xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ ขู่คว่ำบาตรเศรษฐกิจหากรัสเซียยกทัพบุกยูเครน ขณะ ‘ปูติน’ เรียกร้องไม่ให้นาโต้ขยายเข้ามาติดชายแดนหมีขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การประชุมซัมมิตเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันอังคาร (7 ธ.ค.)  ในภาพนี้ซึ่งเผยแพร่โดยทำเนียบขาว จะเห็น ไบเดน เข้าประชุมโดยระดมพวกผู้ช่วยของเขามานั่งอยู่ด้วย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เตือนประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันอังคาร (7 ธ.ค.) ว่า ฝ่ายตะวันตกจะบังคับใช้ “มาตรการแรงๆ ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ” ต่อรัสเซีย หากมอสโกรุกรานยูเครน ขณะที่ผู้นำหมีขาวเรียกร้องการค้ำประกันว่าองค์การนาโต้จะต้องไม่ขยายตัวไปทางตะวันออกเพิ่มเติมกว่านี้อีก รวมทั้งไม่ติดตั้งระบบอาวุธโจมตีแบบรุกในประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ติดกับรัสเซีย

ผู้นำทั้งสองเจรจากันผ่านทางวิดีโอคอลล์เป็นเวลาราว 2 ชั่วโมงคราวนี้ โดยพูดกันทั้งเรื่องยูเครนและข้อพิพาทอื่นๆ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยที่สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียชุมนุมกำลังทหารหลายหมื่นคนในบริเวณชายแดนติดต่อกับยูเครน

ด้านปูติน ตอบโต้คำเตือนด้วยการเรียกร้องกลับ ให้สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกดำเนินการค้ำประกันที่ไว้วางใจได้และมีผลผูกพันทางกฎหมาย ว่านาโต้จะไม่ขยายตัวต่อไปทางตะวันออก นอกจากนั้น ผู้นำหมีขาวยังร้องโวยเรื่องที่นาโต้พยายาม “พัฒนา” ดินแดนของยูเครน ทั้งนี้ ตามคำแถลงของทางวังเครมลิน

ขณะที่ทำเนียบขาวยืนยันว่า ไบเดนไม่ได้ให้การค้ำประกันใดๆ ที่เป็นการจำกัดการขยายตัวของนาโต้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยูเครน

“ผมจะขอบอกพวกคุณอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า เขา (ไบเดน) ไม่ได้ให้คำมั่นผูกพันหรือการอ่อนข้อใดๆ ในลักษณะดังกล่าว เขายึดมั่นอยู่กับข้อวินิจฉัยที่ว่า ประเทศต่างๆ ควรจะสามารถเลือกได้อย่างเสรีว่าพวกเขาจะคบค้าสมาคมกับใครบ้าง” เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน แถลงกับพวกผู้สื่อข่าว

แต่ถึงไม่มีรายงานว่ามีการทำความตกลงกันชนิดที่เป็นการผ่าทางตันใดๆ กระนั้นทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องกันที่จะติดต่อสื่อสารกันต่อไป ซึ่งก็ถือเป็นพัฒนาการที่อาจลดความตึงเครียดในทั่วโลกให้ต่ำลงมา

ฝ่ายวังเครมลินปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้าโจมตียูเครน และระบุว่า การชุมนุมทหารในบริเวณภาคใต้ของรัสเซียที่ติดต่อกับยูเครนอยู่ในลักษณะการมุ่งป้องกันตัว ทว่าพวกชาติเพื่อนบ้านต่างพากันแสดงความระแวงเตือนภัย

ระหว่างการเจรจาเสมือนจริงครั้งนี้ ไบเดนเตือนปูตินว่าเขาอาจจะเผชิญกับการถูกแซงก์ชันทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด รวมทั้งสายท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 2” จากรัสเซียถึงเยอรมนีก็จะประสบความติดขัด นอกจากนั้นสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรในยุโรปยังจะจัดหาสมรรถนะทางทหารเพื่อการป้องกันมาเพิ่มเติมให้แก่ยูเครน

ประธานาธิบดีไบเดน “พูดอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ กับเหล่าพันธมิตรของตนจะตอบโต้ด้วยมาตรการแรงๆ ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ในกรณีที่มีการบานปลายขยายตัวทางการทหาร” ทำเนียบขาวระบุเช่นนี้ในคำแถลง

ส่วนซุลลิแวน สำทับว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราไม่ได้ทำเมื่อปี 2014 เราก็เตรียมที่จะนำมาทำกันในตอนนี้” ทั้งนี้เป็นการอ้างอิงถึงปฏิกิริยาของฝ่ายตะวันตกต่อการที่รัสเซียเข้ายึดเอาแหลมไครเมียจากยูเครน มาผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

ในกรณีที่เกิดการโจมตีขึ้นมา แล้วเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในแถบบอลติกเรียกร้องขอ “สมรรถนะ” ของสหรัฐฯ หรือ “การเคลื่อนกำลังทหาร” ของสหรัฐฯ เป็นการเพิ่มเติมแล้ว สหรัฐฯ ก็พร้อมแล้วที่จะพิจารณาตอบสนองในทางบวก ซุลลิแวนบอก

ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังอาจพุ่งเป้าเล่นงานพวกธนาคารขนาดใหญ่ๆ ของรัสเซีย ตลอดจนเล่นงานความสามารถของมอสโกในการแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลให้เป็นดอลลาร์ตลอดจนสกุลเงินตราอื่นๆ

ภาพจากทางฝ่ายรัสเซีย จะเห็น ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เข้าประชุมซัมมิตเสมือนจริงครั้งนี้เพียงคนเดียว
สำหรับฝ่ายวังเครมลินระบุว่า ระหว่างการหารือ ปูตินบอกกับไบเดนว่าเป็นเรื่องผิดพลาดที่จะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดเกี่ยวกับความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้มาให้รัสเซีย

นอกเหนือจากเรียกร้องการค้ำประกันว่านาโต้จะไม่ขยายตัวทางตะวันออกต่อไปแล้ว วังเครมลินบอกว่า ปูตินยังเรียกร้องให้มีการค้ำประกันว่า สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกจะไม่นำเอาระบบอาวุธที่ใช้ในการโจมตีแบบเป็นฝ่ายรุกใดๆ เข้าไปติดตั้งประจำการในประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ประชดติดกับรัสเซีย

มอสโกนั้นแสดงความขุ่นเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องที่องค์การนาโต้ขยายตัวคืบคลานเข้าประชิดพรมแดนรัสเซียโดยตลอด และเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ซึ่งเคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียต แต่หันมาฝักใฝ่ฝ่ายตะวันตกตั้งแต่เกิดการลุกฮือก่อกบฏของประชาชนจนโค่นล้มประธานาธิบดีที่นิยมรัสเซียลงจากอำนาจเมื่อปี 2014 ท่ามกลางการกล่าวหาของมอสโกว่าการลุกฮือดังกล่าวได้รับการหนุนหลังอย่างโจ๋งครึ่มจากวอชิงตัน

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น