีดีซีระบุด้วยว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อนั้นมากกว่า 3 ใน 4 เป็นคนที่ฉีดวัคซีนครบเข็มแล้ว และในนั้น 1 ใน 3 ยังฉีดเข็มกระตุ้นแล้วด้วย นอกจากนี้แล้ว ยังมีอยู่ 6 รายเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และ 1 ใน 3 เร็วๆ นี้เคยเดินทางไปยังต่างประเทศ

ในรายงานระบุว่า อาการที่พบเห็นได้ทั่วไปคือไอ เหนื่อยล้า และคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล

มีคนไข้ที่ฉีดวัคซีนแล้วรายหนึ่งอาการหนักถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ใช้เวลาพักรักษาตัวเพียง 2 วัน และไม่มีรายงานการเสียชีวิต

การค้นพบนี้เป็นไปตามกรอบข้อมูลในเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ ซึ่งแพทย์บางส่วนระบุว่าตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้ดูเหมือนจะก่ออาการเบากว่าในคนไข้ที่ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ในรายงานได้มีคำเตือนบางอย่าง โดยซีดีซีชี้ว่า มันอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนอาการรุนแรงจะปรากฏขึ้นในบรรดาผู้ติดเชื้อบางคน แต่คาดการณ์ว่าบุคคลที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการเบากว่า เช่นเดียวกับบุคคลที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาก่อน

แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซีให้คำจำกัดความรายงานดังกล่าวว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" พร้อมระบุเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางจะเดินหน้าติดตามตัวกลายพันธุ์โอมิครอนอย่างใกล้ชิด ในขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปใดๆ

ข้อมูลของทางสหรัฐฯ สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ในวันอาทิตย์ (12 ธ.ค.) อ้างอิงข้อมูลในเบื้องต้น ระบุว่า ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าตัวกลายพันธุ์เดลตาและลดประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ก่ออาการไม่รุนแรงเท่า

ตัวกลายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อช่วงต้นปี อยู่เบื้องหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกือบทั้งหมดทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การค้นพบโอมิครอนของแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการกลายพันธุ์มากมายหลายตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ กำหนดคำสั่งห้ามด้านการเดินทางกับประเทศต่างๆ ในแถบตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และกลับมาบังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อชะลอการแพร่ระบาด

องค์การอนามัยโลกระบุว่า จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม โอมิครอนแพร่ระบาดไปแล้ว 63 ประเทศทั่วโลก และมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งในแอฟริกาใต้ ที่เดลตามีอัตราความชุกต่ำ และในสหราชอาณาจักร ดินแดนที่เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์หลัก

"หลักฐานในเบื้องต้นบ่งชี้ว่าโอมิครอนลดประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ" องค์การอนามัยโลกระบุในถ้อยแถลง "จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าโอมิครอนจะแซงหน้าตัวกลายพันธุ์เดลตา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในชุมชน"

จนถึงตอนนี้ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ก่ออาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นเคสที่ไม่แสดงอาการ แต่องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุปถึงความรุนแรงทางคลินิกของตัวกลายพันธุ์นี้

(ที่มา : เอ็นบีซี/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น