ไบเดนเชิญไต้หวันร่วม “ซัมมิตเพื่อประชาธิปไตย” ต้นเดือนหน้า โดยที่ทั้งไทยและสิงคโปร์ต่างถูกเมิน ทางด้านจีนและรัสเซียซึ่งก็ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีประเทศที่ได้รับเชิญเข้าประชุมเช่นเดียวกัน ออกมาแสดงปฏิกิริยาโกรธเกรี้ยว โดยปักกิ่งยัวะเรื่องที่เชิญไต้หวัน ส่วนมอสโกประณามว่าเป็นพฤติการณ์ที่มุ่งสร้างความแตกแยก
การประชุมซัมมิตเพื่อประชาธิปไตยที่สหรัฐฯเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ถือเป็นบททดสอบสำหรับการประกาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างการแถลงนโยบายการต่างประเทศครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะฟื้นสถานะผู้นำโลกของอเมริกาและต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมที่นำโดยจีนและรัสเซีย
ในรายชื่อ 110 ประเทศและดินแดนที่ได้รับเชิญจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมแบบเสมือนจริงในวันที่ 9-10 เดือนหน้า เพื่อหยุดยั้งการถดถอยของประชาธิปไตยและการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพทั่วโลกนั้น ไม่มีจีนและรัสเซียรวมอยู่ด้วย
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันแถลงว่า รัฐบาลจะส่งออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอล และเซียว บีคิม ผู้เป็นเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันในทางพฤตินัย เข้าร่วมประชุม พร้อมสำทับว่า คำเชิญนี้ถือเป็นการรับรองความพยายามของไต้หวันในการส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ตน “คัดค้านอย่างหนักแน่น” เรื่องที่สหรัฐฯเชิญไทเปเช่นนี้
“การกระทำต่างๆ ของสหรัฐฯมีแต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องปกปิดกำบังและเครื่องมือสำหรับให้สหรัฐฯผลักดันเดินหน้าไปตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน คัดค้านต่อต้านประเทศอื่นๆ แบ่งแยกโลก และสนองผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้า ลี่เจียน กล่าวในการแถลงข่าวที่ปักกิ่งวันพุธ (24)
ปักกิ่งนั้นมีความพยายามที่จะเดินหน้ากดดันประเทศต่างๆ ให้ลดระดับหรือตัดสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของตน
ส่วนความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างจีนกับสหรัฐฯในประเด็นไต้หวัน ยังปรากฏให้เห็นในการประชุมแบบเสมือนจริง ระหว่างไบเดนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เมื่อตอนต้นเดือนนี้
ในการประชุมดังกล่าว แม้ไบเดนย้ำจุดยืนยาวนานของอเมริกาในการสนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งอเมริกายอมรับปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ไต้หวัน กระนั้น ประมุขทำเนียบขาวสำทับว่า ตนคัดค้านเด็ดขาดต่อความพยายามฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนสถานะเดิมหรือบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
ด้าน สี เตือนว่า ผู้ที่เรียกร้องต้องการเป็นเอกราชในไต้หวันและผู้ให้การสนับสนุนความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่อยู่ในอเมริกากำลัง “เล่นกับไฟ”
สำหรับรัสเซียนั้น ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า จากรายชื่อแขกผู้ได้รับเชิญที่วอชิงตันเผยแพร่ออกมาคราวนี้ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ “เลือกที่จะสร้างเส้นแบ่งแยกเส้นใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อแบ่งแยกประเทศต่างๆ ออกเป็นพวก ซึ่ง –ในความเห็นของพวกเขานะครับ — เป็นพวกดี และเป็นพวกไม่ดี”
ทว่าเวลานี้ “ประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เลือกที่จะตัดสินใจด้วยตัวพวกเขาเองว่าจะอยู่กันอย่างไร” เปสคอฟ บอก พร้อมกับสำทับว่า วอชิงตัน “กำลังพยายามแปรรูปทำให้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ กลายเป็นเรื่องส่วนตัวของพวกเขา”
“นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้หรอก และไม่ควรจะทำเช่นนั้นเลย” เขาบอก
ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามว่า ซัมมิตเพื่อประชาธิปไตยของไบเดนจะสามารถผลักดันผู้นำที่ได้รับเชิญ ซึ่งบางคนถูกกล่าวหาว่า มีแนวโน้มส่งเสริมแนวโน้มลัทธิอำนาจนิยม ให้ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่
ทั้งนี้รายชื่อแขกของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาคราวนี้ สะท้อนว่า การประชุมนี้จะนำประเทศที่มีประชาธิปไตยสุกงอมอย่างฝรั่งเศสและสวีเดน ร่วมประชุมกับประเทศอย่างฟิลิปปินส์ อินเดีย และโปแลนด์ ที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม
สำหรับเอเชีย พันธมิตรบางประเทศของอเมริกา เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตลอดจนถึงอินเดียและปากีสถาน ต่างได้รับเชิญร่วมซัมมิต ขณะที่ไทย สิงคโปร์ และเวียดนามไม่ได้รับเชิญ
ประเทศสำคัญอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเชิญเช่นเดียวกันยังรวมถึงอียิปต์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอเมริกา และตุรกี เพื่อนสมาชิกของวอชิงตันในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในส่วนตัวแทนจากตะวันออกกลางที่ได้รับเชิญมีเพียงอิสราเอลและอิรักเท่านั้น
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)