ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เผยรัสเซียคือผู้นำโลกในด้านระบบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก และกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ จะไล่ตามทัน รัสเซียก็น่าจะคิดค้นเทคโนโลยีที่สามารถต่อต้านอาวุธประเภทนี้ได้แล้ว
ในช่วงหนึ่งของสารคดี “รัสเซีย ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” (Russia. New History) ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมื่อวันอาทิตย์ (12 ธ.ค.) ปูติน ยอมรับว่ารัสเซียกับสหรัฐฯ อาจจะเรียกได้ว่า “สูสี” กันในแง่ของจำนวนหัวรบและจรวดขับเคลื่อน “แต่ในแง่ของความก้าวหน้าในการพัฒนา เราคือผู้นำอย่างแน่นอน”
ปูติน ย้ำว่า รัสเซียคือมหาอำนาจ “เบอร์หนึ่ง” ที่มีความก้าวหน้าในการอัปเกรดอาวุธแบบดั้งเดิมมากที่สุด และตนเชื่อว่าในอนาคตบรรดาชาติมหาอำนาจทั่วโลกจะสามารถคิดค้นและครอบครองขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกได้เช่นกัน
“แต่กว่าที่พวกเขาจะมีอาวุธประเภทนี้ รัสเซียก็อาจจะมีเทคโลยีที่สามารถต่อต้านมันได้แล้ว” ปูติน กล่าว
ผู้นำหมีขาวเผยด้วยว่า การทดสอบระบบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก “เซอร์คอน” (Zircon) ใกล้เสร็จสมบูรณ์ และคาดว่าจะเริ่มส่งมอบเข้าประจำการในกองทัพเรือได้ภายในปี 2022
ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกบางคนยังตั้งคำถามว่าระบบอาวุธรุ่นใหม่ของรัสเซียนั้นก้าวล้ำไปถึงขั้นไหนแล้ว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ศักยภาพด้านความเร็ว (speed) การเปลี่ยนทิศทาง (maneuverability) และระดับความสูงในการบิน (altitude) ของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ทำให้ยากแก่การติดตามหรือยิงสกัดกั้นได้
ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกถูกออกแบบให้สามารถเดินทางในบรรยากาศชั้นสูงด้วยความเร็วเหนือเสียงเกินกว่า 5 เท่าขึ้นไป (Mach 5) หรือประมาณ 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งแม้จะยังช้ากว่าขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) แต่ด้วยรูปร่างของยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (HGV) ทำให้สามารถเปลี่ยนทิศทางสู่เป้าหมายและหลีกเลี่ยงระบบป้องกันของศัตรูได้
งบประมาณด้านการทหารของรัสเซียนั้นยังต่ำกว่าของสหรัฐฯ มาก โดยตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า รัสเซียใช้งบด้านการทหารไปราวๆ 62,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้ไป 778,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเดือน ต.ค. พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ยืนยันว่าจีนได้มีการทดสอบระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่สามารถโคจรรอบโลก และถูกออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงระบบป้องกันขีปนาวุธของอเมริกา ขณะที่ แฟรงค์ เคนดัลล์ รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศของสหรัฐฯ ก็ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐฯ และจีนกำลังแข่งกันพัฒนาระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุด
ปูติน ยังเปิดใจผ่านสารคดีชุดนี้ว่ารู้สึกเจ็บปวดกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ซึ่งถือเป็นการสูญสลายของ “ประวัติศาสตร์รัสเซีย” และยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมานั้นรุนแรงจนกระทั่งตนเองต้องหันไปทำงาน “ขับแท็กซี่” เพื่อหารายได้เสริม
ที่มา : รอยเตอร์