xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘ไบเดน’ เตือน ‘ปูติน’ ระวังเจอคว่ำบาตรหนัก ยันสหรัฐฯ ไม่อยู่เฉยหากรัสเซียบุก ‘ยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ร่วมประชุมซัมมิตทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอลล์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่ห้อง Situation Room ภายในทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.
การประชุมสุดยอดผ่านระบบวิดีโอคอลล์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียในสัปดาห์นี้สะท้อนบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ยังคงอึมครึม โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวเตือนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียว่า โลกตะวันตกอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงและบทลงโทษอื่นๆ หากมอสโกส่งทหารรุกราน “ยูเครน” ในขณะที่ ปูติน ก็ขอการการันตีว่านาโตจะไม่ขยายขอบเขตปฏิบัติการทางทหารไปทางทิศตะวันออกมากไปกว่านี้

การหารือเสมือนจริงระหว่างไบเดน และปูติน มีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียที่ตกต่ำย่ำแย่ที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น และเวลานี้ก็มีทหารรัสเซียนับแสนนายเข้าไปตรึงกำลังอยู่ใกล้ชายแดนยูเครน

ปูติน เรียกร้องให้นาโตรับรอง “อย่างน่าเชื่อถือและมีผลผูกพันทางกฎหมาย” ว่าจะไม่ขยายปฏิบัติการไปทางตะวันออกเพิ่มเติม ทั้งยังตำหนิท่าทีของนาโตที่พยายามผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับยูเครนมากขึ้น ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า ไบเดน “ไม่ได้รับปากอะไร ปูติน ทั้งสิ้น” ว่าจะยอมจำกัดปฏิบัติการของนาโตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยูเครน

“ผมยืนยันได้ว่า ท่านไม่ได้รับปากหรือยอมอ่อนข้อใดๆ ทั้งสิ้น ท่านแสดงจุดยืนชัดเจนว่าทุกประเทศย่อมมีเสรีภาพที่จะเลือกว่าต้องการคบหาสมาคมกับใคร” ซัลลิแวน กล่าว

แม้ผลการประชุมคราวนี้จะไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็เห็นพ้องที่จะมีการพูดคุยกันต่อไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกที่น่าจะช่วยให้รัสเซีย-สหรัฐฯ คลายความตึงเครียดลงได้บ้าง

รัสเซียยืนยันว่าไม่ได้มีแผนโจมตียูเครน และการเสริมกำลังทหารที่ชายแดนตอนใต้ก็มีจุดประสงค์เพียงเพื่อ “ป้องกันตนเอง” ทว่าประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียดูเหมือนจะไม่คิดเช่นนั้น

ไบเดน เตือนผู้นำรัสเซียว่า การบุกยูเครนจะทำให้มอสโกถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โครงการวางท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซียไปยังยุโรปอาจจะไม่ราบรื่น และย้ำว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปพร้อมที่จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการป้องกันตนเองให้กับยูเครน

เมื่อครั้งที่รัสเซียยึดคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครนเมื่อปี 2014 ตอนนั้นสหรัฐฯ เน้นมอบความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธร้ายแรง (non-lethal) แก่ยูเครนเท่านั้น เพราะเกรงว่าสถานการณ์จะยิ่งลุกลามบานปลาย

“ท่านประธานาธิบดีเอ่ยอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรพร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ในกรณีที่มีการยกระดับปฏิบัติการทางทหาร” ทำเนียบขาวระบุ

ด้าน ซัลลิแวน เอ่ยสำทับว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราไม่ได้ทำเมื่อปี 2014 เราพร้อมจะทำในวันนี้” และในกรณีที่ยูเครนโดนโจมตี สหรัฐฯ ก็อาจยินดีตอบสนอง “หากชาติพันธมิตรในบอลติกเรียกร้องขอให้อเมริกาส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลเข้าไปช่วย”

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุว่า สหรัฐฯ อาจจะพุ่งเป้าเล่นงานสถาบันการเงินใหญ่ๆ ของรัสเซีย รวมถึงปิดกั้นศักยภาพของมอสโกในการแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลเป็นดอลลาร์หรือสกุลเงินอื่นๆ


- รัสเซียขอ ‘นาโต’ การันตีไม่รุกคืบตะวันออก

รัสเซียนั้นไม่พอใจที่ชาติตะวันตกให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครน อดีตรัฐโซเวียตที่มีความโน้มเอียงเข้าข้างตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมีจุดยืนโปรรัสเซียถูกโค่นอำนาจไปเมื่อปี 2014 รวมถึงการที่นาโตพยายาม “สยายอิทธิพล” เข้าไปประชิดติดพรมแดนรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรัสเซียแล้ว ความเป็นไปได้ที่ระบบขีปนาวุธนาโตจะเข้าไปติดตั้งอยู่ในยูเครน และเล็งเป้าหมายไปยังดินแดนของรัสเซีย ถือเป็นการกระทำ “ล้ำเส้น” ที่มอสโกไม่อาจยอมรับได้

“ดังนั้น รัสเซียจึงปรารถนาให้มีการการันตีที่น่าเชื่อถือและมีผลผูกพันทางกฎหมายว่า นาโตจะไม่ขยายปฏิบัติการไปทางตะวันออกอีก และจะไม่ติดตั้งระบบอาวุธโจมตีในประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย” ทำเนียบเครมลินแถลง

สถานีโทรทัศน์รัสเซียได้เผยภาพ ไบเดน และ ปูติน ทักทายกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มในช่วงต้นของการประชุม ขณะที่รัฐบาลทั้ง 2 ชาติแสดงความคาดหวังว่าผู้นำทั้งสองคงจะมีโอกาสได้จัดซัมมิตแบบ “ตัวต่อตัว” เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดจากข้อพิพาทหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาซีเรีย มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เรื่อยไปจนถึงกรณีที่บริษัทอเมริกันหลายแห่งตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์โดยแฮกเกอร์จากแดนหมีขาว

ระหว่างการหารือ ทั้ง ปูติน และ ไบเดน ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องพยายามอย่างหนักในการฟื้นสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติ และเดินหน้าความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงประเด็นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

ภายหลังการประชุมจบลง สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้เสนอร่างงบประมาณกลาโหมซึ่งจัดสรรงบอัดฉีดกองทัพยูเครนจำนวน 300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ยูเครนก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลเคียฟรู้สึกขอบคุณ ไบเดน ที่ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ตลอดมา

ไบเดน ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันพุธ (8) ว่า การส่งทหารอเมริกันเข้าไปยังยูเครนเพื่อป้องปรามการโจมตีของรัสเซียนั้น “ไม่อยู่ในการพิจารณา” และตนเชื่อว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ตนได้สาธยายไประหว่างการประชุมซัมมิตคงจะทำให้ ปูติน เข้าใจได้ดี

ผู้นำอังกฤษ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ได้มีการหารือกันเมื่อวันจันทร์ (6) และ “ต่างเห็นพ้องให้ใช้มาตรการตอบสนองที่เป็นหนึ่งเดียวต่อกรณีที่รัสเซียเสริมกำลังทหารประชิดชายแดนยูเครน” ตามรายงานของทำเนียบขาว

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุว่า สหรัฐฯ อาจจะพุ่งเป้าเล่นงานสถาบันการเงินหลักของรัสเซีย รวมถึงปิดกั้นศักยภาพของมอสโกในการแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลเป็นดอลลาร์หรือสกุลเงินอื่นๆ ขณะที่สื่อ CNN รายงานว่า การคว่ำบาตรอาจจะรวมไปถึงการกีดกันรัสเซียออกจากระบบโอนเงิน SWIFT ที่ธนาคารทั่วโลกใช้กันอยู่ ซึ่งถือเป็นมาตรการตอบสนองขั้นรุนแรงที่สหรัฐฯ จำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากชาติพันธมิตรด้วย

ขณะเดียวกัน วิกตอเรีย นูแลนด์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการเมือง ได้แจ้งไปยังสภาคองเกรสว่า รัฐบาลวอชิงตันได้ทำความเข้าใจกับเยอรมนีแล้วให้ระงับโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ทันที หากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน

“ถ้าประธานาธิบดีปูติน เดินหน้ารุกรานยูเครน เราคาดว่าโครงการท่อส่งก๊าซจะถูกระงับทันที” นูแลนด์ ระบุ

สหรัฐฯ เรียกร้องให้ทั้งยูเครนและรัสเซียทำตามเงื่อนไขข้อตกลงซึ่งได้ลงนามกันไว้เมื่อช่วงปี 2014-2015 เพื่อให้สงครามในยูเครนตะวันออกยุติลงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น