xs
xsm
sm
md
lg

นาซาจะทดลองส่งยานอวกาศพุ่งกระแทกดาวเคราะห์น้อย เตรียมพร้อมรับมือ 'อุกกาบาต' ชนโลก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) กำลังเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้าย เพื่อให้พร้อมปล่อยยานอวกาศลำหนึ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยมีจุดหมายปลายทางคือตั้งใจพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งด้วยความเร็วสูง ขณะที่การพุ่งชนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจปกป้องโลกของนาซา

นาซา กำลังส่งยานอวกาศลำหนึ่งขึ้นไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งด่วยความเร็วสูง ในความพยายามเปลี่ยนเส้นทางมัน เป้าหมายเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ที่จะปกป้องโลกให้พ้นจากหินอวกาศอันตรายที่พุ่งเข้าหาในอนาคต

ปฏิบัติการที่ใช้ชื่อว่า Double Asteroid Redirection Test (DART) ซึ่งใช้งบประมาณสูงถึง 330 ล้านดอลลาร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Planetary Defense (โครงการป้องกันโลกจากภัยพิบัติอวกาศ) และในขณะที่การเบี่ยงเส้นทางหินอวกาศคุกคามโลกดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียว เวลานี้ยานสำรวจอวกาศของจริงจะถูกส่งออกไปห่างจากโลก 6.8 ล้านไมล์ (ประมาณ 11 ล้านกิโลเมตร) เพื่อพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง

ลินด์ลีย์ จอห์นสัน เจ้าหน้าที่โครงการป้องกันโลกจากภัยพิบัติอวกาศของนาซาบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงสรุปทางออนไลน์เมื่อวันพฤหัสบดี (4 พ.ย.) ว่า การตรวจจับหินอวกาศที่กำลังเป็นภัยคุกคาม คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกของเราปลอดภัย "เราไม่ต้องการอยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่โลกแล้วถึงค่อยทดสอบศักยภาพของปฏิบัติการนี้"

เพื่อพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยออกนอกเส้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ บรรดาวิศวกรดำเนินการสร้างยานอวกาศมานานกว่า 1 ทศวรรษ และมันมีกำหนดถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดฟัลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ จากฐานยิงในแคลิฟอร์เนีย วันที่ 23 พฤศจิกายน ซึ่งคาดหมายว่ามันจะพุ่งไปถึงดาวเคราะห์น้อยที่เป็นเป้าหมายในช่วงปลายเดือนกันยายนปีหน้า

ยานอวกาศจะบินไปด้วยความเร็ว 24,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากเป็นไปตามแผนของ DART มันจะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยดีมอร์ฟอส (Dimorphos) อายุ 4,500 ล้านปี และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เมตร ที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส (Didymos)

พวกนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ยานอากาศของ DART จะเหลือน้ำหนักประมาณ 550 กิโลกรัมในช่วงที่พุ่งชน การพุ่งชนจะไม่ทำลายอุกกาบาต แต่ไปกระทุ้งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเบี่ยงเส้นทางของมัน

นาซามีแผนติดตามความเคลื่อนไหวหลังการกระแทกและผลกระทบหลังจากนั้น โดยใช้กล้องโทรทรรศน์บนภาคพื้น และผ่านดาวเทียมที่ติดตั้งกล้องขนาดเล็ก ซึ่งจะดีดตัวออกจากยานอวกาศก่อนพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย จากนั้นพวกนักวิทยาศาสตร์จะสามารถทราบได้ว่าการเปลี่ยนเส้นทางมีความเป็นไปได้หรือไม่ และจำเป็นต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการป้องกันในกรณีที่เกิดหายนะของจริง

ปัจจุบันมีดาวเคราะห์น้อยอยู่ใกล้โลกราวๆ 25,000 ดวง และคาดหมายว่ามีหลายดวงที่ขนาดใหญ่มากพอที่จะก่อหายนะในระดับภูมิภาคหากมันพุ่งชนโลกของเรา ส่วนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กราวๆ 1 เมตร เล็ดลอดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในทุกๆ สัปดาห์

(ที่มา : รัสเซียทูเดย์)


กำลังโหลดความคิดเห็น