“นาซา” ส่งยานอวกาศขึ้นจากแคลิฟอร์เนียในตอนดึกวันอังคาร (23 พ.ย.) เป็นการเริ่มต้นภารกิจในการพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อยให้เปลี่ยนวิถีโคจร ถือเป็นการทดสอบครั้งแรกของมนุษยชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้หินอวกาศก้อนใหญ่ยักษ์พุ่งชนโลกในอนาคต
ถึงแม้อาจฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ภารกิจ “ดาร์ต” (Double Asteroid Redirection Test หรือการทดสอบเปลี่ยนแนวโคจรของดาวเคราะห์น้อยคู่) คือการทดสอบกันจริงๆ ว่าแนวความคิดในเรื่องนี้เป็นไปได้หรือไม่ โดยยานอวกาศ “ดาร์ต” ซึ่งติดตั้งอยู่บนจรวดฟอลคอน-9 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อเวลา 22.21 น. วันอังคาร (23) ตามเวลามาตรฐานแปซิฟิก (ตรงกับ13.21 น. วันพุธ ตามเวลาไทย) จากฐานทัพกองกำลังอวกาศสหรัฐฯแวนเดนเบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองลอสแองเจลิส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ราว 240 กิโลเมตร
เป้าหมายของภารกิจนี้ได้แก่ การเปลี่ยนวิถีโคจรของดวงจันทร์ดิมอร์ฟอส (Dimorphos) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 160 เมตร และโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย “ดิดีมอส” (Didymos) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 762 เมตร และทั้งดิมอร์ฟอสและดิติมอสต่างโคจรรอบดวงอาทิตย์
การพุ่งชนจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน - ต้นเดือนตุลาคมปีหน้า เมื่อระบบดาวคู่ระบบนี้ อยู่ห่างจากโลก 11 ล้านกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นจุดเกือบใกล้โลกที่สุดในวงโคจรของมัน
โทมัส ซูเบอร์เคน หัวหน้านักวิจัยขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) กล่าวถึงโครงการนี้ที่ใช้งบประมาณ 330 ล้านดอลลาร์ว่า สิ่งที่นาซาพยายามเรียนรู้คือวิธีจัดการกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
ถึงแม้ดาวเคราะห์น้อยคู่นี้ไม่ได้มีภัยคุกคามอะไรจริงๆ ต่อโลก รวมทั้งมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์น้อยชิกซูแล็บ (Chicxulub) ที่เคยพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว และสันนิษฐานกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ แต่มันก็ยังคงถูกจัดอยู่ในประเภทวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Objects - เอ็นอีโอ) ที่เข้าใกล้ๆ โลกภายในระยะ 48 ล้านกิโลเมตร
ทั้งนี้สิ่งที่สำนักงานความร่วมมือเพื่อปกป้องดาวเคราะห์ (Planetary Defense Coordination Office) ของนาซา สนใจมากที่สุดคือ พวกดาวเคราะห์ใกล้โลกซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกิน 140 เมตร และมีแนวโน้มที่หากชนโลกแล้วจะก่อความเสียหายให้แก่เมืองทั้งเมืองหรือทั้งภูมิภาค เป็นระดับความเสียหายซึ่งมากกว่าพลังงานจากระเบิดนิวเคลียร์ทั่วไปหลายเท่า
ขณะนี้เท่าที่รับรู้กันแล้วมีดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลกและมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 140 เมตรขึ้นไปจำนวน 10,000 ดวง แต่ไม่มีดวงใดมีโอกาสสูงที่จะพุ่งชนโลกในช่วง 100 ปีข้างหน้า กระนั้น นักวิจัยคิดว่า ยังมีวัตถุอีก 15,000 ชิ้นในห้วงอวกาศที่รอการค้นพบ
ที่ผ่านมาถึงแม้พวกนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์สามารถสร้างแรงกระแทกขนาดย่อมในห้องปฏิบัติการและใช้ผลลัพธ์นั้นสร้างแบบจำลองที่ซับซ้อนเพื่อเสนอวิธีเปลี่ยนเส้นทางดาวเคราะห์น้อยได้ แต่แบบจำลองย่อมเทียบไม่ได้เลยกับการทดสอบในโลกจริง
นักวิจัยระบุว่า ระบบดาวคู่ ดิดีมอส-ดิมอร์ฟอสเป็น “ห้องปฏิบัติการธรรมชาติที่เหมาะสม” เพราะสามารถใช้กล้องโทรทรรศน์จากบนโลกตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดิดีมอสและดิมอร์ฟอส รวมทั้งจับเวลาที่ดิมอร์ฟอสโคจรรอบดิดีมอส
เนื่องจากสามารถรับรู้ระยะเวลาโคจรปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงความสว่างจึงจะทำให้รับรู้ผลจากการกระแทกซึ่งกำหนดเวลาให้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 1 ตุลาคมปีหน้า
นอกจากนั้นการที่ดาวเคราะห์น้อยคู่นี้ไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะมาชนโลก จึงถือว่า ปลอดภัยในการศึกษาทดลอง
ยานดาร์ต ที่มีขนาดพอๆ กับตู้เย็นขนาดใหญ่ พร้อมแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเท่ารถลิมูซีนติดตั้งอยู่แต่ละด้าน จะพุ่งชนดิมอร์ฟอสด้วยความเร็วเกิน 24,140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเล็กน้อย
นอกจากนั้น ยานดาร์ตยังมีอุปกรณ์ซับซ้อนสำหรับการนำทางและถ่ายภาพ เช่น ดาวเทียมทรงลูกบาศก์สำหรับการถ่ายภาพดาวเคราะห์น้อย “ไลต์ อิตาเลียน คิวบ์แซต” ของสำนักงานอวกาศอิตาลี เพื่อเฝ้าดูการชนและผลกระทบหลังจากนั้น
(ที่มา: รอยเตอร์,
เอเอฟพี, เอพี)